ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ (21 มี.ค.2566) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ในรายการ "คมชัดลึก" ทางเนชั่นทีวี โดยระบุถึงกรณีการประกาศไม่ลงสมัคร ส.ส.บัญชี และไม่เป็นแคนดิเดตนายกฯ ของ พรรคประชาธิปัตย์ โดยระบุว่า จริง ๆ แล้วไม่มีเรื่องซับซ้อน หากพิจารณาจากสภาวะแวดล้อม ซึ่งตนเองเป็นทั้ง อดีต ส.ส.และ ลาออกจาก หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว หลังไม่สามารถนำพาพรรคไปสู่เป้าหมายได้
จากนั้น ยังได้ลาออกจากตำแหน่ง ส.ส.หลังจากที่ พรรคประชาธิปัตย์ตัดสินใจไปร่วมงานกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งก่อนหน้านี้ตนเองไปหาเสียงในการเลือกตั้งปี 62 โดยพูดกับประชาชนว่า จะไม่ร่วมงานกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ดังนั้นจึงต้องแสดงความรับผิดชอบและรักษาคำพูด
จากวันนั้นมาถึงวันนี้เป็นเวลาเกือบ 4 ปี เมื่อจะมีการเลือกตั้ง รวมถึงนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า อยากจะเชิญอดีตหัวหน้าพรรค และบุคลากรมาลงสมัครรับเลือกตั้ง จากนั้นได้มาพบตนเอง ซึ่งได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน รวมถึงได้พูดคุยกับนายชวน หลีกภัย อดีตหัวหน้าพรรค และนายบัญญัติ บรรทัดฐาน อดีตหัวหน้าพรรค มานั่งคุยกันว่า อะไรจะดีที่สุด
ผมก็บอกหัวหน้าพรรคไปว่า สังคมทราบดีว่า แนวคิดของผมในหลาย ๆ เรื่อง ในระยะหลังไม่สอดคล้องกับการดำเนินงานของพรรคมากนัก ตั้งแต่การเข้าไปร่วมกับรัฐบาล (กับ พล.อ.ประยุทธ์) ถ้าผมลงสมัครรับเลือกตั้ง ก็จะทำให้เกิดความสับสนได้ และเกิดความไม่เป็นเอกภาพมากขึ้น ซึ่งผมเห็นว่า ไม่น่าจะเป็นผลดีกับพรรค เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะก็เป็นศึกหนักของหลายพรรค รวมถึงพรรคประชาธิปัตย์ด้วย
ดังนั้น หากพรรคเข้าสู่สนามเลือกตั้ง และมีความสับสนหรือไม่มีเอกภาพก็ถือว่าไม่เป็นผลดี ซึ่งเมื่อพิจารณาสิ่งที่เหมาะสมลงตัวที่สุดคือ ตนเองไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส่วนการจะไปช่วยหาเสียงก็เป็นไปตามความต้องการของผู้สมัครแต่ละคน ที่คิดว่าจะช่วยได้หรือไม่ หรือช่วยโดยที่ไม่กระทบกับการทำงานของพรรค
หัวหน้าพรรคกับผมก็เห็นตรงกันว่า ทุกคนจะช่วยหาเสียง แต่อดีตหัวหน้าอีก 2 ท่าน ก็คงจะลงสมัครรับเลือกตั้งต่อไป
นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวว่า ผมอาจไม่ได้เสนอ (ว่าจะไม่ลงสมัคร ส.ส.) แต่เป็นการตัดสินใจร่วมกัน ซึ่งตนเองได้พูดตั้งแต่ตนว่า ไม่ประสงค์จะขัดแย้งกับพรรค เพราะฉะนั้นข้อยุติอะไรก็ตามก็อยากให้เป็นข้อสรุปที่ตรงกัน ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนกัน
อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยังกล่าวว่า หากถามว่าอยากเป็น ส.ส.มั้ย ตลอดชีวิตการทำงานของตนเองคือการเป็น ส.ส.หากลงในบัญชีรายชื่อ ก็เชื่อว่าจะอยู่ในอันดับที่จะได้เป็น ส.ส.เพราะฉะนั้น ถ้าคิดแค่ว่า อยากเป็น ส.ส.ก็ไม่มีปัญหาอะไร ตนเองสามารถตอบได้ แต่ตนเองมีหน้าที่คิดถึงองค์กร คิดถึงภาพรวมของพรรค
ถึงแม้ว่าผิวเผินว่า ถ้ามีชื่อผมจะดูว่า ทุกอย่างดูเรียบร้อยดี แต่ข้อเท็จจริง คือ จะมีคำถามจากสังคม เพราะสังคมรับรู้ รับทราบแนวคิดทางการเมืองผมมาตลอด 4 ปี ซึ่งก็ไม่ได้เปลี่ยน ดังนั้นสิ่งที่ผมทำได้ดีที่สุดในฐานะสมาชิกพรรค คือ สนับสนุนเท่าที่ผมทำได้ แต่การที่เอาผมไปวางในฐานะผู้สมัครน่าจะเป็นปัญหาในเชิงเอกภาพ ประชาชนเริ่มสับสนแล้วว่า พรรคประชาธิปัตย์ คือ อะไร เดี๋ยวเลือกมาอย่างหนึ่งแล้วได้อีกอย่างหนึ่ง
ดังนั้น นี่คือความลงตัวที่เหมาะสมสำหรับผมและพรรค และหากมาไล่เรียงเรื่องเหล่านี้ ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ยากเกินกว่าจะเข้าใจได้ และถ้าเมื่อวันที่ (20 มี.ค.) เราตัดสินใจร่วมกันว่าจะให้ตนเองลงสมัคร วันนี้ก็จะมีคำถามตามมาอย่างมาก ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันเลือกตั้ง หรือไปจนถึงหลังการเลือกตั้ง ซึ่งไม่น่าจะเป็นผลดีต่อพรรค เพราะฉะนั้นผมทำงานผมยึดองค์เป็นหลัก