ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เกษตรกรยิ้มได้ มันสำปะหลังราคาดี ส่งออก 170,000 ล้านบาท

เศรษฐกิจ
22 มี.ค. 66
18:57
7,576
Logo Thai PBS
เกษตรกรยิ้มได้ มันสำปะหลังราคาดี ส่งออก 170,000 ล้านบาท
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ราคามันสำปะหลังที่ปรับสูงขึ้นไม่ได้เป็นเพียงข่าวดีของเกษตรกร แต่สะท้อนเศรษฐกิจภาคการเกษตร คาดว่ามีมูลค่าส่งออกสูงถึง 170,000 ล้านบาท แต่ยังต้องจับตาว่าแนวโน้มราคาในปีการผลิต 66-67 อาจปรับลดลง เกษตรกรต้องเตรียมรับมือปัญหาต้นทุนการผลิตรวมทั้งโรคและศัตรูพืช

มันสำปะหลังราคาดีชาวไร่หันปลูกแทนอ้อย

 

ปีนี้มันสำปะหลังราคาดีมาก หัวมันสดขายได้กิโลกรัมละ 3 บาท 60 สตางค์ ปลูก 10 ไร่ ได้จับเงินแสนครั้งแรกเลย หักค่าแรงและต้นทุนการผลิต ก็เหลือเงินใช้ มีเงินไปใช้หนี้ ธกส. แน่นอน ปีนี้ 

 

เป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี ที่ บุญจันทร์ เหล่าแสง เกษตรกรตำบลนาเชือก อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ยิ้มได้ และมั่นใจว่าการขายหัวมันสำปะหลังปีนี้มีกำไร มีเงินใช้หนี้ ธกส. มีเงินใช้จ่ายในครอบครัว และยังเหลือไว้ลงทุนปลูกมันต่ออย่างแน่นอน

ที่ดิน 10 ไร่ของเขาแปลงนี้ เคยปลูกอ้อยมาก่อน มีปัญหาต้นทุนการผลิตสูงประมาณไร่ละ 5 พัน- 8 พันบาท ต่อมาในช่วงปี 2561 ที่ราคามันเริ่มปรับเพิ่มขึ้น เขาและเพื่อนบ้านเลยหันมาปลูกมันแทนอ้อย ต้นทุนเฉลี่ยก็ประมาณไร่ละ 2 พัน- 3 พันบาท

แต่แม้จะขายได้ราคาดี แต่เกษตรกรก็ให้ข้อมูลว่า มีลานรับซื้อมันสำปะหลังบางแห่งที่กดราคารับซื้อหัวมัน แม้จะขึ้นป้ายรับซื้อราคาสูง แต่หากเกษตรกรขนมาขายจำนวนมากๆ พร้อมกัน ก็ปรับราคาลดลงแบบไม่มีเหตุผล พวกเขาจึงอยากให้มีการควบคุม

 

ผู้สูงอายุรวมกลุ่มเก็บเศษหัวมันขายสร้างรายได้

กลุ่มผู้สูงอายุในหมู่บ้านหนองกาว ต.นาเชือก อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ เกือบ 20 คน จะใช้เวลาว่างจากการดูแลลูกหลาน รวมกลุ่มเก็บเศษหัวมันขาย โดยใช้รถจักรยานยนต์พ่วงข้าง หรือซาเล้งเป็นพาหนะสำคัญ

แม้จะอายุมากถึง 74 ปี แต่คุณยายติง ภัคดีแพง ยังออกมาขุดหาหัวมันสำปะหลัง และเศษหัวมันที่เหลือ หลังจากเจ้าของไร่ว่าจ้างรถไถมาไถ ก่อนจ้างให้คนมาเก็บเพื่อนำไปขาย คุณยายบอกว่า มีไร่มันแค่ 10 ไร่ จึงมีรายได้ไม่มาก และยังพอมีเรี่ยวแรงดีอยู่ เลยออกทำเก็บหัวมัน โดยก่อนเก็บก็จะขออนุญาตเจ้าของไร่ก่อน

หัวมันที่เก็บมาได้จะเอามาสับเป็นชิ้นๆ บางครอบครัวก็ไปเช่าเครื่องสับหัวมันจากหน่วยงานรัฐที่เข้ามาส่งเสริม เพื่อช่วยผ่อนแรง เพราะส่วนใหญ่ก็มีอายุไม่ต่ำกว่า 70 ปีแล้ว 

มันที่ตัดหรือสับก็เอาไปตาก 4-5 วัน คอยพลิกกลับด้าน เมื่อแห้งดีแล้ว จะเรียกว่ามันเส้น เก็บใส่กระสอบปุ๋ยยูเรีย 1 กระสอบน้ำหนักกว่า 30 กิโลกรัม เพื่อเตรียมเอาไปขายที่ลานรับซื้อมันสำปะหลัง ซึ่งรับซื้อในราคากิโลกรัมละ 7 บาท 30 สตางค์ ไปจนถึง 8 บาท ขึ้นอยู่กับค่าแป้งที่วัดได้ ถือเป็นราคาที่สูงมาก ชาวบ้านบอกว่าปลูกมันมาเกือบ 20 ปี ปีนี้ราคาดีที่สุด และอยากได้ราคาดีๆแบบนี้ไปนานๆ แต่ละครอบครัวมีรายได้ ตั้งแต่ 6,000 – 10,000 ต่อเดือน ถือเป็นอาชีพเสริมในช่วงฤดูกาลขุดหัวมันสำปะหลัง ช่วงเดือนธันวาคม-เดือนเมษายน 

 

ไทยผลิตมันสำปะหลังได้มากเป็นอันดับ 3 ของโลก

ข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ระบุว่า มันสำปะหลัง เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร มีราคาในอยู่ในเกณฑ์ดี และปรับสูงขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน เพราะทั่วโลกมีความต้องการแปรรูปเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อาหาร เครื่องดื่ม อาหารสัตว์ และ เอทานอล


ปี 2563 โลกมีผลผลิตมันสำปะหลังกว่า 300 ล้านตัน ประเทศผู้ผลิตมันสำปะหลังที่สำคัญ 5 อันดับแรกคือ ไนจีเรีย มีผลผลิตคิดเป็นร้อยละ 19.82 รองลงมาคือ คองโก ร้อยละ 13.55 ไทย เป็นอันดับ 3 ร้อยละ 9.58 กานา ร้อยละ 7.21 และอินโดนีเซีย ร้อยละ 6.05

ปี 2565 คาดการณ์ว่ามูลค่าการส่งออกสูงถึง 1 แสน 7 หมื่นล้านบาท และปี 2566 ก็คาดว่าปริมาณการส่งออกจะเพิ่มขึ้นอีก เพราะประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้ามันสำปะหลังที่สำคัญของไทย ยังมีความต้องการ อีกทั้งผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนทำให้มีแนวโน้มว่าต่างประเทศจะนำเข้ามันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบทำอาหารสัตว์เพิ่มมากขึ้น

ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ยังระบุว่า ปี 2566 คาดว่ามีพื้นที่เก็บเกี่ยว 10 ล้านไร่เศษ ผลผลิต 34 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ทีมีเนื้อที่เก็บเกี่ยว 9 ล้าน 9 แสนไร่ ผลผลิต 34 ล้านตัน และราคาขายที่อยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจให้เกษตรขยายพื้นที่ปลูกจากอ้อยโรงงานและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อย่างต่อเนื่อง เพราะใช้ต้นทุนการผลิตสูงกว่าการปลูกมันสำปะหลัง


ทีมข่าวจับตารอบทิศ สอบถามข้อมูลจากเครือข่ายผู้ปลูกมันสำปะหลัง และนักวิชาการด้านการเกษตร ชี้ให้เห็นว่า สาเหตุอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ราคามันสำปะหลังปรับสูงขึ้น เพราะผลผลิตเสียหายเนื่องจากฝนที่ตกหนักช่วงปลายปี 2565 และเสียหายจากโรคและศัตรูพืช ราคามันช่วงต้นปี 2566 จึงปรับสูงขึ้นทำให้เกษตรกรขายได้กำไร แต่อีกส่วนหนึ่งก็แทบไม่มีมันขาย

คาดการณ์ว่าปลายปี 2566 ถึงต้นปี 2567 มีแนวโน้มที่ผลผลิตจะออกสู่ตลาดพร้อมกันจำนวนมาก ราคาอาจปรับลดลง เพราะต้องดูความต้องการของตลาดต่างประเทศที่อาจเปลี่ยนแปลง หันกลับไปใช้ข้าวโพดแทนมันสำปะหลังในการผลิตอาหารสัตว์และเอทานอล


สิ่งสำคัญคือ เมื่อราคาเป็นไปตามกลไกของตลาดโลก เกษตรกรจึงต้องปรับตัว เรียนรู้การบำรุงรักษาดิน วิธีลดต้นทุนการผลิต
เน้นเก็บหัวมันครบอายุ มีค่าแป้งสูง หรือปลูกมันคุณภาพ เร่งจัดการควบคุมโรคระบาด ทั้งโรคใบด่าง และศัตรูพืช เช่นเพลี้ย และ ไรแดง ไม่ให้ระบาดในพื้นที่วงกว้าง ที่ทำให้ต้องเพิ่มต้นทุนในการใช้สารเคมีเพื่อกำจัด และทำให้ผลผลิตเสียหาย

 

 

ไทยนำเข้ามันสำปะหลังจากประเทศเพื่อนบ้านเพิ่ม เพื่อแปรรูปส่งออก

นอกจากเป็นประเทศผู้ผลิตมันสำปะหลังอันดับ 3 ของโลกแล้ว ประเทศไทยยังเป็นประเทศผู้นำเข้ามันสำปะหลังเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากประเทศจีน ไทยมีโรงงานแป้งมันสำปะหลังกว่า 1,200 โรงงาน และช่วงนี้ตามแนวชายแดนก็เริ่มมีการขนมันจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามา เพื่อแปรรูปเตรียมส่งออกอย่างต่อเนื่อง


รถบรรทุกพวงของผู้ประกอบการแปรรูปมันสำปะหลัง ทยอยเข้ามาจอดต่อแถว เพื่อรอคิวลงแพขนานยนต์ ที่บริเวณด่านศุลกากรบึงกาฬ บ้านพันลำ ตำบลวิศิษฐ์ อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ

เป็นการตีรถเปล่าข้ามไปบรรทุกมันสับปะหลัง ตากแห้ง หรือมันเส้น จากประเทศลาว เพื่อส่งเข้าโรงงานในพื้นที่จังหวัดอยุทธยา โดยข้อมูลการนำเข้าสินค้าผ่านด่านศุลกากรบึงกาฬ เฉพาะมันเส้น ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565 ถึง เดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีมูลค้าการนำเข้ามันเส้น รวมกว่า 570 ล้านบาท และเพิ่มมากขึ้นชัดเจน ในเดือนมกราคมมูลค่ากว่า 225 ล้านบาท เดือนกุมภาพันธ์เพิ่มเป็น 282 ล้านบาท


ข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ระบุว่า ปี 2561 - 2565 ประเทศไทยนำเข้าหัวมันสำปะหลัง มันเส้น มันอัดเม็ด มันฝาน และแป้งมันสำปะหลัง เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากลาว และกัมพูชา ปี 2561 นำเข้ากว่า 2 ล้านตัน มูลค่ากว่า 9,500 ล้านบาท เพิ่มเป็นปริมาณ 4 ล้านตัน มููลค่ากว่า 1 หมื่น 9 พันล้านบาท ในปี 2565

เนื่องจากผลผลิตภายในประเทศไม่เพียงพอสำหรับแปรรูป เพื่อส่งออก ประกอบกับประเทศจีนมีความต้องการมันเส้นเป็นจำนวนมาก

ปี 2566 คาดว่าปริมาณการนำเข้าจะใกล้เคียงกับปี 2565 โดยไทยมีโรงงานแปรรูปมันสำปะหลัง 1,205 แห่ง จังหวัดนครราชสีมามีมากที่สุดคือ 162 แห่ง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง