ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

DSI ส่งสำนวนคดี 34 พนง.ท่าเรือโกงโอที 10 ปี

อาชญากรรม
29 มี.ค. 66
18:36
773
Logo Thai PBS
DSI ส่งสำนวนคดี 34 พนง.ท่าเรือโกงโอที 10 ปี
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมสอบสวนคดีพิเศษ ส่งสำนวนคดี 34 พนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย ทุจริตเบิกจ่ายค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด มีทั้งผู้บริหาร-พนักงาน โดยส่งสำนวนให้พนักงานอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ

วันนี้ (29 มี.ค.2566) ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ ผอ.กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ และหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ส่งสำนวนการสอบสวนคดีพิเศษที่ 37/2561 ให้กับพนักงานอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ 

พร้อมความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหารวม 34 คน และเห็นควรสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา 3 คน เนื่องจากเสียชีวิตแล้ว รวมเอกสาร 72 แฟ้ม 33,377 แผ่น คดีนี้ คณะกรรมการคดีพิเศษ มีมติในการประชุมครั้งที่ 6/2556 เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.2556 ให้รับเป็นคดีพิเศษ

ต่อมาการท่าเรือแห่งประเทศไทยได้มอบอำนาจให้ นายโกมล ศรีบางพลีน้อย ผู้กล่าวหา ร้องทุกข์ดำเนินคดีกับนายจงเด่น บุตรสุทธิวงศ์ กับพวก และพนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทยคนอื่นๆ รวมทั้งบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง ที่ทุจริตเบิกจ่ายค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดเพิ่มเติม ในห้วงเวลา พ.ศ. 2545–พ.ศ. 2555 จนกว่าคดีจะถึงที่สุด

โดยดีเอสไอ สอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน เชื่อว่ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ จึงส่งสำนวนการสอบสวนให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมาย

ต่อมาเมื่อวันที่ 17 ต.ค.2560 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ส่งเรื่องให้ดีเอสไอ ดำเนินการตามมาตรา 89/2 แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 

จากการสืบสวนสอบสวนคดีนี้ มีพยานหลักฐานเชื่อว่า มีผู้บริหารและพนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทยรวม 36 คน และทนายความ 1 คน รวม 37 คน ร่วมกันกระทำการทุจริตการเบิกจ่ายเงินค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด

โดยร่วมกันจัดทำเอกสารใบเบิกเงิน เพื่อใช้เบิกเงินดังกล่าว ทั้งที่ไม่ได้ทำงานจริง และใช้เอกสารดังกล่าวเป็นหลักฐานในการฟ้องการท่าเรือแห่งประเทศไทย ต่อศาลแรงงานกลาง เพื่อเรียกร้องค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดเพิ่มเติมในห้วงเวลา พ.ศ.2545–2555 ทั้งที่ไม่ได้ทำงานจริง

ซึ่งพฤติการณ์ร่วมกันกระทำการดังกล่าว เข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดฐาน “เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสารรับเอกสารหรือกรอกข้อความลงในเอกสารอันเป็นเท็จ เป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เบิกความอันเป็นเท็จ และนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ”

ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157,162 ประกอบมาตรา 91 มาตรา 177 วรรคแรก มาตรา 180 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83, 84 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172

นอกจากนี้ เพื่อประโยชน์ในการปราบปรามการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษ และเพื่อการอำนวยความยุติธรรม ดีเอสไอ อาศัยอำนาจตาม มาตรา 22/1 แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มอบให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยให้ความช่วยเหลือ สนับสนุนในการปราบปรามการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษ

โดยให้ตรวจสอบบุคคลที่มีพฤติการณ์การกระทำในลักษณะเช่นเดียวกันเพิ่มเติม หากการท่าเรือแห่งประเทศไทย พบการกระทำความผิดในลักษณะนี้ในส่วนอื่นให้ดำเนินการจัดทำรายละเอียด พร้อมเอกสารหลักฐานประกอบการกระทำความผิดส่งให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อดำเนินคดีเพิ่มเติมตามกฎหมาย 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง