ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รู้จัก "คอร์ดิเซป" เห็ดราผู้ควบคุมสมองแมลง และผู้รักษาสมดุลของธรรมชาติ

Logo Thai PBS
รู้จัก "คอร์ดิเซป" เห็ดราผู้ควบคุมสมองแมลง และผู้รักษาสมดุลของธรรมชาติ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ทำความรู้จักกับ “คอร์ดิเซป” เห็ดราสกุลหนึ่งที่มีทักษะควบคุมสมองของแมลงดั่งใจนึก คล้ายกับผีดิบจากนิยายวิทยาศาสตร์ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์คาดว่าเห็ดราชนิดนี้ยังมีส่วนช่วยรักษาสมดุลของประชากรแมลงในธรรมชาติด้วย

ท่ามกลางป่าดงดิบสีเขียวขจีที่กระจายไปทั่วเส้นศูนย์สูตรของโลกนี้ มีเห็ดราสกุลหนึ่งที่ชื่อว่า “คอร์ดิเซป” (Cordyceps) ได้พัฒนาอาวุธชีวภาพขั้นร้ายแรงที่สามารถทำให้แมลงและสัตว์ขาปล้องต่าง ๆ ติดเชื้อจากเห็ดรากลุ่มนี้ได้ หลังจากนั้นเมื่อถึงจุดหนึ่งคอร์ดิเซปก็จะเริ่มเข้าไปควบคุมระบบประสาทของแมลงให้เดินไปไหนมาไหนได้ตามใจนึก คล้ายกับผีดิบอย่างไรอย่างนั้น

โดยกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกให้ความสนใจกับคอร์ดิเซปมาอย่างยาวนาน เนื่องจากว่าไม่มีเห็ดราสกุลไหนมีความสามารถในการโจมตีและควบคุมร่างกายและจิตของเหยื่อได้เท่ากับเห็ดราสกุลคอร์ดิเซป ซึ่งปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบว่าเห็ดราสกุลคอร์ดิเซปอยู่มากกว่า 400 สปีชีส์ทั่วโลก

แต่อย่างไรก็ดีมนุษย์นั้นไม่สามารถติดเชื้อจากคอร์น่าหลงใหลเซปได้เนื่องจากอุณหภูมิของร่างกายมนุษย์ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมนั้นสูงเกินกว่าที่เห็ดราจะเจริญเติบโตได้ เว้นแต่ภายหลังที่มีการค้นพบว่าคอร์ดิเซปประเภท Ophiocordyceps sinensis หรือ ถั่งเช่า ซึ่งเกิดจากการที่เห็ดราบุกรุกเข้ากัดกินตัวอ่อนของผีเสื้อนั้น เป็นสายพันธุ์หนึ่งที่คนจีนมักนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรกลับมีสารหนูปนเปื้อนอยู่ ทำให้ต้องจำกัดปริมาณการบริโภคเห็ดราชนิดนี้อย่างเหมาะสม

ความสัมพันธ์ที่น่าขนลุก ระหว่างคอร์ดิเซปและแมลง

ตามปกติแล้วเห็ดราอย่างคอร์ดิเซป และสายพันธุ์อื่น ๆ ที่มนุษย์คุ้นเคยกันดีนั้น ไม่ใช่ร่างกายของเห็ดราทั้งหมด แต่เป็นเพียงแค่อวัยวะสืบพันธุ์ หรือ ส่วนที่ปล่อยสปอร์ออกมาเท่านั้น ในขณะที่แท้จริงแล้วเห็ดรานั้นมีลักษณะเป็นเส้นใยสีขาว ๆ จาง ๆ เหมือนรากไม้ที่มักกระจายตัวอยู่ใต้ดินเพื่อย่อยสลายซากพืชซากสัตว์ต่าง ๆ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เรียกโครงสร้างนี้ว่า ไมซีเลียม (mycelium)

แต่ทว่าไมซีเลียมของคอร์ดิเซปกน่าหลงใหลเติบโตได้ดีในแมลงและสัตว์ขาปล้อง ไม่ได้อาศัยอยู่ใต้ดินเหมือนกับเห็ดราประเภทอื่น ๆ ยกตัวอย่างเช่น คอร์ดิเซป สายพันธุ์หนึ่งที่มีชื่อว่า Ophiocordyceps unilateralis นั้น มีวงจรชีวิตเริ่มจากสปอร์ที่อยู่ในอากาศ ก่อนจะที่ลอยเข้าไปเกาะติดบนร่างกายของมดได้ด้วยความบังเอิญจากการพัดพาของลม หรือละอองน้ำในอากาศ

หลังจากนั้นสปอร์ก็จะเริ่มสร้างโครงสร้างคล้ายกับหลอดเจาะฝ่าชั้นเปลือกด้านนอก (Exoskeleton) ของมดไปยังเนื้อเยื่อด้านใน เมื่อสำเร็จแล้ว ไมซีเลียม ก็จะเจริญเติบโตอยู่แทนที่เนื้อเยื่อของมดอย่างช้า ๆ และเริ่มควบคุมระบบประสาททั่วร่างกาย

เมื่อระบบประสาทของมดตกอยู่ภายใต้การควบคุมของคอร์น่าหลงใหลเซปเรียบร้อยร้อย เห็ดรานี้ก็จะสั่งบังคับมดผู้โชคร้ายให้ไต่ขึ้นต้นไม้สู่ตำแหน่งที่เหมาะสม ในบริเวณที่มีลมพัดโชยได้ดี ทันใดนั้นร่างกายของแมลงก็จะมีเห็ดงอกออกมาจากบริเวณส่วนหัว เพื่อทำหน้าที่ในการปล่อยสปอร์ต่อไปยังมดตัวอื่น เป็นอันสิ้นสุดวงจรชีวิตของคอร์ดิเซป ซึ่งคอร์ดิเซปสายพันธุ์อื่น ๆ ก็จะมีเหยื่อที่แตกต่างกันไป เช่น แมงมุม และ จักจั่น

บทบาทสำคัญของคอร์ดิเซปในระบบนิเวศ

เป็นเรื่องปกติที่สิ่งมีชีวิตล้วนแล้วแต่เป็นหนึ่งในห่วงโซ่อาหารที่ช่วยรักษาสมดุลของระบบนิเวศเอาไว้ไม่ให้ล่มสลาย ซึ่งรวมไปถึงเห็ดราสกุล คอร์ดิเซปเองก็เช่นกัน แม้จะไม่ได้มีบทบาทที่สำคัญและชัดเจนมากนัก เหมือนกับผู้สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ อย่างเช่น ต้นไม้ที่ผลิตออกซิเจนให้แก่สัตว์บนโลก

มีงานวิจัยออกมายืนยันว่า พื้นที่บริเวณที่คอร์ดิเซปสามารถเจริญเติบโตได้นั้นล้วนมีความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณอยู่มาก เนื่องจากผืนดินมีคุณค่าทางสารอาหารที่เพิ่มมากขึ้น จากการที่คอร์ดิเซปควบคุมประชากรของแมลงที่มักกัดกินพืชต่าง ๆ ให้อยู่ในจำนวนที่เหมาะสม ไม่มากจนเกินไป

นอกจากนี้ ถึงแม้ว่าเห็ดราคอร์ดิเซปจะขึ้นชื่อเรื่องการเป็นปรสิตควบคุมสมองแมลงตามสื่อต่าง ๆ แต่แท้จริงแล้วเห็ดราคอร์ดิเซปบางสายพันธุ์ เช่น Ophiocordyceps dipterigena กลับมีความสัมพันธ์ต่อพืชแบบพึ่งพาอาศัยและไม่เป็นอันตรายต่อกัน ซึ่งเห็ดราสกุลคอร์ดิเซปนี้สามารถเจริญเติบโตอยู่ในพืชทั้งที่ยังมีชีวิต ขณะที่ไม่ทำให้พืชมีอาการติดเชื้อเหมือนกับแมลงแต่อย่างใด อีกทั้งยังช่วยให้พืชมีความต้านทานต่อเชื้อโรคและช่วยให้พืชนั้นดูดซึมสารอาหารได้ดีขึ้น

"คอร์ดิเซป" สู่แรงบันดาลใจของเกม และซีรีส์สยองขวัญชื่อดัง

วัฏจักรชีวิตของคอร์ดิเซปที่น่าหลงใหลและน่าสยองขวัญในเวลาเดียวกันนี้ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้สร้างและพัฒนาเกมกลุ่มหนึ่งจากสหรัฐอเมริกา จนกลายมาเป็นเกม Action กึ่งสยองขวัญอย่าง "The Last of Us" ซึ่งเล่าเรื่องเกี่ยวกับชีวิตของมนุษย์หลังจากหายนะ คอร์ดิเซปได้วิวัฒนาการขึ้นมาควบคุมสมองของมนุษย์ ก่อนที่ต่อมาเกมนี้จะถูกดัดแปลงมาเป็นซีรีส์ภายใต้ชื่อเดียวกัน ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในหลายประเทศทั่วโลกในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม Bryn Dentinger อาจารย์ประจำวิชาชีววิทยาของมหาวิทยาลัยยูทาห์ (University of Utah) ได้บอกเอาไว้ว่าเห็ดราสกุลนี้ไม่สามารถติดต่อสู่มนุษย์ได้เหมือนกับในเกม เนื่องจากโดยปกติแล้วไมซีเลียมของเห็ดรานั้นไม่สามารถเติบโตได้ในร่างกายของสัตว์เลือดอุ่น ที่มีอุณหภูมิร่างกายค่อนข้างสูงได้ ยกเว้นแต่เพียงบางสายพันธุ์เท่านั้น

ซึ่งนับเป็นโชคดีของมนุษย์ที่ว่าหนึ่งในสายพันธุ์นั้นก็กลับไม่มีสกุลคอร์ดิเซปที่ชอบควบคุมสมองของสิ่งมีชีวิตอยู่ ดังนั้นในปัจจุบันมนุษย์จึงแทบไม่มีความเสี่ยงเท่าใดนัก แต่อย่างไรก็ตามอนาคตนั้นไม่มีอะไรแน่นอน สุดท้ายแล้วคอร์ดิเซปก็อาจจะสามารถพัฒนาสายพันธุ์ให้สามารถควบคุมสิ่งมีชีวิตกลุ่มอื่นนอกจากแมลง และสัตว์ขาปล้องได้เช่นกัน

ที่มาข้อมูล: inaturalist
ที่มาภาพ: David Hughes / Penn State
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง