วันนี้ (6 เม.ย.2566) นายนฤพนธ์ ทิพย์มณฑา ผอ.สำนักป้องกันปราบปราม และควบคุมไฟป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า ปีนี้สถานการณ์ไฟป่ารุนแรงกว่า 2-3 ปีก่อน เนื่องจากแห้งแล้งไม่มีฝนต่อเนื่องเหมือนกับปีที่แล้วที่ฝนตกต่อเนื่อง มีหญ้าสูงทำให้ยากต่อการทำแนวกันไฟ เชื้อเพลิงสะสมมาก เมื่อเกิดไฟป่าจึงปะทุแรง
จากการรวบรวมสถิติไฟป่าปี 2566 ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2566-5 เม.ย.นี้ พบจุดความร้อนในป่าอนุรักษ์ 55,338 จุด จากทุกพื้นที่ทั่วประเทศ 133,693 จุด มีพื้นที่ป่าอนุรักษ์เสียหาย 4.7 ล้านไร่ ส่วนจังหวัดที่เกิดไฟป่ามากสุด จ.กาญจนบุรี จุดความร้อน 8,338 จุดพื้นที่เสียหายไมต่ำกว่า 500,000 ไร่
ภาพรวมถ้าเทียบกับหลายปีก่อน ยังน้อยกว่าที่เคยมีจุดความร้อนในป่าอนุรักษ์เกิน 100,000 จุด แต่ตอนนี้คิดเป็น 55% ของ 2-3 ปีก่อน แต่มีพื้นที่เสียหาย 4.7 ล้านไร่ ซึ่งถือว่ามาก
เคาะประตูบ้าน-ใช้แผนที่จับจุดเสี่ยง
นายนฤพนธ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ยังเหลือฤดูไฟป่าอีก 1 เดือนของเม.ย.นี้ และยังคงพบปัญหาไฟป่าในพื้นที่ใหม่ ๆ เช่น จ.นครนายก และพื้นที่ล่าสุดเช่น ดอยวาวี จ.เชียงใหม่ ดอยตุง จ.เชียงราย ทำให้ต้องมีปรับแผนในการทำงานเชิงรุกตรึงพื้นที่เสี่ยง ที่ยังไม่เกิดไฟป่าในป่าอนุรักษ์ โดยการใช้แผนที่ดาวเทียมมาประยุกต์ใช้ และส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรึงพื้นที่
นอกจากนี้ อีกส่วนคือนโยบายของนายอรรถพล เจริญชันษา รก.อธิบดีกรมอุท ยานฯ ที่ให้มีชุดเฉพาะกิจเข้าไปพบปะชุมชน เรียกว่าเคาะประตูบ้านเพื่อขอความร่วมมือ และทำความเข้าใจปัญหาการเผาพื้นที่เกษตรกรรม โดยเริ่มในพื้นที่อุทยานแห่งชาติสาละวิน อุทยานแห่งชาติถ้ำปลา-ผาเสื่อ จ.แม่ฮ่องสอน พบว่าได้ผลจริงจากที่มีจุดความร้อน 100 เหลือแค่ 3 จุด รวมทั้งในพื้นที่จ.อุตรดิตถ์ และเพชรบูรณ์
อ่านข่าวเพิ่ม จนท.ช่วย "3 ลูกหมาป่า" รอดตายจากไฟไหม้ป่าลำปาง
ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
พบเผาพื้นที่เกษตรกรรม-ล่าสัตว์ต้นเหตุไฟป่า
สาเหตุการจุดไฟยังลามจากพื้นที่เกษตรกรรม และการล่าสัตว์มีสถิติการจับกุมผุ้กระทำความผิด 45 คดีแต่จับได้ผู้กระทำความผิด 9 คน โดยขณะนี้ยังต้องโฟกัสในพื้นที่ภาคเหนือ-ภาคอีสานเป็นพิเศษโดยเฉพาะเข้มงวดในช่วงนี้ เพราะมีประเพณีว่าต้องเผาพื้นที่ก่อนสงกรานต์ที่ฝนจะตกลงมา
ไทม์ไลน์ของไฟป่าที่ยังเหลืออีก 1 เดือนตอนนี้ยังคงโฟกัสในพื้นที่ภาคเหนือ แถวพื้นที่ จ.น่าน แม่ฮ่องสอน เชียงราย และภาคอีสานเป็นพิเศษ ซึ่งล่าสุดพบเกิดปัญหาที่ภูกระดึง จ.เลย
นายนฤพนธ์ กล่าวอีกว่า สำหรับตัวเลขเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ กรมป่าไม้ ที่เข้าปฏิบัติหน้าที่ในการดับไฟป่า พบบาดเจ็บ 15 คน และเสียชีวิต 1 คนที่จ.กาญจนบุรี ส่วนอาสาสมัครดับไฟป่า มีเสียชีวิตแล้ว 2 คนที่อุทยานแห่งชาติขุนขาน และดอยภูสะงืด จ.น่าน
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการดับไฟยังต้องมีประสบการณ์ และมีความเชี่ยวชาญ เพื่อลดความเสี่ยงต่อชีวิตและบาดเจ็บ ดังนั้นจะมีถอดบทเรียนจากไฟป่า เพื่อมาปรับใช้ในปีต่อไป
กรมอุทยานฯ พบไฟป่าลามป่าอนุรักษ์เสียหาย 4.7 ล้านไร่ โฟกัสพื้นที่เสี่ยงภาคเหนือ-อีสานในช่วงโค้งสุดท้ายฤดูเพลิง ปรับแผนใช้ดาวเทียมเช็กพิกัดพื้นที่ยังไม่เกิดไฟไหม้ ส่งชุดจนท.ตรึงพื้นที่ เคาะประตูบ้าน pic.twitter.com/Ti2KmDoeon
— Thai PBS News (@ThaiPBSNews) April 6, 2023
อ่านข่าวเพิ่ม ภารกิจท้าทาย "คืนวัวแดง" กลับป่าสลักพระหลังสูญพันธุ์ 30 ปี
เจ้าหน้าที่บาดเจ็บอีก 1 ลุยดับไฟป่า
เพจสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 11 กรมอุทยานฯ เผยภาพการปฏิบัติงานควบคุมไฟป่าของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาค้อ และสถานีควบคุมไฟป่าเขาค้อ ที่ต้องปฏิบัติงานในสภาพภูมิประเทศเป็นพื้นที่ภูเขาสูงชัน ความสูง 1,200 เมตร จากระดับน้ำทะเล เมื่อไม่มีถนนหรือเส้นทาง ก็ต้องเดินเข้าไปในป่าลึก และบางครั้งต้องปีนเถาวัลย์ผ่านหน้าผาขึ้นไปยังจุดเกิดเหตุ
จากสถานการณ์อันเร่งรีบ ทำให้เจ้าหน้าที่เกิดอุบัติเหตุลื่นล้มใบหน้ากระแทกกับก้อนหินได้รับบาดเจ็บ
การทำงานเจ้าหน้าที่ต้องเหน็ดเหนื่อย และเสี่ยงอันตรายก็อาจจะเกิดขึ้นได้ทุกเวลา ไฟป่าหากลุกลามแล้วดับยากใช้เวลาหลายวัน เจ้าหน้าที่ดับไฟมีน้อย เมื่อเทียบกับปริมาณไฟป่าที่เกิดขึ้น