วันนี้ (8 พ.ค.2566) เจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม พร้อม นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ร่วมหารือกับคณะพนักงานสอบสวนในคดีแอม ในฐานะผู้ควบคุมดูแลการนำเข้าและครอบครองสารเคมีไซยาไนด์
นายจุลพงษ์ เปิดเผยว่า วันนี้เป็นการชี้แจงกระบวนการควบคุมสารโพแทสเซียมไซยาไนด์ ให้คณะพนักงานสอบสวนรับทราบร่วมกัน เบื้องต้นสารโพแทสเซียมไซยาไนด์ไม่สามารถผลิตได้เองในประเทศไทยจึงเป็นการนำเข้าทั้งหมด ปัจจุบันมีผู้มีใบอนุญาตขึ้นทะเบียนขอนำเข้าได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย 14 ราย 54 ใบอนุญาต โดยอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรม
โดยควบคุมตามวัตถุประสงค์การใช้งานตามกฎหมายวัตถุอันตราย ประเภทที่ 3 ตามกฎหมายกระทรวง โดยมีกฎหมายอนุญาตให้ผู้นำเข้าเพื่อใช้ในกิจการอุตสาหกรรม และใช้ในงานวิจัยและห้องปฏิบัติการเป็นหลัก นอกเหนือจากนี้เป็นผู้ใช้รายย่อยจำพวกร้านทองต่าง ๆ ประมาณ 2,000 ราย ที่ใช้ในกระบวนการชุบทอง
นายจุลพงษ์ กล่าวว่า การนำเข้าสารโพแทสเซียมไซยาไนด์ บริษัทผู้นำเข้าจะต้องมีใบอนุญาตขึ้นทะเบียนและจะต้องแจ้งวัตถุประสงค์การนำเข้า และรายละเอียดความเข้มข้นของสารอย่างชัดเจนและต้องใช้ให้ตรงตามวัตถุประสงค์การขึ้นทะเบียนขอนำเข้าเท่านั้น
พร้อมยอมรับว่าข้อกำหนดนี้มีช่องว่างในการจำหน่ายผ่านตลาดออนไลน์ เช่น ในกรณีที่ตกเป็นข่าวอยู่ ทั้งคดีแอม และกรณีซื้อเพื่อใช้ฆ่าสัตว์ ซึ่ง 2 กรณีนี้ผู้ครอบครองนำไปใช้โดยผิดวัตถุประสงค์นั้นมีโทษตามกฎหมายวัตถุอันตราย แต่ยังเอาผิดผู้ขายไม่ได้
ส่วนโรงงานต้นทางที่เข้าตรวจค้นไปก่อนหน้านี้ที่พบข้อมูลขออนุญาตนำเข้ามาเพื่อจำหน่ายและการใช้วิจัยและในห้องปฏิบัติการ ซึ่งผู้ซื้อไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ก็มีความผิดตามกฎหมาย
เร่งแก้เงื่อนไขครอบครอง "ไซยาไนด์" รายย่อย
นายจุลพงษ์ ยอมรับว่า มีช่องว่างในระเบียบการกำกับติดตามสารไซยาไนด์ในผู้ครอบครองรายย่อย ตามประกาศข้อยกเว้น เมื่อปี 2546 เป็นประกาศยกเว้นการรายงานบัญชีการใช้กรณีไม่เกิน 100 กิโลกรัม รวมถึงรายย่อยกรณีที่การครอบครองไม่เกิน 100 กิโลกรัมก็ไม่จำเป็นต้องแจ้งขอครอบครอง
จากนี้จะเพิ่มเงื่อนไขท้ายใบอนุญาตเพื่อการกำกับดูแลที่เข้มงวดมากขึ้น ให้ผู้ได้รับอนุญาตนำเข้าต้องรายงานบัญชีการใช้การจำหน่ายในทุกกรณี
สำหรับแนวทางการตรวจสอบหรือป้องกันการจำหน่ายสารไซยาไนด์ในตลาดออนไลน์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ระบุว่า ตามกฎหมายวัตถุอันตรายของกระทรวงอุตสาหกรรม มีการห้ามโฆษณา ซึ่งได้เพิ่มบทบัญญัติเขาไป เมื่อปลายปี 2562 และอยู่ระหว่างการออกกฎหมายลูกเพื่อระบุประเภทอนุญาตให้โฆษณาหรือห้ามโฆษณาเพื่อให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติ
ขณะเดียวกัน การจำหน่ายในตลาดออนไลน์เป็นลักษณะขายตรง ซึ่งพบว่ามีกฎหมายควบคุมอยู่ซึ่งในพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดขายตรงซึ่ง สคบ. เป็นคนดูแลกฎหมายนี้อยู่ โดยจะขอความร่วมมือไปยัง สคบ. เพื่อขอให้ช่วยใช้มาตรการในการตรวจสอบดูแลการจำหน่ายในแพลตฟอร์มออนไลน์