แม้ความนิยมระดับเขตในพื้นที่ภาคใต้ของพรรคร่วมรัฐบาลเดิมจะไม่ได้เปลี่ยนไปอย่างมีนัยยะสำคัญ (สัดส่วน ส.ส.82 % ในปี 2566 ต่อ 88 % ในปี 2562) แต่การยื้อแย่งคะแนนกันเองในกลุ่มพรรคร่วมรัฐบาลเดิม ผสมโรงกับการเข้ามาครองพื้นที่ จ.ภูเก็ต ได้ยกจังหวัดของพรรคก้าวไกล ถือเป็นสัญญาณความเปลี่ยนแปลงอย่างที่ไม่เคยปรากฎมานานแล้ว ในภูมิภาคการเมืองแห่งนี้
ในมุมกลับกัน หากมองเจาะลงไปถึงคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะเห็นภาพชัดเจนถึงความนิยม หรือความเชื่อมั่นยึดมั่นในพรรคร่วมรัฐบาลเดิม ปรากฏรอยร้าวขึ้นแล้วจากการเลือกตั้งครั้งนี้
3 ปัจจัยเปลี่ยนผ่านทางการเมือง
รศ.ดร.เอกรินทร์ ต่วนศิริ นักรัฐศาสตร์จาก มอ.ปัตตานี วิเคราะห์ 3 ปัจจัยที่มีผลต่อความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในภาคใต้ ตั้งแต่การมีส่วนร่วมทางการเมืองของกลุ่มคนรุ่นใหม่
ผลการเลือกตั้งที่จังหวัดภูเก็ต สะท้อนภาพความเปลี่ยนแปลงได้ดีว่า คนในพื้นที่ต้องการความสดใหม่ในเชิงนโยบาย การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และนี่คือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจไม่แพ้ใครในพื้นที่ภาคใต้
ปัจจัยสุดท้ายคือนโยบายพรรคก้าวไกลที่ตอบโจทย์ความต้องการ การกล่าวถึงปัญหาโครงสร้างรัฐ ทุจริตคอร์รัปชัน และทุนผูกขาด
ปิดฉากยุค “เสาไฟฟ้า” ในภาคใต้
กล่าวถึงตำนานเสาไฟฟ้าภาคใต้สักเล็กน้อย เพราะเป็นวาทะกรรมที่ปรากฏอยู่บ่อยๆในวงการเมือง
นิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ นักการเมืองรุ่นใหญ่จากพัทลุง อดีตแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ปัจจุบันเป็นแกนนำพรรคพลังประชารัฐ คือเจ้าของวาทกรรม “ประชาธิปัตย์ส่งเสาไฟฟ้าลง คนก็เลือก”
ประโยคนี้ถูกพูดเป็นครั้งแรกหลายสิบปีก่อน ในการหาเสียงเลือกตั้ง หลังจากแฟนคลับพรรคประชาธิปัตย์คนหนึ่งบอกให้ นิพิฎฐ์ หยุดปราศรัย เพราะต่อให้ประชาธิปัตย์ส่งเสาไฟฟ้าลงสมัคร ก็จะเลือกอยู่ดี
ความหมายที่ปรากฎในช่วงหลังมักถูกใช้กับพรรคการเมืองที่ครองความนิยมอย่างสูงในระดับภูมิภาค เช่น ภาคใต้กับพรรคประชาธิปัตย์
ในการเลือกตั้ง 2566 เราได้เห็นเสียงโหวตที่แตกกันเองระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล แม้สัดส่วนรวมกันจะไม่ต่างจากเดิมมากนัก แต่ถือว่าเสียงที่แตกกันเหล่านี้ สะท้อนชัดว่า ไม่ใช่พรรคการเมืองไหนถือธงนำในภาคใต้อีกแล้ว กลับกันเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้านเดิมเสียอีก ที่ได้ที่นั่ง ส.ส.เขตเพิ่มขึ้น 4 ที่นั่งจากพรรคก้าวไกลที่เหมายก จ.ภูเก็ต และพรรคประชาชาติที่ได้เพิ่มจาก 4 ปีก่อน 1 ที่นั่ง
เป็นไปได้เช่นกันที่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งบางกลุ่มบางขั้วอาจตัดสินใจเลือก ส.ส.เขตจากผลงานในพื้นที่ อาจมีบ้างที่ต้องอยู่ในระบอบอุปถัมภ์ ซึ่งเป็นการตัดสินใจตามแต่ละสถานการณ์ของบุคคล
แต่ในการเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ปรากฏว่าผลลัพธ์ต่างกัน พรรคก้าวไกลเอาชนะในระบบบัญชีรายชื่อถึง 25 เขตในภาคใต้ ขณะที่พรรคประชาชาติเอาชนะไป 13 เขต อีก 22 เขตเป็นชัยชนะของพรรครวมไทยสร้างชาติ
เจาะลึกในรายละเอียด 13 เขตบัญชีรายชื่อที่พรรคประชาชาติชนะ มีพรรคก้าวไกลทำคะแนนตามมาในอันดับ 2 เช่นเดียวกับ 22 เขตที่พรรครวมไทยสร้างชาติเอาชนะไปในบัญชีรายชื่อ ก็มีพรรคก้าวไกลตามมาในอันดับ 2 ทั้งสิ้น
พรรคการเมืองที่เคยถือธงนำอย่างประชาธิปัตย์ ไม่สามารถชนะใจคนใต้ ในการเลือกตั้งบัญชีรายชื่อได้เลยในปีนี้ นั่นทำให้โจทย์ใหญ่ตกเป็นของผู้บริหารพรรคชุดต่อไป จะทำงานการเมืองในรูปแบบไหนเพื่อคว้าใจคนใต้มาครอง
4 ปีนับจากนี้ คือช่วงเวลาตัดสินอนาคตของภูมิภาคการเมืองว่า พรรคการเมืองไหนดีพอจะถือธงนำได้
วิเคราะห์ : อุรชัย ศรแก้ว มุมการเมือง