ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ไทยและโลกจะเพิ่งผ่านปรากฏการณ์ลานีญา สภาวะน้ำหลาก ฝนตกต่อเนื่อง จนในบางพื้นที่เกิดอุทกภัย แต่เมื่อ 234 ล้านปีก่อนนั้น โลกของเราเผชิญกับเหตุการณ์ที่ฝนตกต่อเนื่องไปทั่วทั้งโลก และตกติดต่อกันนานถึง 2,000,000 ปี
"มหาทวีปแพนเจีย" ผืนแผ่นดินเดียวของโลก
แผ่นดินโลกในอดีตติดเป็นผืนเดียวกัน คือ มหาทวีปแพนเจีย (Pangea supercontinent) ความกว้างใหญ่ของมหาทวีป ทำให้สภาพภูมิประเทศปราศจากเทือกเขาในตอนกลาง ลมมรสุมจากมหาสมุทรไม่สามารถเข้าถึงแผ่นดินใหญ่ด้านในได้ และยังไร้แนวปะทะตามธรรมชาติที่จะทำให้ฝนตกลงมาอีกด้วย จึงทำให้เกิดสภาพอากาศแห้งแล้งจัดและภูมิประเทศแบบทะเลทรายขึ้น
มหาทวีปแพนเจีย
ทะเลทราย
ยุคไทรแอสซิก (Triassic period)
เป็นยุคหนึ่งทางธรณีกาลโลก ตรงกับช่วงเวลาประมาณ 251 ± 0.4 ถึง 199.6 ± 0.6 ล้านปีก่อน แบ่งย่อยออกเป็น 3 ยุค คือ ยุคต้น ยุคกลาง และ ยุคปลาย และในแต่ละช่วง ก็จะมีช่วงย่อยลงไปอีก โดยกำหนดจากเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดการสูญพันธุ์หรือการเปลี่ยนแปลงของสิ่งมีชีวิตทั้งบนบกและในทะเลมากมาย ซึ่งหลักฐานต่างๆ ปรากฏให้นักธรณีวิทยาได้ทำการค้นคว้าและศึกษาจากชั้นหิน
ฟอสซิลต้นไม้
- ยุคต้น
- ช่วงอินดูอัน การสูญพันธุ์ยุคเพอร์เมียน-ไทรแอสซิก
- ช่วงโอเลเนเคียน การสูญพันธุ์ขอบสมิเทียน-สปาเทียน
- ยุคกลาง
- ช่วงอานิเชียน การกำเนิดของต้นไม้เนื้อแข็ง และการกลับมาของถ่านหิน
- ช่วงเลดิเนียน เกิดฟองน้ำหินปูนและปะการังชนิดสเกแรคติเนีย
- ยุคปลาย
- ช่วงคาร์เนียน ฝนชุกช่วงคาร์เนียน
- ช่วงนอเรียน อุกกาบาตตกที่แมนิกัวอาแกน
- ช่วงเรเทียน การสูญพันธุ์ยุคไทรแอสซิก–จูแรสซิก
มีข้อสันนิษฐานหนึ่งเชื่อว่า ช่วง 1 ล้านปีใน ยุคปลายของยุคไทรแอสซิก เกิดเหตุภูเขาไฟระเบิดครั้งใหญ่เรียกว่า "การระเบิดแรงเกลเลียน (Wrangellion eruptions)" เกิดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจก สู่ชั้นบรรยากาศจำนวนมาก จนทำให้โลกร้อนขึ้น 3-10 องศาเซลเซียส เสมือนโลกเผชิญ "ภาวะโลกร้อน" นั่นเอง
โลกร้อนเมื่อหลายล้านปีก่อน
สภาวะโลกร้อนในยุคโบราณ อุณหภูมิที่ร้อนระอุทำให้ไอน้ำระเหยจากผิวมหาสมุทรมากขึ้น จนเกิดเป็นสภาพอากาศร้อนชื้น และก่อให้เมฆฝน ทำให้เกิดฝนตกทั่วทั้งแผ่นดินมหาทวีปแพนเจีย เหตุการณ์เรียกว่า "เหตุการณ์คาร์เนียน-พลูเวียล (The Carnian-Pluvial Episode)" หรือ "ฝนตกในช่วงอายุคาร์เนียน" ซึ่งกินเวลาไม่มากไม่มาย 2,000,000 ปี
ไอน้ำที่ระเหยจากทะเล
ฝนที่ตกยาวนานกว่า 2,000,000 ปี เมื่อ 234 ล้านปีก่อนนั้น นักธรณีวิทยาสันนิษฐานว่าปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลเป็น 1,400 มม./ปี ทำให้เกิดอุทกภัยต่อเนื่องกันหลายครั้ง จนผืนดินในมหาทวีปแพนเจียทั้งหมดมีความชื้นแฉะ จากสภาพอากาศแห้งแล้ง ทะเลทรายกลางผืนดิน กลายสภาพเป็นป่าฝนเขตร้อน
หากปริมาณฝนเฉลี่ยมากกว่า 90 มม./ชม. จะทำให้ กทม. เผชิญกับน้ำท่วม
ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ในยุคไทรแอสซิก โดยพืชทะเลทรายที่ส่วนใหญ่มีลำต้นเตี้ยติดดินได้สูญพันธุ์ไป พืชที่มีลำต้นสูงใหญ่อย่างสนชนิดต่างๆ งอกงามขึ้น
สัตว์เลื้อยคลานในยุคไตรแอสซิก ซึ่งส่วนใหญ่มีขนาดลำตัวปานกลางที่ไม่อาจยืนบนขาหลังได้ ต้องขาดอาหารจนล้มตาย เนื่องจากสภาพอากาศทำให้ส่วนที่กินได้ของพืชพรรณขยับไปอยู่สูงขึ้น เป็นโอกาสที่ไดโนเสาร์ตัวยักษ์จะได้แพร่พันธุ์เพิ่มจำนวนประชากรขึ้นมาแทนที่ จนได้ครองโลกในยุคจูแรสซิกหรือจูราสสิก (Jurassic period) ซึ่งเป็นช่วงธรณีกาลราว 33 ล้านปีต่อมา
หลักฐานเหล่านี้ ปรากฏต่อมาให้นักธรณีวิทยาในปัจจุบันขุดเจอจากชั้นหินเก่าแก่จากยุคไทรแอสซิก ที่จะมีหินทรายสีแดงที่เป็นเอกลักษณ์ รวมทั้งตะกอนดินที่เกิดจากพืชพรรณในบริเวณที่มีสภาพอากาศแห้งแล้งเป็นหลัก
แต่ช่วงทศวรรษ 1990 ทีมนักธรณีวิทยาชาวอังกฤษได้ค้นพบชั้นหินย่อยชั้นหนึ่ง ที่มีลักษณะไม่ตรงกับชั้นหินทรายที่เล็กละเอียดของยุคไทรแอสซิกอย่างสิ้นเชิง เป็นหินสีเทา ประกอบไปด้วยหินลำธารก้อนใหญ่และดินตะกอนจากก้นแม่น้ำ ซึ่งเป็นหลักฐานของสภาพอากาศชุ่มชื้นจากฝนตกหนักจนมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่เกิดขึ้นในยุคโบราณ และยังพบชั้นหินผ่าเหล่าที่ว่านี้อีกหลายภูมิภาคทั่วโลก ทั้งทวีปยุโรป อเมริกา ตะวันออกกลาง เอเชีย ที่มีหลักฐานบ่งชี้ร่วมกัน
เมื่อราว 232-234 ล้านปีก่อน ทั่วโลกเคยมีเหตุฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องยาวนานเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม เมื่อการปะทุของภูเขาไฟในการระเบิดแรงเกลเลียนเริ่มสงบลง โลกก็เริ่มปรับสมดุลด้วยการดูดซับคาร์บอนส่วนเกินในบรรยากาศกลับไปเก็บสะสมในชั้นหินปูน ป่าไม้ และมหาสมุทร
ทำให้ฝนที่ตกหนักมานานถึง 2,000,000 ปี ซาและหยุดตกไป
ที่มา : BBC, Wikipedia, Wikiwand
อ่านข่าวเพิ่ม :
วันนี้ ไทยเริ่มต้น "ฤดูฝน" กทม.เจอฝน 20% ช่วงบ่ายถึงค่ำ
สิ้นสุดร้อน! ไทยเข้าฤดูฝนเริ่ม 22 พ.ค.นี้ ชี้ฝนน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 5%