พ.ศ.2418 อังกฤษกับพระเจ้ามินดง กษัตริย์เมียนมา ทำสนธิสัญญา ว่า กะเรนนี ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเมียนมาและอังกฤษ แต่รัฐธรรมนูญของสหภาพพม่า พ.ศ.2490 ได้กล่าวอ้างว่า รัฐกระเรนีเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพ เรียกว่ารัฐกะเหรี่ยงแดง และสามารถแยกตัวได้เมื่อครบ 10 ปี ทำให้เกิดกระแสคัดค้าน
กระทั่ง พ.ศ.2491 กองทัพแห่งชาติกะเหรี่ยงแดง (Karenni National Army/KNPP) จึงถูกจัดตั้งเพื่อเรียกร้องเอกราชตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และ พ.ศ.2538 กลุ่ม KNPP ได้เจราจาหยุดยิงด้วยวาจากับกองทัพ แต่การเจรจาล้มเหลว 5 เดือนต่อมาจึงเกิดการสู้รบกันอย่างยาวนานถึงปัจจุบัน
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 กองทัพเมียนมา (Tatmadaw) ทำรัฐประหาร ประชาชนได้ออกมาต่อต้านเป็นกลุ่มแรกๆ ของประเทศ ไม่นานกลุ่มวิชาชีพทั้งภาครัฐ และเอกชนต่างๆ ได้รวมตัวหยุดการทำงาน ในแนวทาง "ขบวนการเคลื่อนไหวอารยะขัดขืน" (Civil Disobedience Movement: CDM)
จนถูกขนานนามว่า “การปฏิวัติฤดูใบไม้ผลิ” (Spring Revolution) จากนั้นกองทัพเมียนมาเริ่มใช้ความรุนแรง มีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บจำนวนมาก
ความรุนแรงในหลายพื้นที่เริ่มปะทุเดือดเพิ่มขึ้น เมื่อกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ 10 กลุ่ม หนึ่งในนั้น คือ กองกำลังคะเรนนี (Karenni Army) ในสังกัดพรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะเรนนี (Karenni National Progressive Party-KNPP) ออกมาสนับสนุน ประกาศยืนเคียงข้างประชาชน
และบางกลุ่มชาติพันธุ์ ได้ร่วมจัดตั้ง กองกำลังพิทักษ์ประชาชน (People’s Defence Force ,PDF) ให้กับประชาชนเพื่อต่อต้านรัฐบาลทหาร
“กลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหาร และเราที่มีเป้าหมายตรงกันในการเรียกร้องประชาธิปไตย” ถ้อยคำหนักแน่นของนายพลบีทู ผู้บัญชาการทหารสูงสุดกองทัพกะเหรี่ยงแดง Karenni Army ที่มักจะบอกกับประชาชน และมวลชนของ Karenni Army ในรัฐคะยา
เดือนพฤษภาคม 2564 รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ซึ่งแกนนำส่วนใหญ่ คือ สมาชิกพรรค NLD ประกาศนโยบายสนับสนุนกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (People’s Defense Force /PDF) โดยรัฐคะยาได้จัดตั้ง “กองกำลังป้องกันแห่งชาติกะเหรี่ยงแดง” หรือ Karenni Nationalities Defense Force(KNDF) เพื่อให้เป็นองค์กรกลางในการต่อสู้ของภาคประชาชน
เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองทัพกะเหรี่ยงแดง Karenni Army บอกว่า ปัจจุบันกองกำลังประชาชนในรัฐคะยา เริ่มไม่ขึ้นตรงกับกองกำลังป้องกันแห่งชาติกะเหรี่ยงแดง (KNDF)
รวมทั้งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ( NUG ) ทำให้กลุ่มต่อต้านในรัฐคะยา มี 8 กลุ่ม เป็นชาวบ้าน หรือ PDF 7 กลุ่ม หรือ ใน 1 อำเภอจะมีกลุ่ม 1 กลุ่ม เพราะรัฐคะยามี 7 อำเภอ ที่เหลือ 1 กลุ่ม เป็นกองกำลังคะเรนนี
แต่ละกลุ่มทำงานในเงื่อนไขของกลุ่ม ไม่ฟังใครแล้ว ทั้งคนที่สอนยุทธวิธีให้ก็ไม่ฟัง ส่วน NUG ที่อยู่ไกล แทบไม่มีบทบาท เพราะชาวบ้านเขารวมเงินกับซื้ออาวุธได้แล้ว
มีคนสนับสนุนผ่านองค์กรต่างๆ ยุทธวิธี คือ ออกซุ่มยิงทหารตามฐานรอบหมู่บ้าน แล้วหนีกลับไปเป็นชาวบ้านตามเดิม ทหารทำอะไรไม่ได้ก็ใช้เครื่องบินถล่มบ้านเรือนชาวบ้าน อย่างนี้ยุ่ง คนที่กระทบที่สุด คือ ชาวบ้านที่ไม่รู้เรื่อง นานหลายปีแน่นอน
เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองทัพกะเหรี่ยง KNPP กล่าว
อนาคตรัฐคะยา วันนี้ยังมองไม่เห็นทางออกของสันติภาพ เพราะกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) 7 กลุ่ม ไม่มีผู้นำที่ชัดเจน
ส่วนกองกำลังชาติพันธุ์กะเหรี่ยง KNPP กลุ่มที่ 8 ยืนยันไม่ขออยู่ในกระบวนการเจรจาสันติภาพ มาตั้งแต่สมัยอูเต็งเส่ง อดีตประธานาธิบดีเมียนมา ที่ริเริ่มการเจรจาสันติภาพเมื่อ พ.ศ.2558 เหตุผล คือ พวกเขาเคยเจรจาสันติภาพเมื่อ พ.ศ.2538
ขณะที่รัฐบาลทหารเมียนมา ยืนยันว่า ไม่มีนโยบายเจรจากับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) และกองกำลังป้องกันแห่งชาติกะเหรี่ยงแดง (KNDF) เนื่องจากเป็นกลุ่มก่อการร้าย
รัฐยะยา วันนี้เต็มไปด้วยกลุ่มต่อต้านติดอาวุธ มากถึง 8 กลุ่ม และต่างปฏิเสธที่จะเข้าสู่กระบวนสันติภาพ อนาคตรัฐคะยาจะยังเป็นสนามรบของกองกำลัง 9 กลุ่ม นานอีกหลายปี