ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ห่วง "เอลนีโญ" กระทบพืชผลเกษตร

สิ่งแวดล้อม
30 พ.ค. 66
15:43
1,896
Logo Thai PBS
ห่วง "เอลนีโญ" กระทบพืชผลเกษตร
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
อุณหภูมิโลกที่ร้อนขึ้น ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ "เอลนีโญ" หรือ ฝนน้อยน้ำน้อย ถี่ขึ้นและยาวนานขึ้น สำหรับไทย ประเมินกันว่า ปริมาณฝนรวมทั้งประเทศปีนี้ จะน้อยกว่าค่าปกติ ร้อยละ 5 แย่ไปกว่านั้น สถานการณ์อาจลากยาวไปจนถึงต้นปี 2567 อาจกระทบพิชผลเกษตร

จากการศึกษาในวารสาร Science เปิดเผยว่า ผลกระทบที่อาจเกิดจากปรากฏการณ์เอลนีโญครั้งนี้ อาจทำให้เศรษฐกิจโลกเสียหายถึง 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ไปจนถึงปี 2572 และอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาว แม้ปรากฏการณ์ได้ผ่านพ้นไปแล้ว

เช่น ภาวะเศรษฐกิจหลังปรากฏการณ์เอลนีโญในปี 2525-2526 ในช่วง 5 ปีหลังจากเกิดเอลนีโญ ทั่วโลกสูญเสียรายได้ 4.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

และ ภาวะเศรษฐกิจหลังปรากฏการณ์เอลนีโญในปี 2540-2541 ทั่วโลกสูญเสียรายได้ 5.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ ความรุนแรงของผลกระทบจะแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่

ส่วนไทย คาดการณ์กันว่า ปี 2566-2567 เสี่ยงจะเจอศึกหนักจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งหลายจังหวัดอาจประสบปัญหาภัยแล้ง กระทบต่อปริมาณน้ำอุปโภค บริโภค , น้ำเพื่อการเกษตร อุตสาหกรรม และ อาจซ้ำเติม ภาวะเงินเฟ้อ กับ เศรษฐกิจโดยรวมในที่สุด

อ่านข่าว : "ฝนทิ้งช่วง" กระทบทุเรียนศรีสะเกษ

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ระบุว่า ขณะนี้ สินค้าเกษตรมีทิศทางราคาที่ดีขึ้น เช่น ข้าวเปลือกเจ้า 9,800 บาทต่อตัน จาก 8,000-9,000 บาทต่อตัน / มันสำปะหลัง 2.7-3.2 บาทต่อกิโลกรัม จาก 1.9-2.7 บาทต่อกิโลกรัม

แต่ที่ต้องเฝ้าระวัง คือ ไทยกำลังจะเข้าสู่ภาวะเอลนีโญ ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคเกษตร และ อาจสร้างความเสียหาย 10,000-30,000 ล้านบาท

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย นายกสมาคมการค้าอาหารอนาคต และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า เอลนีโญ มีผลโดยตรงกับภาคเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร

โดยในปี 2559 ไทยเคยเกิดเอลนีโญ สร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมอาหารประมาณ 39,574 ตัน โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรสูญเสียไป 14,532 ตัน

ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. เปิดเผยว่า กกร. กำลังจับตาความเสี่ยงจากภัยแล้ง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตร

"น้ำ" ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของการผลิตภาคอุตสาหกรรม เมื่อภัยแล้งรุนแรงที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2558 ทำให้ต้องขอความร่วมมือผู้ผลิตทุกภาคส่วน ลดการใช้น้ำลงถึง ร้อยละ 10 โรงงานต้องเดินเครื่องน้อยลง ซึ่งกระทบกำลังการผลิตของประเทศ

ฝนที่น้อยกว่าค่าปกติ กรมชลประทาน วางแผนรับมืออย่างไร? หนึ่งในมาตรการสำคัญ คือ การกักเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด

นายวิษณุ อรรถวานิช ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ และ งานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเกษตร กล่าวว่า หน่วยงานภาครัฐ ประเมินว่า จะเพียงพอเฉพาะพื้นที่ในเขตชลประทานเท่านั้น แต่พื้นที่นอกเขตชลประทาน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 70 ของพื้นที่ภาคเกษตร ยังไม่ชัดเจน

สำหรับปีหน้า มีแนวโน้มว่าภัยแล้งจะหนักยิ่งกว่าปีนี้ ดังนั้น ต้องเก็บน้ำต้นทุนในฤดูฝนปีนี้ให้ได้มากที่สุด ผ่านการทำบ่อจิ๋ว บ่อสาธารณะ การขุดลอกคูคลอง และการลงทุนเทคโนโลยีประหยัดน้ำและใช้น้ำซ้ำ เป็นต้น

มีงานวิจัย พบว่า ช่วงปี 2563-2642 ไทยติดโผกลุ่มเสี่ยงสูง ที่จะได้รับความเสียหายทางเศรษฐกิจ จากปรากฏการณ์เอลนีโญ โดยรายได้ต่อหัวของไทย คาดว่าจะลดลงมากกว่า ร้อยละ 5 ต่อปี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง