วันนี้ (1 ม.ย.2566) นายรังสิมันต์ โรม โฆษกพรรคก้าวไกล แถลงเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงสปิริตด้วยการออกมาแสดงความยินดีกับพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง
จนถึงขณะนี้การเลือกตั้งผ่านมานานแล้ว ยังไม่ได้ยินคำยินดีจากผู้นำรวมทั้งไม่ได้มีท่าทีว่าจะมีการเตรียมการส่งมอบงานให้กับรัฐบาลชุดใหม่แต่อย่างใด
แต่ในทางกลับกันยังมีท่าทีที่แสดงออกว่าจะรอส้มหล่นได้เป็นนายกฯต่อไปหรือไม่ ส่วนตัวมองว่า ขณะนี้ยังไม่สายเกินไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะแสดงความยินดีและออกมายอมรับความพ่ายแพ้
ส่วนกรณีที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ยกตัวอย่าง เหตุการณ์เมื่อการเลือกตั้งปี 2549 เป็นโมฆะต้องมีการเลือกตั้งใหม่ทั้งประเทศเพราะปรากฏภาพคุณหญิงท่านหนึ่งเข้าคูหาและหันหน้าผิดด้าน
เทียบเคียงกับกรณีการถือหุ้นสื่อของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่อาจทำให้เกิดการเลือกตั้งซ่อมทั่วประเทศ นายรังสิมันต์ มองว่าเป็นคนละกรณีกับเรื่องของนายพิธา
ส่วนคำร้องเรื่องการถือหุ้นในบริษัทสื่อของนายพิธา ฝ่ายกฎหมายของพรรคก้าวไกลได้เตรียมข้อชี้แจงเอาไว้ครบถ้วนหมดแล้วมั่นใจว่า จะไม่มีปัญหากระทบกับคุณสมบัติของนายพิธาอย่างแน่นอน
พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า การออกมาแสดงความเห็นของนายวิษณุครั้งนี้เป็นการชี้นำสมาชิกวุฒิสภาและประชาชนให้เกิดความลังเลที่จะสนับสนุนพรรคก้าวไกลในการจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ เพราะขณะนี้การพูดคุยสำหรับการจัดตั้งรัฐบาลกำลังเป็นไปได้ด้วยดี
ดังนั้นการทำแบบนี้จึงเป็นการไม่เคารพเจตนารมณ์ของประชาชนที่ออกมาเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา นายวิษณุควรใช้โอกาสนี้ชี้แนะให้ พล.อ.ประยุทธ์ เตรียมตัวเก็บของออกจากทำเนียบรัฐบาลและส่งมอบงานให้รัฐบาลชุดต่อไปน่าจะเหมาะสมกว่า
ดังนั้นจึงเรียกร้องให้ประชาชนอย่าให้ความสำคัญกับนายวิษณุมากเกินไปเพราะบางเรื่องนายวิษณุก็ไม่ได้ถูกต้องเสมอไป
ส่วนกรณีที่นายจเด็จ อินสว่าง ส.ว.แสดงความคิดเห็นว่า ควรมีรัฐบาลแห่งชาตินั้น นายรังสิมันต์ เชื่อว่า ขณะนี้การจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากประชาชน 8 พรรคยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้ เพราะถือเป็นการเคารพมติจากประชาชน การเตรียมการจัดตั้งรัฐบาลจนถึงขณะนี้ยังไม่ได้ประสบปัญหาอะไรจนถึงขั้นต้องตั้งรัฐบาลแห่งชาติ
ส่วนตัวเชื่อว่า ปัญหาต่าง ๆ มีทางออกให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้แม้ว่าจะมีอุปสรรค ภายใต้เงื่อนไขของรัฐธรรมนูญบางข้อก็ตาม พร้อมเห็นว่า นายจเด็จ ไม่ใช่ตัวแทนของ ส.ว.ทุกคน และย้ำว่า มี ส.ว.จำนวนไม่น้อยที่เคยโหวตสนับสนุน ปิดสวิตช์ ส.ว.
อย่างไรก็ตาม ขอโอกาสให้พรรคก้าวไกลได้ทำงานได้บริหารประเทศ ให้ผลงานเป็นเครื่องพิสูจน์ หากไปต่อไม่ได้ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินเอง
ส่วนการที่หัวหน้าพรรคก้าวไกลจะเดินทางไปพบกับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นั้น นายรังสิมันต์ ยืนยันว่า ไม่ได้เป็นการละลาบละล้วง หน่วยงานราชการ เพราะ อปท.ไม่ได้เป็นหน่วยงานราชการตามที่หลายคนเข้าใจ
วันนี้เป็นเพียงการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้ามาทำหน้าที่ในการบริหารประเทศ และการกระทำดังกล่าวก็ ไม่ได้มีปัญหาอะไร เป็นการกระทำที่สอดคล้องกับผลการเลือกตั้ง พร้อมย้ำว่าการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ อปท.จะไม่มีปัญหาอะไรอย่างแน่นอน
นายรังสิมันต์ ยืนยันด้วยว่า นายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า ไม่ได้มีบทบาทในพรรคก้าวไกล หรือถึงขั้นครอบงำพรรคอย่างที่หลายคนวิพากษ์วิจารณ์ และย้ำว่า จนถึงขณะนี้ความคิดเห็นของพรรคก้าวไกลและนายปิยบุตรก็ไม่ได้ตรงกันทุกเรื่อง ยังออกมาวิพากษ์วิจารณ์พรรคก้าวไกลในฐานะประชาชนคนหนึ่งด้วย
ดังนั้นจะพิจารณาจากสื่อที่นำเสนอเพียงฝ่ายเดียวไม่ได้ต้องมีหลักฐานให้ชัดเจนว่านายปิยบุตรครอบงำพรรคก้าวไกลอย่างไร จึงมองได้ว่าผู้ที่ออกมายื่นเรื่องร้องเรียนมีเจตนาต้องการให้พรรคก้าวไกลไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
สภากลาโหม กางแผนปฏิรูปกองทัพ ตั้งเป้าลดนายพล 50% ภายในปี 2570
เลือกตั้ง2566 : "ศิริกัญญา" น้อมรับคำวิจารณ์ ปรับปรุงข้อผิดพลาด
กกต.แจงปมพรรคเล็กจ่อฟ้อง ยันคิดคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อถูกต้อง
วิเคราะห์ : นัยความชื่นมื่นของ 8 พรรคที่ “ประชาชาติ”
เลือกตั้ง2566 : "พิธา" พร้อมทีมเศรษฐกิจ หารือสภาหอการค้าฯ