แพทย์ในสังกัด สธ.24,668 คน ต้องดูแลคนในระบบหลักประกันสุขภาพ 45 ล้านคน หรือ 70% ภาระงานเฉลี่ยแพทย์ 1 คนต่อ 2,000 คนแต่มาตรฐาน 3 ต่อ 1,000 คน
#หมอลาออก ติดแท็กคำค้นในทวิตเตอร์ หลังกรณีปุยเมฆ จุดกระแสสังคมในวงกว้าง จนกระทรวงสาธารณสุข ต้องส่ง นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกมาแถลงปัญหาหมอลาออกจากภาระงานโหลด
นพ.ทวีศิลป์ ยอมรับว่า การขาดแคลนกำลังคน ไม่ใช่แค่แพทย์หรือหมอที่ขาดแคลน แต่ยังรวมถึงพยาบาล ทันตแพทย์ นักรังสีการแพทย์ และวิชาชีพอื่นๆ ที่สธ.ยังขาดแคลนจำนวนมาก
หนึ่งในสาเหตุสำคัญคือ การผลิตแพทย์ในแต่ละปี ยังไม่เพียงพอกับคนไข้ และจำนวนหมอที่ลาออก และหมอที่ลาศึกษาต่อในปีนี้ 4,000 คน
อ่านข่าวเพิ่ม สธ. ยันหมอลาออก 655 คน รับงานโหลดทุบสถิติ 64 ชม.ต่อสัปดาห์มากถึง 9 รพ.
เรียนจบหมอปีละ 13,000 คน
ข้อมูลสำคัญที่ สธ.นำมากางกับสื่อมวลชนครั้งนี้ เรียกว่าทำการบ้านมาพร้อม โดยเฉพาะตัวเลขจัดสรรนักศึกษา ซึ่งระบุข้อมูลการจัดสรรนักศึกษาแพทย์ ผู้ทำสัญญาฯ ที่ไปปฎิบัติงานชดใช้ทุน คณะแพทยศาสตร์ ส่วนราชการ หน่วยงาน และกระทรวงสาธารณสุข ปีงบ 2561-2565 (5 ปีย้อนหลัง)
พบว่าสำเร็จการศึกษา 13,141 คน แบ่งเป็นจัดสรรให้ส่วนราชการ/หน่วยงานอื่น จัดสรรให้ 3,937 อัตรา ไปปฏิบัติงานจริง 3,023 คน ส่วนของสธ. จัดสรรให้ 9,951 อัตรา ไปปฏิบัติงานจริง 9,970 คน เมื่อกางตัวเลขรายปี 5 ปีย้อนหลัง มีดังนี้
- ปี 2561 สำเร็จการศึกษา 2,648 คน สธ.ได้รับจัดสรร 1,994 อัตรา ปฏิบัติงานจริง 2,016 คน
- ปี2562 สำเร็จการศึกษา 2,629 คน สธ.ได้รับจัดสรร 2,054 อัตราปฏิบัติงานจริง 2,044 คน
- ปี 2563 สำเร็จการศึกษา 2,636 คน สธ.ได้รับจัดสรร 2,031 อัตรา ปฏิบัติงานจริง 2,039 คน
- ปี 2564 สำเร็จการศึกษา 2,610 คน สธ.ได้รับจัดสรร 2,023 อัตรา ปฏิบัติงานจริง 2,021 คน
- ปี 2565 สำเร็จการศึกษา 2,618 คน สธ.ได้รับจัดสรร 1,849 อัตรา ปฏิบัติงานจริง 1,850 คน
ขณะที่ยังพบเมื่อตัวเลขหมอที่ผลิตได้เพียงปีละ 2,000-3,000 คน ทำให้สัดส่วนของหมอ 1 คนต้องแบกภาระดูแลคนไข้ 2,000 คน สอดคล้องกับผลสำรวจในช่วงวันที่ 15-30 พ.ย.นี้ จากโรงพยาบาลที่หมอต้องปฏิบัติงานนอกเวลาเกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จำนวน 65 แห่งดังนี้
- มากกว่า 64 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จำนวน 9 แห่ง
- มากกว่า 59-63 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จำนวน 4 แห่ง
- มากกว่า 52-58 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จำนวน 11 แห่ง
- มากกว่า 46-52 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จำนวน 18 แห่ง
- มากกว่า 40-46 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จำนวน 23 แห่ง
ลาออกเฉลี่ยปีละ 655 คนรวมอัตราเกษียณ
นอกจากนี้ ข้อมูลการลาออกของแพทย์ ปี 2556-2565 (10 ปีย้อนหลัง)
(ข้อมูลวันที่ 1 พ.ย.2565) ภาพรวมเฉลี่ยลาออกปีละ 455 คน + เกษียณปีละ 150-200 คน หรือรวมปีละ 655 คน
- มีแพทย์บรรจุรวม 19,355 คน
- แพทย์ใช้ทุนปีแรก ลาออก 226 คน (1.2%) เฉลี่ยปีละ 23 คน
- แพทย์ใช้ทุนปีที่ 2 ลาออก 1,875 คน (9.69%) เฉลี่ยปีละ 188 คน
- แพทย์ใช้ทุนปีที่ 3 ลาออก 858 คน (4.4%) เฉลี่ยปีละ 86 คน
- แพทย์ลาออกหลังพ้นภาระชดใช้ทุน 1,578 คน (8.1%) เฉลี่ยปีละ 158 คน
อย่างไรก็ตาม ในจำนวนนี้ยังพบว่า ในปี 2565 จากตัวเลขในสังกัดสธ.24,668 อัตรานั้น มีการลาศึกษา 4,040 คน
หมอต้องการ WorkLife Balance
การแถลงข่าววันนี้ อาจจะได้คำตอบว่าตัวเลขการผลิตหมอ ยังน้อยไม่ทันกับการลาออก และการลาศึกษาเฉพาะทาง ทำให้กระทรวงฯวางแผนที่จะขอเพิ่มสัดส่วนปรับรอบอัตรากำลังใหม่ 2565-2569 จำนวน 35,000 คนในปี 2569 เพิ่มขึ้นอีก 11,000 คน
นพ.ทวีศิลป์ บอกว่า เคยสำรวจแล้ว แพทย์ต้องการลดภาระงานมากที่สุด ต้องการ WorkLife Balance ส่วนเรื่องค่าตอบแทน เป็นเรื่องท้ายๆ
ขอบคุณหมอที่เหนื่อย อยากลดภาระงาน แต่ภาระงานคือทำงานให้กับพี่น้องประชาชนที่เจ็บไข้ได้ป่วย ต้องเข้าถึงระบบวอล์กอินได้ ซึ่งของไทยต่างจากประเทศที่พัฒนาแล้ว ต้องมีระบบนัดหมอ ไม่ต้องมานั่งรอ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ปลัด สธ. ยันไม่เคยมีนโยบายไม่รับหมอจบใหม่ แต่ติดปัญหางบฯ
เปิดสถิติแพทย์ล่าสุด ปี 66 ไทยมีแพทย์ทั้งสิ้น 6.8 หมื่นคน อยู่ใน กทม. 3.2 หมื่นคน