ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

วิเคราะห์ : "เรือไททัน" ปลอดภัยแค่ไหน?

ต่างประเทศ
22 มิ.ย. 66
10:49
5,938
Logo Thai PBS
วิเคราะห์ : "เรือไททัน" ปลอดภัยแค่ไหน?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ความปลอดภัย "เรือไททัน" ถูกตั้งคำถามจากผู้เชี่ยวชาญ แม้ประกาศว่าโครงสร้างเรือต้านความดันลึก 4,000 เมตร แต่กลับไม่เข้าประเมินจากองค์กรอิสระ ด้านอดีตคนขับเรือ ชี้จุดเปราะบางช่องชมวิว รับแรงดันน้ำลึก 1,300 เมตร ทั้งที่ต้องดำไปดูซากเรือไททานิก ลึก 3,800 เมตร

นับตั้งแต่เรือดำน้ำไททันสูญหายไป ผู้เชี่ยวชาญหลายคนออกมาตั้งคำถามถึงความปลอดภัยของตัวเรือในการทำภารกิจใต้ทะเลลึกหลายพันเมตร โดยเฉพาะประเด็นที่เรือลำนี้ไม่ได้ผ่านการรับรองความปลอดภัยโดยหน่วยงานอิสระต่าง ๆ สาเหตุส่วนหนึ่งอาจมาจากทัศนคติของผู้บริหาร

สื่อหลายสำนัก ได้พูดคุยกับผู้ที่เคยขึ้นเรือดำน้ำไททัน บางคนรู้สึกกังวลใจพอสมควร เพราะต้องเซ็นเอกสารก่อนลงเรือเพื่อรับทราบความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากการลงไปใต้ทะเลลึก รวมถึงเมื่อลงไปแล้วพบว่ามีหลายครั้งที่เรือแทบขาดการติดต่อกับเรือแม่บนผิวน้ำ แต่ความกังวลนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของคำถามสำคัญที่ว่า เรือไททันมีมาตรฐานด้านความปลอดภัยครบถ้วนรอบด้านและเหมาะสมหรือยัง ซึ่งในปี 2018 ถูกจุดขึ้นเป็นประเด็นถึง 2 ครั้งซ้อน

เมื่อ 5 ปีที่แล้ว OceanGate ประกาศความสำเร็จของการทดสอบโครงสร้างต้านความดันของเรือไททันที่ความลึก 4,000 เมตร และยกให้เรือรุ่นนี้เป็นเพียงลำเดียวของโลกที่มีบริษัทเอกชนเป็นเจ้าของ

ภาพ : เรือไททันลงจากผิวน้ำทะเล

ภาพ : เรือไททันลงจากผิวน้ำทะเล

ภาพ : เรือไททันลงจากผิวน้ำทะเล

ก่อนหน้านั้นเพียง 3 เดือน มีจดหมายถูกส่งถึงมือของสตอคตัน รัช ซีอีโอของ OceanGate ที่เป็น 1 ใน 5 สมาชิกที่อยู่บนเรือไททันที่หายไป โดยผู้ส่ง คือ สมาคมเทคโนโลยีทางทะเล ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีทั้งวิศวกรทางทะเลและผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ

ใจความสำคัญในจดหมาย ชี้ถึงความกังวลต่อการพัฒนาเรือไททันและการท่องเที่ยวสำรวจเรือไททานิก โดยสมาคมฯ มองว่า แนวทางการทดสอบเรือของ OceanGate อาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่ออุตสาหกรรมที่มีประวัติด้านความปลอดภัยดีเยี่ยมตลอด 40 ปีที่ผ่านมา หลังจากโฆษณาของบริษัทอวดอ้างมาตรฐานความปลอดภัย แต่กลับไม่ได้เข้ารับการประเมินความปลอดภัยจากองค์กรที่อ้างถึง

นอกจากนี้ ยังเสนอให้อย่างน้อย OceanGate ควรจัดการทดสอบเรือต้นแบบโดยมีองค์กรอิสระ หรือคนนอกเข้ามาตรวจสอบและเป็นพยานเพื่อให้มั่นใจถึงความปลอดภัย แม้จะต้องใช้เวลาและมีค่าใช้จ่ายเพิ่มก็ตาม

นวัตกรรมความปลอดภัยของเรือไททันที่ OceanGate หยิบยกขึ้นมาโฆษณาก่อนหน้านี้ นอกจากเรื่องขีดความสามารถการดำน้ำลึกได้ถึง 4,000 เมตร ยังมีวัสดุประกอบเรือ ซึ่งทางบริษัท ระบุว่าไปจับมือกับวิศวกรนาซาออกแบบและสร้างตัวเรือให้ต้านทานแรงดัน โดยใช้ไทเทเนียมและเส้นใยคาร์บอน หรือ Carbon Fiber ซึ่งจะทำให้แข็งแรงทนทาน แต่มีน้ำหนักเบา ดังนั้นเรือไททันจึงเบากว่าเรือประเภทเดียวกันของบริษัทอื่น ๆ ทำให้สามารถเพิ่มน้ำหนักบรรทุกของเรือได้ จึงมีผู้โดยสารเรือไททันได้ถึง 5 คน

ที่สำคัญมีการติดตั้งระบบติดตามสถานะโครงสร้างต้านความดันแบบประมวลผลทันที ซึ่งระบบนี้จะช่วยตรวจสอบความปลอดภัยได้ตลอดเวลา และทำให้มั่นใจได้ว่าตัวเรือต้านทานแรงดันใต้ทะเลลึกได้

OceanGate เผยแพร่บทความเมื่อปี 2019 ชี้แจงถึงสาเหตุที่ไม่นำเรือไททัน เข้ารับการตรวจสอบจากองค์กรอิสระต่าง ๆ เพื่อขอใบรับรองความปลอดภัย โดยระบุว่า การจัดมาตรฐานดังกล่าวไม่เพียงพอที่จะรับประกันความปลอดภัยได้ เพราะไม่ได้ประเมินปัจจัยที่จะเกิดขึ้นระหว่างการใช้งานจริง

ภาพ : เรือไททันดำดิ่ง พาชมซากเรือไททานิกใต้ทะเลลึก

ภาพ : เรือไททันดำดิ่ง พาชมซากเรือไททานิกใต้ทะเลลึก

ภาพ : เรือไททันดำดิ่ง พาชมซากเรือไททานิกใต้ทะเลลึก


ขณะที่การประเมินความปลอดภัยแบบรายปี ไม่ได้หมายความว่า ผู้ให้บริการจะต้องปฏิบัติตามระเบียบต่าง ๆ เวลาใช้งานจริง โดย OceanGate อ้างว่า สาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุมาจากความผิดพลาดของผู้ใช้งาน

ในปีเดียวกัน ซีอีโอของบริษัทยังได้ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Smithsonian ของสหรัฐฯ ว่า อุตสาหกรรมเรือดำน้ำเชิงพาณิชย์ไม่เติบโตและไม่ก้าวหน้าด้านนวัตกรรม เนื่องจากมีระเบียบข้อบังคับด้านความปลอดภัยกำกับอยู่ ทั้งที่ในช่วง 30 กว่าปีที่ผ่านมา ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บระหว่างการใช้บริการเรือดำน้ำเลย

เดวิด ลอคริดจ์ คนขับเรือดำน้ำและนักดำน้ำจากสกอตแลนด์ เขาเริ่มทำงานที่ OceanGate เมื่อปี 2015 ก่อนจะก้าวขึ้นเป็นผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการทางทะเล แต่ทำงานได้ไม่ถึง 3 ปีก็ถูกไล่ออก และยังถูก OceanGate ฟ้องดำเนินคดีฐานละเมิดข้อตกลงไม่เปิดเผยข้อมูลความลับของบริษัทด้วย

ขณะที่อดีตพนักงานคนนี้ฟ้องกลับว่าถูกไล่ออก เพราะเป็นคนจุดประเด็นเรื่องปัญหาความปลอดภัยของการออกแบบเรือไททันและการควบคุมคุณภาพ โดยเฉพาะกรณีที่ทางบริษัทไม่ยอมทดสอบการออกแบบโครงสร้างต้านความดันและไม่ให้หน่วยงานภายนอกมาตรวจสอบด้วย

อดีตพนักงานคนดังกล่าว ชี้ว่า ช่องสำหรับชมวิวนอกเรือช่องนี้อาจกลายมาเป็นจุดที่เปราะบางที่สุดของเรือไททัน โดยช่องมีขนาดกว้าง 53 เซนติเมตร สร้างขึ้นให้รองรับแรงดันใต้น้ำได้ลึกเพียง 1,300 เมตร ทั้ง ๆ ที่เรือไททันต้องพาผู้โดยสารดำลงไปดูซากเรือไททานิกที่ลึกถึง 3,800 เมตร โดยลอคริดจ์ ระบุว่า OceanGate ไม่ยอมจ่ายเงินให้บริษัทผู้ผลิตสร้างช่องชมวิวที่ทนแรงดันได้ลึกถึง 4,000 เมตร

แม้อุบัติเหตุจะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ แต่การมีเทคโนโลยีความปลอดภัยสูง หมั่นตรวจสอบทั้งจากคนในและคนนอก ถือเป็นกุญแจสำคัญในการยกระดับการป้องกันอันตรายได้ไม่มากก็น้อย นับจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจต้องทบทวนเรื่องการออกกฎระเบียบต่าง ๆ ให้รัดกุมมากขึ้น

ภาพ : ซากเรือไททานิกใต้ทะเลลึก

ภาพ : ซากเรือไททานิกใต้ทะเลลึก

ภาพ : ซากเรือไททานิกใต้ทะเลลึก


วิเคราะห์โดย ทิพย์ตะวัน ธีรนัยพงศ์

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

วิเคราะห์ : จับตาค้นหาเรือ "ไททัน" เทียบภารกิจกู้ภัยใต้ทะเลลึก 

เร่งค้นหา "เรือดำน้ำ" พาเที่ยวชมซากไททานิก สูญหายใต้ทะเล 

ขยายพื้นที่ค้นหาเรือดำน้ำ "ไททัน" ออกซิเจนใกล้หมดวันนี้ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง