วันนี้ (24 มิ.ย.2566) "เวทีเสวนา 91 ปีประชาธิปไตยกับก้าวต่อไปหลังการเลือกตั้ง" ที่จัดโดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดพื้นที่ให้นักวิชาการและนักการเมือง แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญที่เหมาะสมกับสังคมไทย ในโอกาสครบรอบวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิ.ย.2475 มีการหยิบยกปัญหาที่เกิดจากรัฐธรรมนูญปี 2560
โดย รศ.โภคิน พลกุล ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศ พรรคไทยสร้างไทย ชี้ว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ได้ออกแบบ เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง แต่เอื้อต่อผู้มีอำนาจในขณะนั้น คือ คสช. และแม่น้ำ 5 สาย ดังนั้นหากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ได้เร็ว ต้องแก้ไขกับดักในรัฐธรรมนูญปี 2560 เช่น กติกาเกี่ยวกับอำนาจ ส.ว.
สอดคล้องกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่เห็นว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 มีกติกาหลายเรื่องที่น่ากังวลใจ ดังนั้นต้องแก้ไขกติกาใหม่ให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย และต้องเรียนรู้จากอดีต โดยหัวใจสำคัญคือรัฐธรรมนูญต้องกำหนดเรื่องหลักที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐกับประชาน แต่ส่วนอื่นๆ เช่น เรื่องยุทธศาสตร์ชาติ และแผนต่างๆ รวมทัังจะต้องมีการระบุถึงการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจรัฐ
รัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ได้ตอบโจทย์ประเทศ แต่จัดทำขึ้นเพื่อผู้มีอำนาจ และทำให้องค์กรตรวจสอบตกต่ำกว่ายุคใด โดยหวังว่า สภาฯ ใหม่จะให้ความสำคัญกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ตอบโจทย์
ทั้งนี้วงเสวนายังมี รศ.เจษฎ์ โทณวณิก นักกฎหมายที่ได้เสนอรูปแบบแก้ไข-เพิ่มเติมรัฐธรรมนูญปี 2560 โดยแนะว่า การทำประชามติต้องรอบด้าน และไม่ควรไปเร่งรัด กำหนดเงื่อนเวลาจนเกินไป ขอให้ใช้ระยะเวลา 4 ปีในสภาฯ แก้ไขให้ได้รัฐธรรมนูญที่สมบูรณ์
ส่วน รศ.ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาฯ คณะก้าวหน้า สะท้อนว่า รัฐธรรมนูญแต่ละฉบับมักจะสัมพันธ์กับผู้อำนาจ สำหรับรัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นการฝังเรื่องการรัฐประหารปี 2557 ไว้ทั้งหมดเพื่อสืบทอดอำนาจ เช่น ที่มาองค์กรอิสระ บทบาทของ ส.ว. และเห็นว่า ช่วง 4 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ทำได้เรื่องเดียวคือการแก้ระบบเลือกตั้ง ส่วนเรื่องอื่นๆ ตกหมด
พร้อมมองว่า หัวใจสำคัญในการแก้รัฐธรรมนูญ อยู่ในหมวดที่ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งในรัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดให้แก้ไขได้ยากมาก พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า รัฐธรรมนูญหลังการรัฐประหารนั้นเรื่องสำคัญจะอยู่ท้ายๆ อย่างกรณีรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่มีการระบุถึงบทเฉพาะกาลต่าง ๆ
ด่านสำคัญอยู่ที่ ส.ว. และ ศาลรัฐธรรมนูญ เปรียบเหมือนค่ายกลที่ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญติดล็อก แม้จะแก้เป็นรายมาตรา
โดยหวังว่า พรรคก้าวไกล และเพื่อไทย จะจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ เพราะหากรวมคะแนนเลือกตั้ง 2 พรรคการเมือง เป็นการสะท้อนเจตจำนงของประชาชนที่อยากให้ 2 พรรคได้เป็นรัฐบาล และขอให้วาระแรกๆ คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมมองว่ารัฐธรรมนูญที่ดีต้องยึดโยงกับประชาชน และให้ความสำคัญกับเสียงข้างมากและเสียงข้างน้อย
อ่านข่าวอื่นๆ :