วันนี้ (7 ก.ค.2566) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยถึงกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลในโซเชียลมีเดียเรื่อง “เชยแล้ว กินปลาแล้วฉลาด สมัยนี้ กินปลาแถมปรอท” พบการสะสมปรอทในปลาทะเลและปลาน้ำจืดใน 8 พื้นที่ จ.สมุทรปราการ สมุทรสาคร ระยอง ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา เลย ขอนแก่น และจันทบุรี พบปริมาณการปนเปื้อนของปรอทเกิน 24 เท่า จากมาตรฐาน จนอาจนำมาสู่มินามาตะโมเดลในไทย ซึ่งข้อมูลดังกล่าวทำให้ผู้บริโภค กังวลเรื่องความปลอดภัยจากการบริโภคสัตว์น้ำจากแหล่งนี้ นั้น
สัตว์น้ำ และอาหารทะเล
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ในฐานะห้องปฏิบัติการอ้างอิงของประเทศ และอาเซียน ด้านการตรวจวิเคราะห์คุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ได้รวบรวมข้อมูลผลตรวจวิเคราะห์ปรอททั้งหมดในปลา สัตว์น้ำ และอาหารทะเล ตั้งแต่ปี 2563 - 2566 จำนวน 108 ตัวอย่าง พบปริมาณการปนเปื้อน อยู่ระหว่าง 0.001 - 0.840 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (มก./กก.) ซึ่งไม่เกินค่าปนเปื้อนสูงสุดทุกตัวอย่าง โดยมีค่าเฉลี่ยและค่ามัธยฐาน 0.0025 มก./กก. และ 0.0010 มก./กก. ตามลำดับ
เมื่อพิจารณาจากค่าเฉลี่ย พบว่า ปริมาณการได้รับสัมผัสจากปริมาณอาหารที่บริโภค สำหรับประชากรไทย ช่วงอายุ 3 - 5.9 ปี เฉลี่ยเท่ากับ 0.0004 µg/kg bw/week และเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับค่าอ้างอิงปริมาณความเป็นพิษของสารปรอทต่อระบบประสาทในเด็กที่องค์การอนามัยโลกกำหนด ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่มีความอ่อนไหวสูง ระบุค่าความปลอดภัย หรือ Provisional tolerable weekly intake (PTWI) เท่ากับ 1.6 µg/kg bw/week จะเห็นว่าปริมาณ การได้รับสัมผัสยังคงต่ำกว่าค่าความปลอดภัยมาก (น้อยกว่า 4,000 เท่า) แสดงว่าการบริโภคปลา สัตว์น้ำ และอาหารทะเลของเด็กไทยและคนไทยยังคงมีความปลอดภัย
ตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนปรอท
"สารปรอท" ปนเปื้อนที่ไหนได้บ้าง
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า สารปรอท มักพบปนเปื้อนอยู่ใน อากาศ น้ำ และดิน เป็นส่วนใหญ่ สาเหตุมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง การเผาขยะ ขยะผลิตภัณฑ์ที่ใช้ตามบ้านเรือน และโรงงานอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังพบ สารปรอทได้ในเครื่องสำอางและอาหาร โดยเฉพาะอาหารทะเล ซึ่งสารปรอทสามารถแบ่งได้ออกเป็นหลายรูปฟอร์ม ได้แก่ โลหะปรอท สารประกอบปรอทอนินทรีย์ และสารประกอบปรอทอินทรีย์ เช่น Methyl Mercury และ Ethyl Mercury
ปกติสารปรอทเมื่อสะสมอยู่ในปลาและสัตว์น้ำอื่น ๆ จะอยู่ในรูปฟอร์มสารประกอบปรอทอินทรีย์ ซึ่งเป็นรูปฟอร์มที่มีความเป็นพิษสูงกว่ารูปฟอร์มอื่น และพบในสัดส่วนประมาณร้อยละ 70
ดังนั้นเมื่อรับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนสารดังกล่าวเป็นระยะเวลานานจะทำให้เกิดการสะสมในร่างกายอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อระบบประสาท ระบบย่อยอาหาร ระบบภูมิคุ้มกัน ปอด ไต และอาจอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับหญิงตั้งครรภ์ ทารกในครรภ์ และเด็กเล็ก ซึ่งเป็นกลุ่มที่เปราะบางที่สุด ต่อการได้รับสัมผัสสารปรอท
จากผลการตรวจวิเคราะห์สารปรอททุกตัวอย่างมีค่าไม่เกินค่ามาตรฐาน แสดงให้เห็นว่าปลา สัตว์น้ำ และอาหารทะเลของไทย ยังอยู่ในระดับที่ปลอดภัย ประชาชนสามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัย
การตรวจวิเคราะห์สารปรอท สัตว์น้ำ
ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 414) พ.ศ. 2563 ออกตามความพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน กำหนดให้มีปริมาณสารปรอทได้ไม่เกิน 0.5 - 1.7 มก./กก. ขึ้นอยู่กับชนิดของปลาและชนิดของอาหาร
สารปรอทหรือโลหะหนักสามารถปนเปื้อนในอาหารได้ แม้การปรุงอาหาร โดยผ่านกระบวนการต่าง ๆ ก็ไม่สามารถลดการปนเปื้อนได้ ดังนั้นควรเลือกบริโภคปลากินพืช เช่น ปลาสลิด ปลานิล ปลาจีน เป็นต้น
และบริโภคปลาผู้ล่าที่มีชีวิตยืนยาวกว่าชนิดอื่น ซึ่งอยู่ในระดับบนของห่วงโซ่อาหาร เช่น ปลาดาบ ปลาทูน่า เป็นต้น แต่พอเหมาะหรือน้อยลง เพื่อลดโอกาสการได้รับสัมผัสการปนเปื้อนปรอทหรือโลหะหนัก
นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารแบบดิบ หรือสุก ๆ ดิบ ๆ โดยเฉพาะปลาน้ำจืดบางชนิด ถือว่ามีความเสี่ยง และไม่ปลอดภัย เพราะเสี่ยงเกิดโรคพยาธิใบไม้ตับได้
พร้อมแนะว่าควรเลือกซื้อปลา สัตว์น้ำ และอาหารทะเลจากตลาดสดหรือสถานที่จำหน่ายที่เชื่อถือได้มีมาตรฐาน สะอาด สด ใหม่ เมื่อซื้ออาหารมาแล้ว หากไม่นำมาปรุงกินทันที ควรล้างทำความสะอาดแยกเก็บใส่ตู้เย็น และก่อนนำมาปรุงอาหาร ต้องล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง ที่สำคัญเน้นปรุงสุกด้วยความร้อน และขอให้ยึดหลัก กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรคอาหารเป็นพิษ และอุจจาระร่วง