พรรคนี้เคยมีหัวหน้าพรรคถึง 4 คน และเลขาธิการพรรคอีก 1 คน ที่ต่อมาได้เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย แต่ครั้งนี้ มีคนแสดงเจตนารมณ์ลงชิงหัวหน้าพรรคเพียงแค่คนเดียว คือ นายอลงกรณ์ พลบุตร รักษาการหัวหน้าพรรค ส่วนคนอื่น ๆ มีเพียงการอ้างแหล่งข่าว แต่ยังไม่ได้ประกาศตัวชัดเจน
ไม่ว่าจะเป็น นายเดชอิศม์ ขาวทอง หรือนายกฯ ชาย บ้านใหญ่สงขลา นายกรณ์ จาติกวณิชย์ อดีตรองนายกฯ ลูกหม้อเก่า ที่เพิ่งลาออกจากหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า มาดามเดียร์ น.ส.วทันยา บุนนาค “ตั๊น” จิตภัสร์ กฤษดากร ดร.เอ้ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯกรุงเทพฯ ของพรรค ดร.อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ที่ทำงานกับนายชวน หลีกภัย ในฐานะที่ปรึกษาประธานรัฐสภา รวมทั้งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค และอดีตนายกฯ
ทั้งหมดนี้ มี “ดร.บิล” ดร.อิสระ ประกาศชัดเจนไม่สนใจลงชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรค รวมทั้งจะไม่รับตำแหน่งใดๆ ในกรรมการบริหารพรรค เช่นเดียวกับ “ตั๊น” จิตภัสร์ ส่วน ดร.เอ้ สุชัชวีร์ ยอมรับว่าได้รับการทาบทาม แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจ
ขณะที่นายอภิสิทธิ์ แม้จะยังไม่พูดชัดเจนว่า จะลงชิงตำแหน่งนี้อีกครั้งหรือไม่ หลังจากเคยเป็นหัวหน้าพรรคมานานถึง 14 ปี ตั้งแต่ปี 2548-2562 แต่ให้สัมภาษณ์ล่าสุดไว้ว่า จะกลับมาเล่นการเมืองอีกครั้ง หากสมาชิกพรรคเห็นควรให้กลับมา และสังคมให้โอกาสทำงาน
อย่างไรก็ตาม คนหนึ่งที่แม้ว่าจะไม่ใช่คนลงสมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค แต่ถูกพูดถึงมากถึงบทบาทต่อการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่หนนี้ คือนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการเลขาธิการพรรค ที่ตกเป็นข่าวว่า อยู่เบื้องหลังความพยายามให้นายเดชอิศม์ ขยับชั้นชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ก่อนที่ในเวลาต่อมา จะมีข่าวทาบทาม ดร.เอ้ ให้ชิงตำแหน่งนี้แทน และสลับให้นายเดชอิศม์ ไปนั่งเก้าอี้เลขาธิการพรรคแทน โดยมี ส.ส.ภาคใต้ส่วนใหญ่ให้การสนับสนุน
ทำให้คู่ชิงสำคัญ จะกลายเป็นนายอภิสิทธิ์ แข่งกับนายสุชัชวีร์ แม้ว่านายอลงกรณ์ ที่ชิงเปิดตัวก่อนใครเพื่อน จะประกาศจุดยืนและเป็นจุดขายหลัก คือหากได้เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์จะสนับสนุนนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี และจะอยู่ในตำแหน่งแค่ 2 ปีในช่วงเปลี่ยนผ่านเท่านั้น
แต่ปัจจัยชี้ขาดสำคัญสำหรับศึกชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คือการออกเสียงของโหวตเตอร์ หรือผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้ง รวมประมาณ 370 คน จากกลุ่มต่าง ๆ แต่พรรคได้กำหนดและให้น้ำหนักกับกลุ่ม ส.ส.ปัจจุบันของพรรคมากถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่กลุ่มอื่น ๆ รวมกันได้สัดส่วนเพียง 30 เปอร์เซ็นต์
จึงเป็นที่มาของการเคลื่อนไหวของนายเชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรค ที่เป็นเอฟซี นายอภิสิทธิ์ นัดรวมพลคนรักประชาธิปัตย์วันที่ 8 ก.ค.นี้ ที่ลานพระแม่ธรณี พร้อมข้อเสนอให้พรรคยกเว้นสัดส่วนเสียงโหวตที่ประชุมใหญ่ 70 : 30 ดังกล่าว ให้เป็น 1 คน 1 เสียงแทนเพื่อความเท่าเทียมของทุกคนถือเป็นการแก้ลำจากฝ่ายคู่แข่ง ที่ให้ยกเว้นข้อบังคับเรื่องอายุการเป็นสมาชิกพรรคของนายสุชัชวีร์ ที่ปกติกำหนดไว้ 5 ปี
เพราะประเมินแล้วว่า หากไม่มีการเปลี่ยนเกณฑ์นี้ จะไม่มีทางเอาชนะคู่แข่งได้เลย และอาจไม่ได้เห็นชื่อนายอภิสิทธิ์ ลงแข่งชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ครั้งนี้ก็เป็นได้
แต่ปัจจัยสำคัญล่าสุด น่าจะอยู่ที่คำให้สัมภาษณ์ของนายชวน หลีกภัย อาจารย์ใหญ่ผู้มากบารมีตัวจริงในพรรค ที่เป็นการเตือนสติคนในพรรคให้เจียมเนื้อเจียมตัว เนื่องจากได้ ส.ส.มาเพียง 25 คน คะแนนบัญชีรายได้เพียง 9 แสนกว่า แม้ในภาคใต้ยังแพ้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ จึงต้องประมาณตัวเอง และคิดได้ว่าควรต้องได้คนแบบไหนมาทำงานแก้ปัญหาให้พรรค
คำกล่าวนี้ไม่ใช่เพียงกระตุกเตือนสติเท่านั้น แต่ยังมีนัยแฝงในที ให้คำนึงถึงภารกิจสำคัญที่ท้าทายของพรรคสำหรับการเดินหน้าต่อไป ไม่ใช่จะหวงและห่วงอำนาจที่มีอยู่ และต้องเดินหน้ายึดหลักการเดิมของพรรค คือเลือกตั้งโดยสุจริต ไม่ซื้อเสียง ซึ่งคนวงนอกคงไม่รู้ว่า หมายถึงใครหรืออะไร แต่คนในพรรคน่าจะรู้ความหมายดี
คำเตือนชุดนี้อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในพรรคประชาธิปัตย์ก็เป็นได้ แต่ตรงกันข้าม หากใบมีดโกนไม่คมกริบเป็นที่เกรงขามเหมือนเมื่อก่อน แม้แต่ในพรรคเอง อนาคตของพรรคประชาธิปัตย์ก็อาจยากเกินกว่าจะคาดเดาได้
วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา