เก้าอี้ทรงคลาสสิกกว่า 100 ปี หรือคนรถไฟจะเรียกว่า “เก้าอี้ทรงไข่” ถูกนำมาวางไว้บนชานชาลา สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ หรือสถานีกลางบางซื่อ เป็นที่แปลกตากับผู้ที่เดินทางมาใช้บริการรถไฟที่สถานีดังกล่าว
วิรัตน์ สมีแจ่ม หัวหน้ากองควบคุมรถเขต 2 พูดถึงการนำเอาเก้าอี้ทรงไข่โบราณมาตั้งไว้ที่สถานีกลางบางซื่อ ว่า จุดเริ่มต้นเกิดจากผู้บริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย เดินทางไปดูงานที่สถานีรถไฟในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ และพบเห็นเก้าอี้ถูกทิ้งไว้ไม่ได้ใช้งาน บางส่วนมีสภาพเสียหาย ไม่สามารถนำมาให้ผู้โดยสารใช้งานได้
เก้าอี้ทรงไข่ชุดนี้จากเชียงราก หลังบำรุงรักษาครั้งสุดท้ายปี 2541 ก็ไม่ได้ถูกใช้งานอีกเลย
จึงเกิดไอเดียที่จะนำเก้าอี้ทรงไข่จากสถานีรถไฟทั่วประเทศ กลับมาคืนชีพซ่อมบำรุงและนำมาวางไว้ที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ให้ผู้โดยสารได้กลับมาใช้งานอีกครั้ง
นายวิรัตน์ กล่าวว่า ทางทีมกองควบคุมรถเขต 2 โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้รวมทีมจากช่างที่พอมีทักษะด้านงานไม้ ใช้เวลาว่างก่อนทำงานและหลังเลิกงาน ช่วยกันซ่อมแซมบำรุงรักษาเก้าอี้ดังกล่าว
เจ้าหน้าที่ใช้เวลาก่อนและหลังเลิกงานซ่อมแซมเก้าอี้ทรงไข่
ปัจจุบันการรถไฟฯ ไม่มีช่างไม้เฉพาะทางแล้ว เแต่ทางทีมงานก็ได้พยายามอย่างเต็มที่ที่จะไม่ปรับเปลี่ยนแบบไปจากของเดิม เนื่องช่างไม้ชำนาญการต่างเกษียณอายุไปหมดแล้ว อีกทั้งรูปแบบงานเปลี่ยนจากงานไม้ เป็นงานเหล็ อุปกรณ์ที่หาได้ง่าย และประหยัดต้นทุนมาใช้งาน
เจ้าหน้าที่จากกองช่างกองควบคุมรถเขต 2 ลงมือซ่อมแซมเก้าอี้ทรงไข่อย่างปราณีต
เก้าอี้ทรงไข่ กลายเป็นอัตลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทยไปแล้ว
จากนี้ทางทีมงานมีแผนให้ทีมสถาปนิกของการรถไฟฯ ออกแบบพื้นที่ภายในสถานีกลางฯ เพื่อจัดพื้นที่ให้เกิดความสวยงามเพิ่มมากขึ้น และหวังให้เป็นจุดแลนด์มาร์กใหม่กับนักท่องเที่ยว เพื่ออนุรักษ์งานไม้โบราณไว้ให้ลูกหลานคนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อไป
ผู้โดยสารนั่งบนเก้าอี้ทรงไข่ รอเวลาเดินทาง