จับกระแสการเมือง : วันที่ 24 ก.ค.2566 “เพื่อไทย” ถกพรรคใหญ่ กระชับ “เงื่อนไข” ตั้งรัฐบาล

การเมือง
24 ก.ค. 66
21:25
632
Logo Thai PBS
จับกระแสการเมือง : วันที่ 24 ก.ค.2566 “เพื่อไทย” ถกพรรคใหญ่ กระชับ “เงื่อนไข” ตั้งรัฐบาล
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ภายหลังอภิปราย ถกเถียง ประท้วง ชี้แจง ฯลฯ กับสารพัดมานานกว่า 7 ชั่วโมง จบลงด้วยไม่มีการเสนอชื่อ “นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นครั้งที่ 2

ด้วยเหตุผล “ผิดข้อบังคับที่ 41” ขณะที่หลายคนพยายามท้วงติงว่า ไม่ผิดรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญก็ใหญ่กว่าข้อบังคับ แต่จนแล้วจนรอดก็โหวตกัน และแพ้ไปจนได้

แต่ก่อนที่จะโหวตใด ๆ นายพิธาลุกขึ้นประกาศคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญเสียเอง ไม่รอประธานรัฐสภา อ่านคำสั่งที่มาถึงก่อนหน้านั้นไม่นาน พร้อมกล่าวคำร่ำลาสมาชิกรัฐสภา และเพื่อน สส.

เมื่อเสนอชื่อนายพิธารอบ 2 ไม่ได้ “สถานการณ์เปลี่ยน”

บ่ายวันรุ่งขึ้น (21 ก.ค.2566) ทั้งพรรคเพื่อไทยและก้าวไกล ต่างประชุมหารือกันภายใน กำหนดทิศทางการเมือง หลัง “พิธา” ไม่ผ่านด่านโหวตนายกฯ ครั้งที่ 2

นี่เป็นสัญญาณว่า ธงนำในการจัดตั้งรัฐบาลจะเปลี่ยนมือจากก้าวไกลมาสู่เพื่อไทยแล้ว แต่ยังไม่มีใครพูดชัด มีเพียงนัดหมายกับสื่อว่า วันที่ 21 ก.ค. “ก้าวไกล” จะมีแถลงข่าวร่วมกับ 8 พรรค

แต่ช่วงสายวันนั้นเอง นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ก็ออกมาแถลงว่า จากการเลือกตั้งเมื่อ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา เป็นการประกาศเจตจำนงที่ชัดเจนว่า ต้องการเปลี่ยนขั้วรัฐบาล ด้วยการเลือกก้าวไกลและเพื่อไทยเป็นอันดับ 1 และ 2 และเป้าหมายของพรรคอันดับ 1 คือการตั้งรัฐบาลให้สำเร็จ

ตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา สถานการณ์ทุกอย่าง ทั้งทุนผูกขาด และสถาบัน บริวาร และหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ให้ก้าวไกล เป็นแกนนำจัดตั้ง โดยนำ ม.112 มาบังหน้า และยังมีการเคลื่อนไหวผ่าน กกต. และศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อยุบพรรคก้าวไกล

ที่ผ่านมา สว. โหวตฝืนมติประชาชน และกล้าขัดหลักการสภา ขัดรัฐธรรมนูญ เปรียบเสมือนการฉีกรัฐธรรมนูญโดยใช้กฎหมู่ เพียงเพื่อต้องการขัดขวาง ไม่ให้นายพิธา เป็นนายกฯ ในรอบ 2 และพรรคก้าวไกลไม่ยอมรับการตีความข้อบังคับดังกล่าว

นายชัยธวัชบอกด้วยว่า พรรคเปิดโอกาสให้พรรคอันดับ 2 เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรคพันธมิตรที่เคยมี MOU และพรรคจะเสนอแคนดิเดตเป็นนายกฯ คนที่ 30 เช่นเดียวกับที่เคยทำกับพรรคก้าวไกล

บ่ายวันนั้น นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมแกนนำ 8 พรรค ร่วมกันแถลงถึงการจัดตั้งรัฐบาล ระบุว่า จะเปิดชื่อแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทย ในวันที่ 26 ก.ค. ขณะที่จะมีการโหวตนายกฯ รอบ 3 วันที่ 27 ก.ค.

ขณะที่ มติ 8 พรรคร่วม เสนอ 3 แนวทาง

1. 8 พรรคร่วม 312 เสียง ดำเนินการขอเสียงจาก สว. ให้ครบ 375 เสียง ซึ่งขาดอีก 63 เสียง การได้มาซึ่งเสียง สว. อาจมีเงื่อนไข เช่น นโยบายแก้ ม.112 ซึ่งพรรคเพื่อไทย จะต้องไปพูดคุยถึงเงื่อนไขนั้น กับพรรคก้าวไกลและที่ประชุมพรรคร่วม
2. กรณีถ้าได้เสียง สว. ไม่พอเพียง ให้พรรคเพื่อไทยไปพูดคุยกับพรรคการเมืองอื่น ๆ ที่เห็นควร เพื่อให้มาซึ่งเสียงสนับสนุน ซึ่งพรรคการเมืองที่จะไปพูดคุยเป็นเสรีภาพของพรรคเพื่อไทย
3. แนวทางอื่น ๆ ที่ประชุมให้พรรคเพื่อไทยเป็นผู้ดำเนินการ

ขณะที่เริ่มมีกระแสท่าทีจากพรรคเสียงข้างน้อยว่า จะไม่ร่วมรัฐบาลด้วย หากพรรคการเมืองนั้น มีนโยบายแก้ไข ม.112 หรือ แตะ ม.112 ซึ่งต่างก็บอกว่า เป็นประโยคเลี่ยงบาลี ไม่ใช่แค่จะอ้างเพื่อ “ขวางพิธา” เป็นนายกฯ เท่านั้น แต่ไม่พูดให้ชัดด้วยว่า “ไม่เอาก้าวไกล” ด้วย

เมื่อภาระนี้ถูกโยนไปที่เพื่อไทย สถานการณ์ก็เริ่มเปลี่ยนแปลง ฉากทัศน์ที่มองยากขึ้นพอๆ กับการทำใจที่ยากขึ้นของเพื่อไทย หรือความรู้สึก “อิหลักอิเหลื่อ” ก็ว่าได้

คำถามของคนในสังคมและบนโซเชียลมีเดียมีทั้งถามว่า “จะเดินต่ออย่างไร” “จะเป็นเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหดหรือไม่” “สามีจะปันใจให้หญิงอื่นหรือไม่” ล้วนมองไม่เห็นคำตอบ

ใกล้จบแถลงวันนั้น ชัยธวัชก็ไม่วายต้องเจ็บเล็กๆ กับเสียงตอบนักข่าวของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย กล่าวว่า ฝ่าย สว. เขาจิ้มมาเลยว่า ถ้ามีก้าวไกลก็ไม่เอาด้วย ชาติไทยพัฒนา ภูมิใจไทยเขาก็บอกแบบนั้น

แต่ผมเห็นว่าก้าวไกลอยู่กับเพื่อไทยมาโดยตลอด ตอนนี้ผมเห็นว่าก้าวไกลก็ต้องสนับสนุน เพื่อไทย ให้ยังมี 151 เสียงอยู่กับเพื่อไทย ก็ต้องเป็นเรื่องที่ก้าวไกลต้องตัดสินใจ ว่าจะทำยังไง เพื่อให้ไปต่อให้ได้ก่อน

เหมือนอยู่บนเรือกลางทะเล เรือจะล่มก็ต้องให้ เด็ก คนแก่ ขึ้นไปก่อน คนหนุ่มสาวจะไปขึ้นก่อน ทิ้งเด็ก คนแก่ได้ยังไง ต้องมีผู้เสียสละเพื่อให้ประชาธิปไตยไปต่อให้ได้

ขณะที่พิธา ซึ่งมีข่าวว่าไปเชียงใหม่ ปล่อยคลิปสั้นบนเฟซบุ๊กเพจ Pita Limjaroenrat - พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ระบุว่า เป็นนายกรัฐมนตรี หรือไม่ ไม่สำคัญ เท่ากับตั้งรัฐบาลยุติสืบทอดอำนาจได้สำเร็จ ขอให้ประชาชนอย่าหมดหวัง ประเทศไทยวันนี้เดินมาไกลและจะไม่มีวันถอยกลับ

วันเสาร์-อาทิตย์ ที่ผ่านมา ความเคลื่อนไหวยังไม่ลดลง บ่ายวันเสาร์ที่ 22 ก.ค. อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กลับไปเยือนถิ่นเก่าเพื่อไทย พร้อมด้วย พิพัฒน์ รัชกิจประการ รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ศักดิ์สยาม ชิดชอบ และลูกชายนายเนวิน ชิดชอบ

ผ่านไป 1 ชั่วโมง เวลา 14.35 น. ทั้งหมดกลับออกมา ก่อนที่อนุทินจะบอกกับสื่อมวลชนที่ไปรอว่า

ภูมิใจไทยไม่ได้อยู่ใน MOU ของ 8 พรรค และบอกกับ นพ.ชลน่านว่า ถ้าจะเข้ามามีส่วนร่วมใด ๆ จะไม่สามารถทำงานร่วมได้ ถ้ายังมีพรรคก้าวไกล ไม่ใช่ความขัดแย้ง แต่มาจากแนวทางการทำงาน ความคิดและวิธีการทำงาน

ช่วงเย็น สุวัจน์ ลิปตพัลลภ รักษาการหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า พร้อมด้วย เทวัญ ลิปตพัลลภ และนายวัชรพล โตมรศักดิ์ ก็เดินทางเข้าพรรคเพื่อไทย และออกมาให้สัมภาษณ์ว่า แนวทางการทำงานส่วนใหญ่ตรงกับพรรคเพื่อไทย เว้นไว้ข้อเดียวคือ การแก้ไข ม.112 ของพรรคที่จะร่วมรัฐบาลด้วย ซึ่งไม่สามารถทำได้

วันอาทิตย์ทั้งพรรคชาติไทยพัฒนา และพลังประชารัฐ ก็มีเสียงออกมาหลังการพูดคุยกับแกนนำพรรคเพื่อไทยว่า พร้อมหนุนพรรคเพื่อไทย หากไม่แก้ไข ม.112 หรือต้องไม่มีพรรคที่แตะ ม.112 ซึ่งเงื่อนไขนี้ หนีไม่พ้นที่จะกล่าวถึงพรรคก้าวไกล

หรือพูดง่ายๆ ก็คือ แทบทุกพรรคสร้างเงื่อนไขเดียวกัน “ไม่ต้องการร่วมรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล”

ล่าสุด พ.ต.ท.กีรป กฤตธีรานนท์ เลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดิน มีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปมเสนอชื่อ พิธา โหวตนายกฯ ซ้ำ ว่าขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ พร้อมทั้งขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งชะลอประชุมเสนอชื่อนายกฯ จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย

เบื้องต้นสิ่งที่ต้องจับตาดูกันต่อไปในเวลาอันใกล้ก็คือ วันที่ 27 ก.ค.นี้ จะมีโหวตนายกรัฐมนตรี รอบที่ 3 หรือไม่ พร้อมกับมีคำตอบที่หลายคนถามตอนนี้ก็คือ “ใครจะเป็นนายกฯ คนที่ 30 ?”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง