ในที่สุด โธมัส ทูเคิล กุนซือสัญชาติเยอรมันวัย 51 ปี ตกลงรับคุมทีมชาติอังกฤษ นับเป็นโค้ชต่างชาติคนที่ 3 ของอังกฤษต่อจาก สเวน โกรัน อีริคสัน และฟาบิโอ คาเปลโล ยอดกุนซือสัญชาติสวีเดนและอิตาลี ตามลำดับ
ถึงแม้จะจรดปากกาเซ็นสัญญาระยะสั้นเพียง 18 เดือน แต่เขาประกาศกร้าวชัดเจนว่า จะเป็นผู้นำพาพลพรรค สิงโตคำราม ประสบความสำเร็จสูงสุดในทุกรายการแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน โดยเฉพาะแชมป์โลก ตามที่ให้สัมภาษณ์กับ BBC Sport ความว่า
อย่างแรกเลย โลกกีฬาไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ ทีมหญิงของเราได้แชมป์โลกมาแล้ว ทีม U-21 ก็เช่นเดียวกัน ไม่มีเหตุผลใด ๆ ที่เราจะไม่เชื่อมั่น บางครั้งเราก็จะต้องดึงตนเองให้พ้นจากประวัติศาสตร์ของเรา และโฟกัสที่กระบวนการฝึกซ้อม ซึ่งจะเริ่มใน ม.ค. ปีหน้า
ทูเคิล บอกว่า จะต้องพิสูจน์ว่า ทีมเราพร้อมมากขนาดไหน ไม่ได้อยากตั้งธงอะไรมาก เพราะไม่ทราบว่าอะไรจะเกิดขึ้น อย่างแรก ในฐานะโค้ช ส่วนตัวเชื่อมั่น ในการเป็นโค้ชที่ได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากสมาคมฟุตบอล เชื่อว่าพวกเรา ทั้งนักเตะและสตาฟฟ์ ได้ใจต่อกัน และทำให้มีแรงสนับสนุนที่ดีตามมา
แม้จะพกความมั่นใจมาเต็มสตรีม แต่ในประวัติศาสตร์ ยังไม่มีกุนซือต่างชาติคนใดที่ประสบความสำเร็จในการคุมพลพรรค ทรีไลออนส์ ไม่ว่าจะเป็น สเวน โกรัน อีริคสัน บรมกุนซือผู้ล่วงลับสัญชาติสวีเดน หรือ ฟาบิโอ คาเปลโล ยอดกุนซือขรัวเฒ่าสัญชาติอิตาลี ออกไปทางล้มเหลวและนำชื่อเสียงมาทิ้งไว้ที่ดินแดนพระอาทิตย์ไม่เคยตกดินทั้งสิ้น
ทำให้การอาจหาญเข้ามารับจ็อบนี้ของทูเคิล จึงเกิดการตั้งข้อคำถามว่า เขาจะเป็นชายผู้ “ลบล้างความล้มเหลว” ในบรรดากุนซือต่างชาติที่ผ่าน ๆ มากับอังกฤษได้หรือไม่
"ความเป็นอังกฤษ" สร้างความ "กดดัน" กุนซือต่างชาติ
ทุกประเทศมี "อัตลักษณ์ (Identity)" ของตนเอง เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้คนนึกถึงขึ้นมาเป็นอย่างแรก หากกล่าวถึงประเทศนั้น ๆ อาทิ ถ้ากล่าวถึงสหราชอาณาจักร จะนึกถึง “เยนเติลแมน (Gentleman)” และหากกล่าวถึงเกาหลีใต้ จะนึกถึง “การทำงานหนักและความโหด” ขณะที่ไทย จะนึกถึง “ความรักสบายและความชิลล์”
แน่นอน สิ่งเหล่านี้ปรากฎในโลกฟุตบอลผ่าน “วิธีการเล่นในสนาม” ทีมชาติเยอรมนี เป็นทีมเขี้ยวลากดิน แพ้ยาก, ทีมชาติเนเธอร์แลนด์ เล่นสวยงามต่อบอลเนียนตา, ทีมชาติอิตาลี เน้นตั้งรับเหนียวแน่น, สำหรับทีมชาติอังกฤษ รับทราบกันว่า เล่นแบบ “สาดบอลยาว” ให้ศูนย์หน้าวิ่งไล่กวดหาโอกาสทำประตูในแดนคู่แข่งเพียงอย่างเดียว หรือที่เรียกว่า “Direct Football”
ส่วนหนึ่งที่อังกฤษเล่นฟุตบอลในลักษณะนี้ เนื่องจากสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศที่เป็นเกาะ ทำให้ความชื้นกระจายตัวไปทุกพื้นที่ในประเทศ มีฝนตกชุกตลอดทั้งปี สนามฟุตบอลพื้นหญ้าจึงเปียกแฉะตลอดเวลา พร้อม ๆ กับใบหญ้าที่ขึ้นยาวเร็วกว่าดินแดนภาคพื้นทวีปยุโรป การจะมาต่อบอลทำชิ่งไป-มา เล่นสวยงาม เลี้ยงหลบ หรือเคลื่อนที่แบบคล่องแคล่ว จึงเป็นไปได้ยาก การโยนบอลยาวและวิ่งไล่จึงได้เปรียบเพราะไม่ต้องให้ลูกบอลสัมผัสพื้นสนาม และลดอาการบาดเจ็บได้ดีอีกด้วย
นักฟุตบอลสัญชาติอังกฤษไม่ว่าจะรุ่นไหน ๆ ต่างมีความคุ้นชินกับวิธีการเล่น เช่นนี้ เสมือน “ดีเอ็นเอ” ฝังอยู่ในตนเอง ดังนั้น ในระดับสโมสรที่เป็นรากฐานการผลิตและพัฒนานักเตะสู่ทีมชาติต่างก็เล่นแบบนี้ เหมือนกันทั้งกระบิ และยิ่งตอกย้ำความสำเร็จไปอีกขั้น ด้วยการที่ทีมชาติอังกฤษคว้าแชมป์โลกปี 1966 โดยการชนะเยอรมนีตะวันตกไป 4-2 ในช่วงต่อเวลาพิเศษ
แม้ว่า อังกฤษจะไม่ประสบความสำเร็จใด ๆ อีกเลยนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แต่สิ่งที่ยังคงแฝงฝังอยู่ คือ “ความเป็นอังกฤษ” ว่าด้วย การเล่นแบบ Direct Football ซึ่งเป็นเรื่องยากมาก ๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เป็นมาตั้งแต่อดีต ไม่ว่ากุนซือผู้นั้นจะเก่งกาจมาจากที่ใดก็ตาม แม้สมาคมฟุตบอลอังกฤษจะพยายามสร้างความเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ แก่ทีมชาติ โดยการนำเข้ากุนซือต่างชาติเข้ามาเพื่อหวังให้เกิดการล้างบางความเป็นอังกฤษ แต่ก็จบลงที่ความล้มเหลว
เริ่มด้วย สเวน โกรัน อีริคสัน บรมกุนซือที่ประสบความสำเร็จมามากมาย โดยเฉพาะการคุมลาซิโอ แห่งอิตาลี ได้แชมป์ ยูฟา คัพ วินเนอร์ส คัพ และยูฟา ซุเปอร์คัพ โดยการเปลี่ยนแปลงวิถีของฟุตบอลอิตาลี จากที่เน้นเกมรับแบบเหนียวแน่น มาสู่การเล่นเกมรุกสุดสะเด่าเร้าใจ แต่ไม่ได้ทำลายเกมรับซึ่งก็คือความเป็นอิตาลีให้สิ้นไป นับเป็นผู้ปฏิรูปอย่างแท้จริง และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เข้ามาทำงานกับพลพรรคสิงโตคำรามในปี 2001
ยิ่งไปกว่านั้น อังกฤษยุค 2000 ถือเป็น “Golden Generation” ที่มีทั้ง ซุเปอร์สตาร์นาม เดวิด เบ็คแฮม แห่งเรอัล มาดริด ยอดกองกลางทั้ง 3 นามว่า พอล สโคลส์ แห่งแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด แฟรงค์ แลมพาร์ด แห่งเชลซี และสตีเวน เจอร์ราร์ด แห่งลิเวอร์พูล หรือยอดกองหน้าวันเดอร์คิดนาม ไมเคิล โอเวน แห่งลิเวอร์พูล ถือได้ว่า สเวนมี “ทุนทรัพยากรมนุษย์” ที่เพียบพร้อมอย่างมาก
แต่ผลงานกลับไม่เป็นไปดังที่คาดหวัง ทั้งที่มีความพร้อมมากกว่าทีมชาติอื่น ๆ Golden Generation ไม่สามารถไปถึงแชมป์ใด ๆ ได้เลย พร้อมกับคำครหาสเวนว่าทำทีมฟุตบอลได้คร่ำครึ การเล่นยังคงเป็นแบบเดิม ๆ เน้นโยนยาวไปวิ่งไล่ ไม่มีการพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงใด ๆ ผู้คนต่างโทษสมาคมว่า “ตัดสินใจผิดพลาด” ที่นำเข้าสเวนมาคุมทัพ เรื่องนี้ ส่งผลต่อจิตใจของสเวนอย่างมาก ดังที่เขาเปิดเผยในสารคดีของตัวเขาใน Amazon Prime ก่อนเสียชีวิตว่า
ผมเสียใจ เสียใจอย่างมาก ผมมีทีมที่ดี นักเตะที่ดี องค์ประกอบที่ดี แต่ผลลัพธ์ที่ออกมา ผมก็ไม่ทราบว่าเป็นเช่นนี้ได้อย่างไร … ผมคาดว่าเป็นเรื่องของสภาพจิตใจมากกว่าความสามารถหรือแท็คติก ปี 1966 ผ่านมานานแล้ว เราต้องมีหมุดหมายใหม่ ๆ … ในอังกฤษ หากทำทีมไม่ชนะในทัวร์นาเมนต์ใหญ่ ผู้คนจะวิพากษ์อย่างสาดเสียเทเสีย ผู้ที่จะมารับงานนี้ต้องจิตใจกล้าแกร่งอย่างมาก
ต่อมาได้นำเข้า ฟาบิโอ คาเปลโล กุนซือขรัวเฒ่าสัญชาติอิตาลี ที่ได้สมญาว่าเป็นตำนานแห่งฟุตบอลแดนพาสตา จุดเด่นในการคุมทัพของเขา คือ การให้ความสำคัญกับ “ปฏิบัตินิยม (Pragmatism)” นั่นคือไม่สนวิธีการ สนเพียงผลลัพธ์ เล่นไม่ดีแต่ชนะเป็นพอ ทำให้เขามีอัตราการได้รับชัยชนะที่สูงเกินกว่าร้อยละ 60 จากการคุมทีมทั้งหมดในชีวิต
รายละเอียดการเล่นไม่สวยงามแต่เขาก็ประสบความสำเร็จกับสโมสรยักษ์ใหญ่ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น เอซี มิลาน ยูเวนตุส หรือเรอัล มาดริด ทำให้สมาคมฟุตบอลอังกฤษมีความหวังในตัวเขาว่าจะกู้สถานการณ์ที่ย่ำแย่ของทีมชาติให้จงได้ หลังจากตกรอบคัดเลือกฟุตบอลยูโร 2008 แบบเละไม่เป็นท่า
แม้จะมีประสบการณ์มาอย่างโชกโชน แต่ปัญหาหลักของคาเปลโล คือ การใช้ภาษาอังกฤษที่เข้าขั้นหายนะ ยิ่งในโลกฟุตบอลที่ต้องสื่อสารให้ชัดเจนเพื่อเข้าใจตรงกัน หากใช้ภาษาที่แย่ตั้งแต่เริ่มต้น ทีมก็ถึงฆาตได้โดยง่าย ครั้งหนึ่ง เวย์น รูนีย์, สตีเฟน เจอร์ราร์ด และแฟรงค์ แลมพาร์ด ตั้งใจฟังแท็คติกคาเปลโล แต่เขากลับกล่าวว่า “พวกคุณเป็นนักเตะที่โคตรเจ๋ง” ไปเสียอย่างนั้น
และด้วยการสื่อสารที่มีปัญหา คาเปลโลจึงพยายามซื้อใจนักเตะอังกฤษด้วยการนำสิ่งของหรูหราและใช้มาตรการผ่อนปรนสำหรับนักเตะที่เก็บตัวฝึกซ้อมอยู่ในแคมป์ เช่น การมีห้องเล่นเกม หรืออนุญาตให้ภรรยาหรือญาติ ๆ เข้ามานอนในแคมป์ได้ ปีเตอร์ เคราช์ หนึ่งในนักเตะชุดลุยศึกฟุตบอลโลก 2010 ออกมาเปิดเผยว่า คาเปลโลสร้าง “เรือนจำสุดหรูหรา” ให้แก่พวกเขาชัด ๆ
ด้วยปัญหาด้านการสื่อสารและการตามใจมากเกินไป ทำให้ผลงานของอังกฤษยิ่งดิ่งลงเหวมากขึ้น การตกรอบน็อกเอาท์โดยแพ้เยอรมนีแบบสู้ไม่ได้ถึง 1-4 ในฟุตบอลโลก 2010 คือ ความอัปยศถึงขีดสุด และไม่ได้ช่วยให้วิธีการเล่นของอังกฤษพัฒนาขึ้นแต่อย่างใด
จะเห็นได้ว่า 2 กุนซือต่างชาติไม่สามารถที่จะท้าทายหรือปรับแปรความเป็นอังกฤษที่ติดตัวมานานได้ หลังจากนั้น สมาคมได้จ้าง รอย ฮ็อดจ์สัน กุนซือระดับตำนานสัญชาติอังกฤษเข้ามาแก้ไขปัญหาที่สองกุนซือต่างชาติทิ้งไว้
โดย “ปู่รอย” ได้แสดงออกชัดเจนว่าทีมชาติต้องคงเอกลักษณ์การเล่นบอลโยนไว้ ไม่ควรไปเปลี่ยนแปลงอะไร แม้ทั่วทั้งโลก เมื่อปี 2015 กำลังนิยมการเล่นเกมรุกและการต่อบอลที่ดุดันแบบบาร์เซโลนาและทีมชาติสเปน ทำให้การเล่นของทีมชาติอังกฤษในมือของปู่รอยนั้น “ชวนง่วง” อย่างมาก
แม้เขาจะพาอังกฤษตกรอบแรกฟุตบอลโลก 2014 แบบไม่ชนะใคร และแพ้ไอซ์แลนด์ 1-2 ในรอบน็อกเอาท์ฟุตบอลยูโร 2016 แบบเหลือเชื่อ แต่การคงความเป็นอังกฤษในการเล่น ทำให้อังกฤษกำเนิดศูนย์หน้าสุดอันตรายนามว่า แฮรี่ เคน ที่ถึงแม้ทีมจะแย่เพียงใด แต่เขาก็ยิงประตูเป็นกอบเป็นกำและเข้าใกล้การทำลายสถิติของทีมชาติทีละน้อย
“ฟุตบอลร่วมสมัย” ท้าทายความเป็นอังกฤษ
หนังสือ Inverting The Pyramid: The History of Soccer Tactics เขียนโดย โจนาธาน วิลสัน ได้ชี้ให้เห็นอิทธิพลของ “เสรีนิยมใหม่ (Neoliberalism)” ต่อฟุตบอลร่วมสมัย ซึ่งใจความหลักคือ “การแทนกันได้” ของผู้เล่น ศูนย์หน้า แผงกลาง หรือกองหลัง ไม่ได้ยืนทื่อ ๆ ตามตำแหน่งแบบตายตัว แต่จะต้องทำหน้าที่อื่น ๆ ตามมาด้วย อาทิ ศูนย์หน้าจะต้องลงมาช่วยเกมรับ แผงกลางต้องเติมเกมรุกไปทำประตู หรือกระทั่งผู้รักษาประตูต้องออกบอล ทำเกม เป็นอีกหนึ่งเพลย์เมกเกอร์
ด้วยเหตุนี้ แท็คติกฟุตบอลจึงต้องเปลี่ยนแปลงให้สอดรับกับสิ่งดังกล่าว อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นักฟุตบอลจะต้อง “เก่งรอบด้าน” เพิ่มขึ้นเพื่อให้เป็นตัวเลือกแรก ๆ ของตลาดแรงงาน และสิ่งนี้เป็นปรากฏการณ์ระดับโลก ไม่ว่าประเทศไหน ๆ ก็จะต้องมีการปรับตัวให้เป็นอย่างที่กล่าวมาทั้งนั้น หมายความว่า เส้นแบ่งของอัตลักษณ์ทางฟุตบอลย่อมเบาบางลง ไม่มีการแบ่งแยกความเป็นชาตินั้น ๆ “ไม่มีเขา ไม่มีเรา” อีกต่อไป เพราะไม่ว่าใครก็จะต้องอยู่รอดในโลกแบบเสรีนิยมใหม่ทางฟุตบอลทั้งสิ้น
เราจึงเห็นโค้ชหรือนักฟุตบอลสัญชาติอังกฤษออกไปทำมาหากินนอกประเทศมากยิ่งขึ้น ทั้งที่แต่ก่อนจะหากินอยู่ในสหราชอาณาจักรเท่านั้น และเป็นไปไม่ได้เลยที่จะออกจาก Comfort Zone จากสิ่งที่ตนเองเป็น
ไม่ว่าจะเป็น แกรห์ม พ็อตเตอร์ ที่ข้ามน้ำข้ามทะเลไปหากินที่สวีเดนกับสโมสรออสแทซุนด์ ยาวนานถึง 7 ปี (2011-2018) โดยปลุกปั้นทีมจากระดับชนบทสู่ระดับยุโรป โดยสามารถเอาชนะอาร์เซนอลในรายการ ยูฟา ยูโรปา ลีก 2017-2018 ได้ 2-1 (แต่ตกรอบด้วยสกอร์รวม 2-4) ก่อนจะกลับมาปลุกปั้น ไบร์ทตัน จากทีมระดับรองบ่อน สู่ทีมลุ้นพื้นที่ฟุตบอลยุโรปได้แบบไม่เคอะเขิน ไม่เกรงกลัวบารมีของยักษ์ใหญ่ในอังกฤษเลยทีเดียว
โดยรูปแบบการเล่นของพอตเตอร์นั้น ไม่ได้มีความเป็นอังกฤษแม้แต่น้อย เขาสร้างให้ลูกทีมเน้น “เพรสซิง” วิ่งไม่มีหมด ความฟิตเต็มถัง และทำเกมรุกเข้าไล่อัดคู่ต่อสู้อย่างบ้าคลั่ง ซึ่งเขาได้ปลุกปั้นนักเตะจากโนเนมให้โด่งดังมากมาย ไม่ว่าจะเป็น เลอันโดร ทรอสซาร์, อีฟ บิสซูมา, มอยเซส ไคเซโด หรือกระทั่ง คาโอรุ มิโตมะ สตาร์ชาวญี่ปุ่น
เรื่องราวของ วิลล์ สติลล์ คล้ายคึงกัน เพราะโค้ชชาวอังกฤษที่มีวิถีการคุมทีมแบบเพรสซิงเช่นกัน เขาเปลี่ยนสโมสรแรงส์ จากทีมลุ้นหนีตกชั้น ให้กลายเป็นลุ้นพื้นที่ยุโรปในลีก เอิง ของฝรั่งเศสได้แบบสบาย ๆ และตอนนี้เขาได้ย้ายไปคุมทีมล็องส์ เพื่อลุ้นแย่งแชมป์ลีกได้เลยทีเดียว
แม้กระทั่ง แกเร็ธ เซาท์เกต กุนซือทีมชาติอังกฤษที่เพิ่งโดนปลดไป ก็ได้ติดตั้งการเล่นแบบเพรสซิงแก่ลูกทีม ทั้งที่เขาเกิด เติบโต เล่นฟุตบอล และทำงานด้วยวิถีความเป็นอังกฤษมาทั้งชีวิต แสดงให้เห็นชัดเจน ว่า เส้นแบ่งของสิ่งดังกล่าว เบาบางลงจริง ๆ แม้ผลงานของเขาจะไม่ถึงฝั่งฝัน จบด้วย “ดับเบิ้ลรองแชมป์” ในยูโร 2020 และ 2022 แต่อังกฤษถือว่ามาไกลจากยุค 2000 มาก ๆ และทำให้แฟนบอลมีลุ้นอย่างต่อเนื่อง
ด้านนักเตะสัญชาติอังกฤษก็เช่นเดียวกัน ในยุคก่อนหน้า แทบจะไม่มีใครกล้าออกไปค้าแข้งยังต่างประเทศ หรือออกไปก็ไม่ประสบความสำเร็จ แต่ปัจจุบันมีมากขึ้น เช่น คริส สมอลลิ่ง ที่ย้ายจากแมนยูฯ ไปค้าแข้งที่โรมา จนกลายเป็นตำนานด้านเกมรับที่แข็งแกร่ง วิ่งไม่มีหมด เสมือนว่าเกิดที่อิตาลี หรือ จู๊ด เบลลิงแฮม กองกลางวันเดอร์คิดส์ที่สามารถค้าแข้งที่เยอรมนีกับโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ และสเปนกับเรอัล มาดริด ได้อย่างไม่เคอะเขิน ราวกับเกิดในเยอรมนีและสเปน พร้อมกับคว้าแชมป์ ยูฟา แชมเปียนส์ ลีก มาครองในปี 2024 เรียบร้อย
นี่จึงเป็นเรื่องที่ใหญ่มากด้านการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดทางฟุตบอลที่ไม่ได้แตกต่างกัน เพราะขนาดเดวิด เบ็คแฮม ตำนานทีมชาติระดับซุเปอร์สตาร์ ที่ดีกรีมากกว่าที่กล่าวอยุ่หลายขุม ก็ยังล้มเหลวในการค้าแข้งต่างแดนกับเรอัล มาดริด หรือเอซี มิลาน เลยทีเดียว
ทูเคิล “คุมสตาร์” ชิงความได้เปรียบ ?
เมื่อเส้นแบ่งระหว่างอัตลักษณ์ของชาตินั้น ๆ ได้เลือนลางลง ไม่ว่าชาติไหน ๆ ก็มีวิธีคิดที่คล้ายคลึงกันตามหลักการของเสรีนิยมใหม่ สิ่งที่ตามมา เพื่อสร้างความแตกต่างอยู่ที่ “ฝีมือทางแท็คติก” ล้วน ๆ ในเมื่อนักเตะพร้อมวิ่งสู้ฟัด และทำทุกอย่างในสนามอย่างเต็มที่ทุกคน ความต่างด้าน “กึ๋น” เพียงเล็กน้อยย่อมถือว่าได้เปรียบไปหลายขุม
ทูเคิล ถือเป็นเจ้าแห่งการปกครองสตาร์ดังคนหนึ่งในวงการฟุตบอล ไม่ว่าจะไปคุมทีมใด สิ่งแรกที่ทำ คือ ให้ผู้เล่นสามารถที่จะเข้าใจ สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นในสนามได้ทุกเมื่อ โดยไม่ได้ยัดแท็คติกที่มีความสลับซับซ้อนจนเกินไป เนื่องจากนักเตะมีความเข้าใจเรื่องการวิ่งสู้ฟัดและการแทนกันได้เป็นทุนเดิม เขาก็เพียงแต่จัดระเบียบความสำคัญในการเล่น โดยให้กองกลาง 3 คนมีหน้าที่ชัดเจน มี 1 ตำแหน่งเล่นเกมรับ ส่วนอีก 2 ตำแหน่งปล่อยฟรีในการทำเกมรุกหรือวิ่งไล่บอล
เมื่อกำหนดตำแหน่งที่ตายตัว ทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำในสนามจะหมุดรอบกองกลาง หากตรงกลางเสียเปรียบ ทุกตำแหน่งจะวิ่งเข้ามาช่วยเหลือในทันที ส่วนกองกลางต้องทำให้ตนเองได้เปรียบมากที่สุดเพื่อให้การเล่นของทีมไหลลื่น หมาย ความว่า เขาไม่ได้สร้างภาระในการสร้างสรรค์เกมรุกของลูกทีมในการทำประตู
สิ่งนี้ ทำให้เกิดความได้เปรียบในการควบคุมผู้เล่นที่เป็นสตาร์ดังของทีม เพราะเขาไม่ได้ทำตนแบบสั่งการมากจนเกินไป แต่ก็ไม่ได้ปล่อยปละละเลยเสียจนสตาร์ใหญ่กว่าเขา แรงกดดันภายในทีมย่อมลดลง ผลงานในสนามก็ออกมาดังที่ตั้งเป้าหมายไว้ ทำให้ไม่ว่าไปที่ไหนย่อมมีแชมป์ติดมือมาเสมอ ไม่ว่าจะเป็น โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ปารีส แซงต์ แชร์กแมง เชลซี หรือบาเยิร์น มิวนิก
ทีมชาติอังกฤษในตอนนี้ เป็นช่วงขาขึ้นจากยุคของเซาท์เกธ มีสตาร์ล้นทีม บางทีการใช้กุนซือที่เป็นเทพเจ้าแท็คติก แต่ไม่มีศาสตร์ในการบริหารสตาร์ ย่อมทำให้การต่อยอดออกมาได้ยากมาก กลับกัน ทูเคิลพิสูจน์ตนเองมาแล้วในอังกฤษกับเชลซี ที่พาคว้าแชมป์ยุฟา แชมเปียนส์ ลีก มาได้สำเร็จในปี 2021 และมีบารมีมากพอที่จะ “เอาอยู่” ได้ นับเป็นความน่าสนใจสำหรับสมาคมฟุตบอลอังกฤษที่ยอมเสี่ยงกับโค้ชเยอรมนีผู้นี้
แหล่งอ้างอิง: Inverting The Pyramid: The History of Soccer Tactics, Coaches’ Voice, The Athletic, Main Stand, Main Stand, Total Football Analysis, The Tactical Times
อ่านข่าว
ชนาธิป ยิงประตูชัย ไทย แซงชนะ ซีเรีย 2-1 คว้าแชมป์คิงส์คัพ