ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กางความหมายและที่มา "ผู้ตรวจการแผ่นดิน"

การเมือง
25 ก.ค. 66
11:41
5,206
Logo Thai PBS
กางความหมายและที่มา "ผู้ตรวจการแผ่นดิน"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ผู้ตรวจการแผ่นดิน คือ บุคคลที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา เป็นผู้ที่ประชาชนให้การยอมรับ มีความรอบรู้ ประสบการณ์ในการบริหารราชการแผ่นดิน วิสาหกิจ หรือกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ร่วมกันของสาธารณะ มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์

ในอดีตรูปแบบการเมืองการปกครองของไทยที่เก่าแก่และยืนยาวที่สุด ก็คือ ระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยสมัยพ่อขุนรามคำแหง

ที่ปากประตูเมืองจะมีกระดิ่งแขวนไว้ให้ประชาชนที่ทุกข์ร้อนข้องใจมาสั่นกระดิ่ง
และเมื่อพ่อขุนรามคำแหงผู้เป็นเจ้าเมืองได้ยินก็จะเรียกมาถาม
และพิจารณาตัดสินหาความชอบธรรมให้

ที่มาผู้ตรวจการแผ่นดิน

เมื่อมีการพัฒนาการเมืองการปกครอง ความใกล้ชิดระหว่างผู้มีอำนาจบริหารระดับสูงกับราษฎรมีความเหินห่างมากขึ้น อีกทั้งความสลับซับซ้อนในวิธีปฏิบัติทางการปกครองเพิ่มขึ้น จึงเกิดแนวความคิดที่จะควบคุมฝ่ายบริหารโดยผ่านกลไกพิจารณาตรวจสอบหรือการรับเรื่องราวร้องทุกข์ของฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งถือว่าเป็นผู้แทนที่ ได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชน

ในปี พ.ศ.2517 คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้มี "ผู้ตรวจราชการแผ่นดินของรัฐสภา" ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปีพุทธศักราช 2517 แต่ในขั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีการปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญโดยตัดส่วนของผู้ตรวจการแผ่นดินออกไป

หลังจากนั้นในปี 2538 จึงเกิดแรงผลักดันอย่างจริงจังในการบัญญัติสถาบันผู้ตรวจการรัฐสภา ไว้ในรัฐธรรมนูญของประเทศไทย โดยแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญพุทธศักราช 2534 ฉบับที่ 5 ปีพุทธศักราช 2538 โดยบัญญัติในมาตรา 162 ทวิ ดังนี้

พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งผู้ตรวจการรัฐสภามีจำนวนไม่เกินห้าคน
ตามมติของรัฐสภาและให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับ
สนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งผู้ตรวจการรัฐสภา

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากมีกระแสผลักดันให้มีการปฏิรูปการเมือง จนกระทั่งได้นำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 ฉบับที่ 6 แก้ไขเพิ่มเติมพุทธศักราช 2539 โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 211 ในเรื่องการตั้งคณะกรรมการสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้น การจัดตั้งระบบผู้ตรวจการแผ่นดินจึงประสบความสำเร็จโดยใช้ชื่อว่า "ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา"

และได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 หมวด 6 รัฐสภา ส่วนที่ 7 ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา มาตรา 196 มาตรา 197 และมาตรา 198 และกำหนดให้มีการตราพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา เพื่อรองรับและกำหนด รายละเอียดในการปฏิบัติ ซึ่งรัฐสภาก็ได้ให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว และประกาศใช้เป็นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่า ด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา พ.ศ. 2542 ขึ้น

อ่าน : ผู้ตรวจฯ ถกพิจารณาคำร้องส่งศาล รธน. ตีความปมเสนอชื่อ "พิธา" ซ้ำ

ความหมายของผู้ตรวจการแผ่นดิน

คำว่า "Ombudsman" หรือ "ออมบุดสแมน" ในภาษาสวีดิช หมายถึง "ผู้แทน" หรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจในการตรวจการ หรือกระทำการต่างๆ สำหรับประเทศไทย "ผู้ตรวจการ" ดัดแปลงมาจากคำว่า "ผู้ตรวจราชการ" (Inspector) ซึ่งในวิชาบริหารถือว่าเป็นผู้ช่วยผู้บริหารชั้นสูงคอยตรวจแนะนำ (ไม่ใช่สืบสวนเพื่อเอาผิด) แล้วรายงานให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาสั่งการเอง 

ผู้ตรวจการแผ่นดินมีจำนวน 3 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากผู้ซึ่งได้รับการสรรหาโดยคณะกรรมการสรรหา ผู้ซึ่งได้รับการสรรหา ต้องเป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมีความรู้ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน ไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าหรือหัวหน้าหน่วยงานของรัฐที่เทียบได้ไม่ต่ำกว่ากรมตามที่คณะกรรมการสรรหาประกาศกำหนด

  1. ต้องดำรงตำแหน่งดังกล่าวเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี จำนวน 2 คน
  2. เป็นผู้มีประสบการณ์ในการดำเนินกิจการอันเป็นสาธารณะมาแล้วไม่น้อยกว่า 20 ปี จำนวน 1 คน
ผู้ตรวจการแผ่นดินมีวาระการดำรงตำแหน่ง 7 ปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง
และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว 

6 เม.ย.2560 ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 โดยได้บัญญัติมาตรา 230 ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินมีหน้าที่ดังต่อไปนี้

  1. เสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคําสั่ง หรือขั้นตอนการปฏิบัติงานใดๆ บรรดาที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรม แก่ประชาชน หรือเป็นภาระแก่ประชาชนโดยไม่จําเป็นหรือเกินสมควรแก่เหตุ
  2. แสวงหาข้อเท็จจริงเมื่อเห็นว่า มีผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรม อันเนื่องมาจากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือปฏิบัตินอกเหนือหน้าที่และอํานาจตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ให้ขจัดหรือระงับความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมนั้น
  3. เสนอต่อ ครม. ให้ทราบถึงการที่หน่วยงานของรัฐยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ
  4. ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ไม่ดําเนินการตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินตามข้อ 1 หรือข้อ 2 โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินแจ้งให้คณะรัฐมนตรีทราบเพื่อพิจารณาสั่งการ ตามที่เห็นสมควรต่อไป
  5. ในการดําเนินการตามข้อ 1 หรือข้อ 2 หากเป็นกรณีที่เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติดําเนินการต่อไป

มติผู้ตรวจฯ ยื่นศาล รธน. ชะลอโหวตนายกฯ รอบ 3 รอชี้ขาดปมเสนอชื่อ "พิธา" ซ้ำ

ผู้ตรวจการแผ่นดินอาจเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองได้ เมื่อเห็นว่ามีกรณีดังต่อไปนี้

  1. บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ให้เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ และให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยโดยไม่ชักช้า ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ
  2. กฎ คําสั่ง หรือการกระทําอื่นใดของหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีปัญหา เกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ให้เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลปกครอง และให้ศาลปกครองพิจารณาวินิจฉัยโดยไม่ชักช้า ทั้งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง
3 รายชื่อผู้ตรวจการแผ่นดิน

3 รายชื่อผู้ตรวจการแผ่นดิน

3 รายชื่อผู้ตรวจการแผ่นดิน

ปัจจุบันมีผู้ตรวจการแผ่นดินทั้งหมด 3 คน ประกอบด้วย

  1. นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน
  2. รศ.อิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน
  3. นายทรงศัก สายเชื้อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน

ส่วน พ.ต.ท.กีรป กฤตธีรานนท์ เป็นเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน

อ่าน : อาจารย์นิติศาสตร์ 19 สถาบัน ร้องยกเลิกมติ "ข้อบังคับ" ใหญ่กว่า "รธน."

ที่มา : สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง