กำลังติดกับดักทำสมาร์ทโฮมแต่สุดท้ายใช้ไม่ได้จริง หรือแทนที่จะทำให้ชีวิตสะดวกสบายขึ้นแต่กลับทำให้ทุกอย่างยุ่งยากกว่าเดิมอยู่หรือเปล่า ? เชื่อว่าหลายคนที่กำลังพยายามทำบ้านของตัวเองให้เป็นสมาร์ทโฮมผ่านอุปกรณ์ไอโอที (IoT) หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่สั่งงานได้ผ่านแอปพลิเคชัน น่าจะเคยเจอปัญหากวนใจในการเลือกซื้ออุปกรณ์ หรือแนวทางการใช้งานอุปกรณ์เหล่านี้ในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นบนแพลตฟอร์มของแอปเปิลโฮมคิต (Apple HomeKit) หรือแอมะซอนอเล็กซา (Amazon Alexa) ก็ตาม
เราอาจเลือกซื้ออุปกรณ์มั่วจนเครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละชิ้นมีแอปพลิเคชันเป็นของตัวเอง หรืออาจวางระบบเน็ตเวิร์ก (Network) ไม่ดีจนอุปกรณ์ที่มากเกินไปทำให้อุปกรณ์บางตัวถูกตัดการเชื่อมต่อ (Disconnected) จนไม่สามารถใช้งานได้และสร้างความวุ่นวายจนรู้สึกว่าเดินไปใช้มือกดเองสะดวกกว่า
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเนื่องจากเทคโนโลยีเหล่านี้ยังใหม่ และเราอาจเป็นกลุ่มผู้ใช้งานแรก ๆ ทำให้การพบเจอกับคำถามและอุปสรรคอาจเป็นเรื่องธรรมดา วันนี้ Thai PBS Sci & Tech ได้มีข้อเสนอแนะสำหรับใครที่อยากทำสมาร์ทโฮมให้ใช้งานได้จริงในบ้านของเรา
1. รู้จักเทคโนโลยี และควบคุมมันไม่ให้มันควบคุมเรา
อย่างแรกคือ เราต้องเข้าใจตัวสินค้า เข้าใจแพลตฟอร์ม และเข้าใจผู้ผลิต ศึกษาหาข้อมูลก่อนเลือกซื้อสินค้ากลุ่มสมาร์ทโฮม เพื่อป้องกันปัญหาหากเราซื้อมาแล้วแต่พบว่าไม่ตรงกับความต้องการของเราในภายหลัง
2. รู้เป้าหมายว่าทำไปเพื่ออะไร
เราต้องเชื่อว่าในการวางระบบสมาร์ทโฮมนั้น เราไม่ได้ทำเพราะอยากให้บ้านเป็นสมาร์ทโฮม แต่เพราะเรามีโจทย์ที่อยากจะแก้ไข เช่น เรามักลืมปิดไฟหลังออกจากห้องน้ำ สมาร์ทโฮมจะเข้ามาแก้ไขปัญหานี้ให้เราได้อย่างไร ไม่เช่นนั้นเราจะมัวแต่แก้ไขปัญหาที่ไม่มีอยู่จริง
3. รู้ว่าทำให้ใครใช้
ทำความเข้าใจพฤติกรรมของผู้ใช้เพื่อออกแบบประสบการณ์ในการใช้งานให้เหมาะสมกับคนในบ้าน เช่น หากในบ้านมีผู้ที่ยังชินกับการใช้สวิตช์เปิดปิดไฟแบบดั้งเดิม ก็อาจจะต้องเลือกสวิตช์แบบสมาร์ท แทนที่การใช้หลอดไฟแบบสมาร์ท หรือหากเลือกใช้หลอดไฟแบบสมาร์ทเช่น ฟิลิปส์ฮิว (Philips Hue) ก็อาจจะต้องติดตั้งสวิตช์ติดผนังด้วย เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขและไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องปรับตัวมากเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดการต่อต้านสิ่งใหม่
4. เลือกแพลตฟอร์มที่เหมาะสมกับตัวเอง
การเลือกแพลตฟอร์มหลังจากที่ศึกษาแล้วว่าเหมาะสมกับบ้านของเราเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะมันจะทำให้เรามีเป้าหมายในการวางระบบ เช่น หากเลือกแล้วที่จะอยู่ในแพลตฟอร์มของแอปเปิล เราก็จะศึกษาลงลึกในรายละเอียดว่าควรจะวางระบบอย่างไร เหมาะกับเราที่ใช้โทรศัพท์ไอโฟนอย่างไร หรือหากเลือกที่จะใช้งานแพลตฟอร์มกูเกิล หรือแอมะซอน ต้องเลือกใช้อุปกรณ์อย่างไร ถ้าใช้ไอโฟนเป็นหลักจะยังใช้งานอย่างไรให้ราบรื่นที่สุด
5. ไม่ออกนอกลู่นอกทาง
เมื่อเลือกแพลตฟอร์มที่เป็นเสมือนบ้านแล้ว ก็ต้องไม่ออกนอกลู่นอกทาง เวลาเลือกซื้ออุปกรณ์ก็ต้องเลือกให้ตรงกับแพลตฟอร์มของเรา บางครั้งเราอาจคิดว่าแค่ชิ้นเดียวไม่เป็นไร หลอดไฟหนึ่งหลอดไม่จำเป็นต้องเป็น ฟิลิปส์ฮิวก็ได้ แต่นั่นก็จะนำไปสู่การซื้อของที่สุดท้ายจะทำให้ของใช้ในบ้านไม่มีมาตรฐานเดียวกัน
6. รักษาอุปกรณ์และระบบการเชื่อมต่อให้สุขภาพดีอยู่เสมอ
อินเทอร์เน็ตและระบบเน็ตเวิร์กเป็นหัวใจสำคัญของสมาร์ทโฮม ควรรู้ความสามารถของเราเตอร์ที่ตัวเองใช้ รองรับอุปกรณ์ได้กี่ตัว มีข้อจำกัดอะไรบ้าง พร้อมหมั่นดูแลทั้งความปลอดภัยและความเสถียรให้กับระบบเน็ตเวิร์กในบ้าน
7. มีความเป็นแฮกเกอร์
จุดเริ่มต้นของสมาร์ทโฮมคือการทำสิ่งที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้น จะทำอย่างไรให้ม่านเปิดเองได้ จะทำอย่างไรให้เครื่องปรับอากาศปิดเองได้หากไม่มีคนอยู่บ้าน ทั้งหมดนี้ล้วนมีที่มาจากแนวคิดความอยากสะดวกสบาย จึงใช้เทคโนโลยีมาแก้ปัญหา หรือเป็นการทำให้สิ่งที่คนอื่นอาจต้องใช้เวลานานให้เราสามารถทำได้ในเวลาอันสั้น สะดวก รวดเร็วที่สุดนั่นเอง เราเรียกสิ่งนี้ว่าเป็นวัฒนธรรมแฮกเกอร์ ซึ่งแฮกเกอร์ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงผู้เจาะระบบคอมพิวเตอร์ แต่หมายถึงการเป็นนักสร้าง นักหาทางออกในแบบที่คนอื่นอาจคิดไม่ได้นั่นเอง
8. เข้าสังคมหรือคอมมูนิตี
การเข้าสังคมหรือคอมมูนิตี เป็นสิ่งสำคัญที่เราจะได้เห็นแนวคิด กระบวนการออกแบบ การแก้ปัญหาของคนอื่น และบางครั้งเราอาจมองเห็นปัญหาก่อนที่ปัญหานั้นจะเกิดขึ้นกับเราก่อนเสียอีก
9. กล้าลงทุน
ในการทำสมาร์ทโฮม มีราคาที่ต้องจ่าย ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ที่มีราคาสูงกว่าปกติ หรือค่าเสียเวลาที่ต้องเรียนรู้ แต่สุดท้ายหากเราเชื่อว่าอนาคตอุปกรณ์เหล่านี้จะกลายเป็นมาตรฐาน เหมือนกับที่ทุกวันนี้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตกลายเป็นสิ่งที่ต้องมีแทบทุกบ้านไปแล้ว แม้ในสมัยก่อนอินเทอร์เน็ตอาจจะเป็นสิ่งที่ฟุ่มเฟือยราคาแพง ซึ่งเป็นปกติของเทคโนโลยีที่นับวันจะยิ่งเข้าถึงกลุ่มคนจำนวนมากขึ้น
10. มีความเชื่อ
หากเราเชื่อว่าเราเดินมาถูกทางเราจะมีความมั่นใจและไม่ทำให้สิ่งที่เราพยามมานั้นสูญเปล่า อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าเทคโนโลยีนั้นมีราคาที่ต้องจ่าย แต่สุดท้ายสิ่งที่เราได้นั้นคือกระบวนการ คือการได้มองเห็นอนาคตของโลก คือการได้แก้ไขปัญหาและคิดแบบวิศวกร เราก็จะอยากที่จะทำต่อไป
แม้ทุกวันนี้บรรดาผู้ผลิตอุปกรณ์กลุ่มสมาร์ทโฮม จะทำให้อุปกรณ์ต่าง ๆ ใช้งานง่ายขึ้น จนถึงในระดับที่ไม่จำเป็นต้องมีความรู้ด้านการวางระบบและการเขียนโปรแกรมมากนัก แต่สุดท้ายแล้วก็ต้องย้อนกลับไปที่ข้อแรกที่เราต้องเป็นผู้ควบคุมเทคโนโลยี ไม่ใช่ให้เทคโนโลยีมาควบคุมเรา เราอาจซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ มาใช้งานมากมายแต่กลับไม่รู้เลยว่าอุปกรณ์เหล่านี้ทำงานอย่างไร และจะมาแก้ปัญหาในชีวิตเราได้อย่างไร ดังนั้นทักษะในการคิด แก้ไขปัญหา จึงเป็นสิ่งที่ผู้ใช้งานสมาร์ทโฮมควรมีติดตัว เพื่อให้เราสามารถใช้งานเทคโนโลยีได้อย่างคุ้มค่าที่สุดนั่นเอง
ที่มาภาพ: Apple
--------------------------
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech