ความเชื่อของคนจีน "วันสารทจีน" เป็นวันที่ลูกหลานจะจัดพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษและอุทิศส่วนกุศลให้วิญญาณไร้ญาติ เพราะเชื่อว่าประตูสวรรค์และประตูนรกเปิดให้ภูติผีมารับส่วนบุญ ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน
การเซ่นไหว้ในวันสารทจีน ช่วงเช้าจะไหว้เจ้าที่ ช่วงสายไหว้บรรพบุรุษ และช่วงบ่ายไหว้วิญญาณเร่ร่อนหรือสัมภเวสี พร้อมกับเผากระดาษเงินกระดาษทองส่งไปให้บรรพบุรุษด้วย
อ่านข่าว : เปิดความหมายมงคล ของไหว้วันสารทจีน 2566 พร้อมวิธีการไหว้
ส่วน "วันสารทไทย" หรือที่นิยมเรียกกันว่า "วันสารทเดือนสิบ" หรือ "ประเพณีสารทเดือนสิบ" ตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 มักจัดขึ้นในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค.ของทุกปี เป็นการทำบุญที่วัด เพื่ออุทิศส่วนกุศลไปให้บรรพบุรุษ หรือญาติพี่น้องที่ล่วงลับ
ประเพณีสารทเดือนสิบ เริ่มต้นเมื่อใดและเริ่มต้นที่ไหน ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่ยืนยันได้ แต่นักวิชาการส่วนใหญ่เชื่อว่ารับอิทธิพลจากอินเดียมาประยุกต์และปฏิบัติสืบต่อกันมา
การทำบุญในวันสารทเดือนสิบแต่ละท้องถิ่นของไทย ประกอบพิธีแตกต่างกันและมีชื่อเรียกไม่เหมือนกัน
ประเพณีชิงเปรต (ภาพจากสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร)
"ชิงเปรต" งานบุญของคนใต้
"ประเพณีชิงเปรต" เป็นงานบุญของคนภาคใต้ โดยเฉพาะ จ.นครศรีธรรมราช ช่วงเวลาประกอบพิธีกรรมจะมีขึ้นในวันแรม 1 ค่ำถึงแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี เชื่อกันว่าบรรพบุรุษและญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว หากทำชั่วจะกลายเป็นเปรตทุกข์ทรมานอยู่ในนรก และจะถูกปล่อยตัวกลับโลกมนุษย์เพื่อขอส่วนบุญจากลูกหลาน ก่อนที่จะกลับไปนรกอีกครั้ง
พิธีกรรมในประเพณีชิงเปรต จะมีการจัดเตรียมสำรับอาหารคาวหวาน หรือที่เรียกว่า "หฺมฺรับ" นำไปถวายพระที่วัด ซึ่งอาจมีการจัดขบวนแห่สร้างความคึกคัก หลังจากถวายภัตตาหารแล้วจะนำบางส่วนไปวางไว้บริเวณวัด ใต้ต้นไม้ หรือตั้งศาลา เพื่อแผ่ส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับที่ไม่มีญาติ พิธีกรรมช่วงนี้เรียกว่า "ตั้งเปรต"
เมื่อเสร็จพิธีสงฆ์และอุทิศส่วนกุศลให้กับเปรตแล้ว ผู้คนจะกรูเข้าไปแย่งอาหารและขนมที่อยู่บนตั้งเปรตกันสนุกสนาน โดยพิธีกรรมในช่วงนี้เรียกว่า "ชิงเปรต" เพราะเชื่อว่าหากกินของที่เหลือจากการเซ่นไหว้บรรพบุรุษจะเป็นสิริมงคล
ตานก๋วยสลาก (ภาพจากสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ)
คนเมืองเหนือ "ตานก๋วยสลาก"
การทำบุญสลากภัต เป็นประเพณีโบราณที่สืบทอดกันมาในภาคเหนือ แต่ละพื้นที่เรียกชื่อต่างกัน มีทั้ง ตานก๋วยสลาก, ตานสลาก, กิ๋นก๋วยสลาก รวมถึงกิ๋นสลาก
ตาน คือการถวายทาน, ก๋วย หมายถึงภาชนะที่สานด้วยไม้ไผ่คล้ายชะลอมหรือตระกร้า บรรจุเครื่องไทยธรรม, สลาก เป็นใบลาน หรือปัจจุบันบางที่ใช้กระดาษ เขียนชื่อเจ้าภาพและชื่อผู้ล่วงลับที่ต้องการอุทิศส่วนกุศลให้ และภัต คืออาหารหรือสิ่งของ
"สลากภัต" จึงหมายถึงการถวายอาหารพระภิกษุสงฆ์โดยวิธีจับสลาก ไม่จำเพาะเจาะจงแก่พระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่ง โดยชาวบ้านจะนำอาหารหวานคาว พืชผลการเกษตร มาถวายเป็นก๋วยสลากที่วัด เริ่มราววันเพ็ญเดือน 12 เหนือ หรือประมาณเดือน ก.ย. และสิ้นสุดในเดือนเกี๋ยงดับ หรือประมาณเดือน ต.ค.ของทุกปี
ชาวบ้านจะเริ่มพิธีกรรมตั้งแต่การจัดเตรียมอาหารแห้ง อาหารคาวหวาน สิ่งของเครื่องไทยธรรม นำมาใส่ไว้ในก๋วยและเสียบเงินที่ยอดก๋วย เมื่อถึงวันตานก๋วยสลาก ชาวบ้านจะเขียน "เส้นสลาก" หรือเขียนชื่อเจ้าภาพและชื่อผู้ล่วงลับในกระดาษ และนำไปรวมกัน
เมื่อเสร็จพิธีในวิหาร พระสงฆ์จะจับสลากและเดินตามหาก๋วยที่จับได้ ซึ่งชาวบ้านบางคนอาจเดินหาเส้นสลากของตนและนิมนต์พระสงฆ์ให้มารับเพื่อความสะดวก จากนั้นเมื่อเจอเจ้าของเส้นสลาก พระสงฆ์จะให้ศีล ให้พรและกราดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับที่มีชื่ออยู่ในสลากนั้น
ประเพณีตานก๋วยสลาก นอกจากทำบุญให้ญาติที่ล่วงลับแล้ว ยังเป็นการทำทานแก่คนยากไร้ด้วย เพราะจะมีการแจกจ่ายข้าวของในก๋วยสลากให้กับคนที่มารอรับ
ประเพณีบุญข้าวสาก (ภาพจากรายการทีวีชุมชน ไทยพีบีเอส)
"บุญข้าวสาก" ของคนอีสาน
ประเพณี "บุญข้าวสาก" คนอีสานนิยมทำในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 เพื่อห่อข้าวส่งให้ญาติพี่น้องที่ล่วงลับและเปรต เพราะเชื่อว่าผีบรรพบุรุษจะหิวและกำลังรอส่วนบุญจากงานนี้
เช้าวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ชาวบ้านจะจัด "พาข้าว" หรือสํารับอาหาร ที่มีข้าวเหนียว อาหารแห้ง เช่น ปลาย่าง เนื้อย่าง แจ่วบอง หรือน้ำพริกปลาร้า และห่อข้าวเล็กๆ อีกห่อหนึ่งสําหรับอุทิศให้ญาติที่ล่วงลับ นําไปทําบุญที่วัด พร้อมทั้งปัจจัยไทยทาน โดยจะเขียนชื่อเจ้าของสํารับอาหารและเครื่องไทยทานใส่กระดาษไว้ในบาตรเดียวกัน เพื่อให้พระเณรจับสลากที่อยู่ในบาตร
พระเณรรูปใดจับได้สลากของใคร ผู้เป็นเจ้าของพาข้าวและเครื่องปัจจัยไทยทานก็จะนำไปถวายให้พระเณรรูปนั้น จากนั้นพระเณรจะฉันท์เพล ก่อนที่จะให้พร แล้วจึงกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปให้ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว
หลังจากเสร็จพิธีกรรม ชาวบ้านจะนำห่อข้าวสากไปวางไว้บริเวณวัด จุดเทียนเชิญบรรพบุรุษมากินข้าว รวมถึงนำไปวางไว้ที่นาเพื่อเรียกผีตาแฮก หรือผีเฝ้านา มากินด้วย เพราะมีความเชื่อว่าพิธีกรรมนี้จะทําให้กล้าข้าวที่ปักดำในนางอกงามและได้ผลบริบูรณ์
(ข้อมูล : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, เว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม และสำนักวัฒนธรรม ฝ่ายศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง