สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์กรมหาชน) (สดร.) ชวนมองท้องฟ้าชมปรากฏการณ์ส่งท้ายเดือน ส.ค.2566 กับปรากฏการณ์ "ซูเปอร์บลูมูน" คืนวันที่ 30 ถึงเช้าวันที่ 31 ส.ค.
ซูเปอร์ฟูลมูน (Super Full Moon) หรือ ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี มีระยะห่างจากโลกประมาณ 357,334 กิโลเมตร และในคืนดังกล่าวยังเป็นดวงจันทร์เต็มดวงครั้งที่ 2 ของเดือน หรือ บลูมูน (Blue Moon)
ในคืนดังกล่าวดวงจันทร์เต็มดวงจะมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย หากเปรียบเทียบกับดวงจันทร์เต็มดวงช่วงเวลาปกติ จะมีขนาดใหญ่กว่าประมาณ 7% และความสว่างเพิ่มขึ้นประมาณ 15%
เวลาที่เหมาะสมในการสังเกตปรากฏการณ์เกี่ยวกับดวงจันทร์ในครั้งนี้ คือช่วงเย็นวันที่ 30 ส.ค. ตั้งแต่เวลา 18.09 น. จนถึงรุ่งเช้า ของวันที่ 31 ส.ค. ดูได้ด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออก นอกจากนี้ ยังมีดาวเสาร์ปรากฏสว่างเคียงข้างดวงจันทร์อีกด้วย
อ่านข่าว : ชวนมองท้องฟ้าเดือน ส.ค.2566 ชม 4 ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์
สดร. ยังอธิบายว่า บลูมูน (Blue Moon) ไม่ได้หมายถึง ดวงจันทร์สีน้ำเงิน ในทางดาราศาสตร์แล้ว บลูมูน หมายถึงดวงจันทร์เต็มดวงครั้งที่ 2 ของเดือน ซึ่งปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก
ปกติแล้วดวงจันทร์มีคาบการโคจรรอบโลกประมาณ 29.5 วัน ในขณะที่หนึ่งเดือนในปฏิทินที่เราใช้กันมี 30-31 วัน ส่งผลให้เมื่อวันเวลาผ่านไป บางเดือนมีวันที่ดวงจันทร์เต็มดวงถึง 2 ครั้งในช่วงต้นเดือนและปลายเดือน ซึ่งนานทีจะเกิดขึ้น และอาจทำให้ใครหลายคนนึกถึงสำนวนภาษาอังกฤษอย่าง Once in a blue moon ที่หมายถึง อะไรที่เกิดขึ้นได้ยาก หรือนาน ๆ จะเกิดขึ้นที
คำว่า "บลูมูน" มาได้อย่างไร
สำนวนนี้มาจากเหตุการณ์ครั้งหนึ่งที่เกิดขึ้นในประเทศอินโดนีเซีย เมื่อปี 2426 เกิดการระเบิดของภูเขาไฟครั้งใหญ่ขึ้น ทำให้ฝุ่นละอองต่าง ๆ ลอย ขึ้นไปในอากาศ เกิดการกระเจิงแสง และทำให้มองเห็น "ดวงจันทร์เป็นสีน้ำเงิน" จากนั้นจึงนำคำว่า "บลูมูน" มาใช้เรียกปรากฏการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงในครั้งที่ 2 ของเดือน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ยากเช่นกัน
บลูมูน
บลูมูนครั้งนี้ นับเป็นบลูมูนในรอบ 3 ปี ครั้งล่าสุดที่เกิดบลูมูนคือวันที่ 31 ต.ค.2563 ซึ่งในครั้งนั้นนอกจากจะตรงกับวันฮาโลวีนแล้ว ยังเป็นช่วงที่ดวงจันทร์อยู่ไกลโลกที่สุดในรอบปี (Micro Full Moon) พอดีอีกด้วย
ส่วนปีนี้ตรงกับช่วง "ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี" (Super Full Moon) จึงเรียกปรากฏการณ์ครั้งนี้ว่า Super Blue Moon นอกจากจะเป็นดวงจันทร์ครั้งที่ 2 ของเดือนแล้ว ยังเป็นดวงจันทร์ที่ขนาดปรากฏจะใหญ่กว่าปกติ และแน่นอนว่าเป็นดวงจันทร์สีขาวเหมือนทุกวัน
ชี้พิกัด จุดสังเกตการณ์ "ซูเปอร์บลูมูน"
ทั้งนี้ทาง NARIT เตรียมจัดสังเกตการณ์ "ซูเปอร์บลูมูน" ในคืนวันที่ 30 ส.ค.ตั้งแต่เวลา 18.00 - 22.00 น.
ณ จุดสังเกตการณ์หลักทั้ง 4 แห่งของ สดร.
- อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่
- หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา นครราชสีมา
- หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา
- หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา สงขลา
หรือรับชม LIVE ปรากฏการณ์ได้ทางเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ