ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"พนานคร" คอนเซปต์สร้าง "นูซันตารา" เมืองหลวงใหม่อินโดนีเซีย

ต่างประเทศ
5 ก.ย. 66
14:57
2,240
Logo Thai PBS
"พนานคร" คอนเซปต์สร้าง "นูซันตารา" เมืองหลวงใหม่อินโดนีเซีย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"โจโกวี" ให้คำมั่นว่าเขาจะสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่บนเกาะบอร์เนียว ให้เป็นเมืองอัจฉริยะที่ยั่งยืนในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อนในอินโดนีเซียและโลก แต่ผู้คนจำนวนมากกังวลเกี่ยวกับแผนการนี้ ว่าจะทำให้เกิดหายนะทางสิ่งแวดล้อมบนป่าที่สมบูรณ์ที่สุดอีกแห่งของโลก

อินโดนีเซียภายใต้การนำของ ปธน.โจโก วิโดโด ตัดสินใจประกาศแผนการย้ายเมืองหลวงจาก จาการ์ตา เกาะชวา ไป นูซันตารา ที่อยู่ในจังหวัดกาลิมันตันตะวันออก เกาะบอร์เนียว ตั้งแต่วันที่ 26 ส.ค.2562 โดยที่โจโกวีประกาศถึงความจำเป็นที่ต้องย้ายเมืองหลวงว่า

จาการ์ตา รับภาระหนักเกินไปแล้ว ทั้งในฐานะศูนย์กลางการปกครอง ธุรกิจ การเงิน การค้า และบริการ
โจโก วิโดโด ขณะยืนมองพื้นที่เมืองหลวงใหม่ของอินโดนีเซีย

โจโก วิโดโด ขณะยืนมองพื้นที่เมืองหลวงใหม่ของอินโดนีเซีย

โจโก วิโดโด ขณะยืนมองพื้นที่เมืองหลวงใหม่ของอินโดนีเซีย

"เมืองจมน้ำ" จาการ์ตา

ไม่ใช่แค่เรื่องทางเศรษฐกิจที่เป็นภาระหนักให้จาการ์ตา แต่ปริมาณประชากรที่มากถึง 30 ล้านคน เบียดเสียดกันอย่างแออัดในพื้นที่ 661.5 ตร.กม. เป็นสาเหตุหลักและหนัก ที่ทำให้จาการ์ตาไม่ได้เป็นเมืองหลวงอีกต่อไป

จาการ์ตามีอัตราการทรุดตัวของพื้นดินเฉลี่ย 20 ซม./ปี เผชิญปัญหาน้ำท่วมที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่าพื้นที่ราว 1 ใน 3 ของ จาการ์ตา อาจ "จมทะเล" ภายในปี 2050 หากไม่มีมาตรการป้องกันแก้ไข โดยข้อมูลจากผลการศึกษาของมหาวิทยาลัย IPB ในจังหวัดชวาตะวันตกพบว่า หลายเมืองบนเกาะชวามีอัตราการทรุดตัวของดินเฉลี่ย 10.7 ซม. ในปี 2562 และ 2563 ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากการขุด "น้ำบาดาล" ขึ้นมาใช้

ชาวจาการ์ตาเผชิญน้ำท่วมเมือง

ชาวจาการ์ตาเผชิญน้ำท่วมเมือง

ชาวจาการ์ตาเผชิญน้ำท่วมเมือง

นอกจากนั้น ความเหลื่อมล้ำทางสังคม รายได้ การพัฒนาเมืองที่กระจุกตัวอยู่บนเกาะชวา ก็เป็นอีกปัจจัยที่อินโดนีเซียเห็นและพยายามดำเนินการแก้ไขให้เกิดการกระจายตัวมากขึ้น 

แผนการย้ายเมืองหลวงจากเกาะชวา ไปสร้างนครแห่งใหม่ที่อยู่ไกลออกไป 2,000 กม.บนเกาะบอร์เนียว ซึ่งเป็นที่ตั้งของป่าที่สมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง จึงเกิดขึ้น ด้วยงบประมาณ 34,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โจโกวีบอกว่า เขาตั้งใจเนรมิตมหานครแห่งใหม่บนพื้นที่สวนปาล์มน้ำมัน การก่อสร้างระยะแรกถูกกำหนดให้เสร็จสิ้นลงภายในปี 2568 

"เมืองหลวงใหม่" นูซันตารา 

"นูซันตารา" ถูกตั้งเป็นชื่อเมืองหลวงใหม่ของอินโดนีเซีย ตั้งอยู่ในพื้นที่ จ.กาลิมันตันตะวันออก บนฝั่งตะวันออกของเกาะบอร์เนียว

เกาะบอร์เนียวเป็นเกาะที่แชร์พื้นที่กันระหว่าง 3 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และ บรูไน
พื้นที่ป่า จ.กาลีมันตันตะวันออก

พื้นที่ป่า จ.กาลีมันตันตะวันออก

พื้นที่ป่า จ.กาลีมันตันตะวันออก

เมืองหลวงแห่งใหม่ของอินโดนีเซียจะกินพื้นที่ระหว่างเขต North Penajam Paser กับ Kutai Kartanegara โดยมีพื้นที่รวมทั้งหมดประมาณ 561.8 ตร.กม. ขณะที่รัฐบาลอินโดนีเซียได้จัดสรรที่ดินสำหรับโครงการนี้เอาไว้ทั้งหมดถึง 2,561.42 ตร.กม. เพื่อให้เอื้อต่อการขยายเมืองในอนาคตด้วย

อ่าน : "จาการ์ตา-กทม." ความเหมือนเรื่องน้ำท่วมกับทางออกที่แตกต่าง

"พนานคร" เมืองผสมผสานธรรมชาติ

รัฐบาลอินโดนีเซียได้ว่าจ้างบริษัทเอกชน "เออร์แบนพลัส (Urban+)" ให้ออกแบบสร้างเมืองหลวงใหม่ บนจุดประสงค์ทำงานให้สอดคล้องกับสภาพของธรรมชาติที่เป็นอยู่ โดยจะไม่จงใจฝืนหรือต่อต้าน 

โซเฟียน สิบารานี หัวหน้าสถาปนิกของเออร์แบนพลัส เขาต้องการให้เมืองหลวงของอินโดนีเซียแห่งใหม่มีขนาดย่อม ผู้คนสามารถเดินเท้าไปยังจุดสำคัญต่าง ๆ ของเมืองได้ มีส่วนที่จัดให้เป็นถนนคนเดินโดยเฉพาะ ส่วนบริเวณที่ต้องใช้ระบบขนส่งสาธารณะนั้น จะจัดให้ใช้พาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้าทั้งหมด

เราหวังจะช่วยโลกได้ ด้วยการสร้างนครต้นแบบ ให้เกิด "พนานคร" ที่ยั่งยืน
เรามีแบบจำลองเมืองขนาดกะทัดรัด เหมาะกับการเดิน
ใช้ระบบขนส่งสาธารณะ และ ขนส่งมวลชน
เราจะทำให้ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้
รัฐสภาแห่งใหม่ในอนาคต

รัฐสภาแห่งใหม่ในอนาคต

รัฐสภาแห่งใหม่ในอนาคต

ผังเมืองหลวงใหม่ จะมีเมืองบริวารอีก 5 แห่งล้อมรอบ ถูกแยกจากกันด้วยแนวพื้นที่สีเขียว ซึ่งใช้เป็นแถบกั้นอาณาเขตของแต่ละเมืองไม่ให้ขยายเติบโตเข้ามารุกล้ำกันในอนาคต เพราะมีบทเรียนจากปัญหากรุงจาการ์ตา ที่เมืองรอบนอกขยายตัวอย่างไร้การควบคุม ทำให้เกิดปัญหาผังเมืองและการใช้ทรัพยากรในเขตเมืองหลวงมากเกินไป เช่น ประชากรที่เพิ่มขึ้นไม่สามารถเข้าถึงน้ำประปา ทำให้มีการขุดเจาะน้ำบาดาลกันเอง จนยิ่งทำให้ผิวดินทรุดตัวจมลงเร็วยิ่งขึ้น

ป่าถูกแทนด้วยเมือง

ความเจริญที่กำลังจะเข้าไปในผืนป่าปาล์มน้ำมันบนเกาะบอร์เนียว ที่เป็นที่ตั้งของป่าสำคัญของโลก อุดมไปด้วยสัตว์ป่าและมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลกด้วย แม้บรรดาผู้นำของอินโดนีเซียจะให้คำมั่นว่า การสร้างเมืองหลวงใหม่ในครั้งนี้ จะพยายามรักษาสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติเอาไว้ให้ได้มากที่สุด แต่นักอนุรักษ์ก็ยังคงเกรงว่าโครงการใหญ่ดังกล่าว จะก่อให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมขึ้น

ชนพื้นเมืองเผ่าปาเซอร์ กลัวว่าความเจริญที่กำลังจะมา จะทำลายวิถีชีวิตและวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของพวกเขาลง และเกิดปัญหาชุมชนกับภาครัฐ

การสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่เท่ากับว่าพวกเราจะต้องเปิดแนวรบเพิ่มเพื่อต่อสู้กับภาครัฐ

กลุ่มด้านสิ่งแวดล้อมหลายกลุ่มมีความกังวลเกี่ยวกับสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ต่างๆ ในพื้นที่ เพราะกาลิมันตันเป็นหนึ่งในไม่กี่แห่งบนโลกที่มี "อุรังอุตัง" อาศัยอยู่ตามธรรมชาติ คาร์เมเล ยาโน ซานเชซ จาก International Animal Rescue กล่าวว่า

เรากำลังสูญเสียหนึ่งในประชากรอุรังอุตังที่สำคัญและใหญ่ที่สุดที่เราเหลืออยู่
อุรังอุตังทุกตัวมีความหมาย และเราไม่ยอมเสียประชากรอุรังอุตังทั้งหมดกว่า 1,000 ตัวบนเกาะบอร์เนียว
อุรังอุตังที่อยู่บนเกาะบอร์เนียว

อุรังอุตังที่อยู่บนเกาะบอร์เนียว

อุรังอุตังที่อยู่บนเกาะบอร์เนียว

ดร.จามาร์ติน สิหิเต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของมูลนิธิ BOSF กล่าวถึงผลกระทบจากการย้ายเมืองหลวงมายังพื้นที่ใกล้ผืนป่า ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าจำนวนมากด้วยว่า ถ้าไม่มีการวางแผนที่ดีและขาดการมีส่วนรวมจากประชาชน

เมืองหลวงใหม่ก็อาจกลายเป็น จาการ์ตา 2
พวกเขาจะทำผิดซ้ำและแค่ย้ายปัญหามาไว้ในที่ใหม่เท่านั้น

คำมั่นจากรัฐบาล

นายบัมบัง บรอดโจเนโกโร รัฐมนตรีด้านการวางแผนพัฒนาชาติของอินโดนีเซีย ยืนยันว่า รัฐบาลจะรักษาสัญญาเรื่องการปกป้องผืนป่าที่อยู่ในอาณาเขตของมหานครแห่งใหม่ ทั้งจะเร่งรัดแก้ไขหน้าดินที่เสียหายจากการทำเหมือง และออกเอกสารสิทธิในที่ดินทำกินให้แก่ชนเผ่าพื้นเมืองด้วย

แต่บรรดานักอนุรักษ์ต่างไม่เชื่อถือคำพูดของรัฐบาลอินโดนีเซียมากนัก พวกเขาเคยให้สัญญามาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน แต่ก็ปล่อยให้บริษัทเหมืองถ่านหินเข้ามาทำลายหน้าดินและไม่แก้ไขตามสัญญา เดดี อิราวัน นักอนุรักษ์ท้องถิ่นกล่าว

ที่มา : สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.), บีบีซีไทย 

อ่าน : 4 ปัจจัย กับ 10 เมืองใหญ่ของโลกที่กำลังจมน้ำ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง