การใช้ดาวเทียมในการติดตามปรากฏการณ์ขี้ปลาวาฬนั้นมีมานานกว่า 20 ปี แล้ว อย่างไรก็ตามอุปกรณ์เหล่านี้ตรวจจับปรากฏการณ์ดังกล่าวด้วยการวิเคราะห์สีของน้ำทะเลที่เปลี่ยนไป หมายความว่าท้องฟ้าจะต้องปลอดโปร่งเพื่อให้ดาวเทียมสามารถติดตามปรากฏการณ์ดังกล่าวได้
ความสามารถในการติดตามและคาดการณ์การเกิดปรากฏการณ์ขี้ปลาวาฬได้นั้นมีผลทางเศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม และการแพทย์เป็นอย่างมาก เนื่องจากปรากฏการณ์ขี้ปลาวาฬอาจทำให้ชายหายบางแห่งไม่สามารถเล่นน้ำทะเลได้ อุตสาหกรรมประมงพื้นบ้านเสียหาย และอื่น ๆ อีกมากมาย นักวิทยาศาสตร์จึงต้องหาวิธีที่จะติดตามปรากฏการณ์นี้ให้ได้มากที่สุด
TROPOMI (TROPOspheric Monitoring Instrument) เป็นอุปกรณ์ตรวจจับปรากฏการณ์ขี้ปลาวาฬชนิดใหม่ที่สามารถทำงานได้แม้ในสภาวะที่ท้องฟ้าขมุกขมัว โดย TROPOMI จะตรวจจับคลื่นแสงในช่วงที่สามารถทะลุเมฆและชั้นบรรยากาศได้ ทำให้สภาพอากาศไม่มีผลต่อการตรวจจับ ปัจจุบัน TROPOMI ถูกใช้งานบนดาวเทียม Sentinel 5P ขององค์การอวกาศยุโรปมาตั้งแต่ปี 2017 เพื่อทดสอบการใช้งาน
จากการวิเคราะห์ข้อมูลของ TROPOMI ในงานวิจัยพบว่าข้อมูลที่ได้จาก TROPOMI ระหว่างปี 2018 ถึง 2020 นั้นมีปริมาณมากกว่าข้อมูลที่ได้จากดาวเทียมดวงอื่น ๆ ที่ใช้เทคนิคการตรวจจับการเปลี่ยนแปลงของสีน้ำทะเลถึง 2 เท่า
ที่มาภาพ: NASA
ที่มาข้อมูล: NASA
--------------------------
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech