อินโดนีเซีย 101 : ใหญ่สุด เยอะสุด หลากหลายสุด
อินโดนีเซียเป็นประเทศขนาดใหญ่ที่สุด มีประชากรมากที่สุด ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ยังเป็นประเทศประชาธิปไตย ที่มีชาวมุสลิมมากที่สุดในโลก
อินโดนีเซียมีเกาะหลัก 5 เกาะ คือ นิวกินี, ชวา, กาลิมันตัน, ซูลาเวซี และ สุมาตรา เกาะที่ใหญ่ที่สุดคือ เกาะสุมาตรา ส่วน เกาะชวา เป็นเกาะที่เล็กที่สุด ในบรรดาเกาะหลักทั้ง 5 เกาะ แต่ประมาณร้อยละ 60 ของประชากร หรือกว่า 200 ล้านคน อาศัยอยู่บนเกาะชวา และเป็นที่ตั้งกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงปัจจุบัน
อินโดนีเซีย ประกอบด้วย 5 เกาะหลัก และมีหมู่เกาะเล็กๆ อีกมากมายราว 17,000 เกาะ
อินโดนีเซียเป็นประเทศหมู่เกาะ ที่มีความเจริญรุ่งเรืองมานาน ต่อมาตกอยู่ภายใต้การปกครองของฮอลันดา (เนเธอร์แลนด์ ในปัจจุบัน) กว่า 300 ปี หลังจากประกาศเอกราชอย่างสมบูรณ์แบบ เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.2492 และได้ประธานาธิบดีคนแรกคือ "ซูการ์โน"
ความพยายามที่จะย้ายเมืองหลวง กลายเป็นจุดมุ่งหมายทางการเมืองอันแรงกล้า และเป็นความทะเยอทะยานที่ซูการ์โน คิดจะทำ แม้ไม่สำเร็จ แต่สิ่งนี้กลับถูกส่งต่อผ่านรุ่นสู่รุ่นทำเนียบประธานาธิบดีอินโดนีเซียจนถึงคนปัจจุบัน "โจโก วิโดโด"
จายาการ์ตา-บัตตาเวีย-จาการ์ตา
เดิมทีศูนย์กลางประเทศ ก็อยู่ที่ตั้งที่เดียวกันกับ "จาการ์ตา" ในปัจจุบัน แต่ในยุคก่อนล่าอาณานิคม เมื่อ พ.ศ.2070 พื้นที่บริเวณด้านบน ฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะชวา มีชื่อเดิมว่า "จายาการ์ตา (Jayakarta)" ที่แปลว่า มีชัยและรุ่งโรจน์ โดย "ฟาเลเตฮาน (Faletehan)" ผู้นำจากอาณาจักรทางเหนือเป็นผู้ตั้งชื่อให้หลังจากยึดครองสำเร็จ
มัสยิดในสมัยจายาการ์ตา
เมื่อชาวดัตช์เข้ามาในปี 2162 กองกำลังของบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา (Dutch East India Company) เข้ายึดครองเมืองและเปลี่ยนชื่อจายาการ์ตาเป็น "บาตาเวีย หรือ บัตตาเวีย (Batavia)" ชาวดัตช์ได้ปกครองและพัฒนาเมืองบัตตาเวียจนกลายเป็นเมืองสำคัญทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจ การส่งออกจากพื้นที่ใดๆ ในภูมิภาคแทบทั้งหมดจะต้องผ่านบัตตาเวียทั้งสิ้น
ภาพวาดสีน้ำมันเมืองเก่าบัตตาเวีย จาการ์ตา อินโดนีเซีย
แต่หลังจาก ญี่ปุ่นขับไล่ ฮอลันดาออกจากอินโดนีเซียได้สำเร็จในปี 2488 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวอิเหนาก็ชิงประกาศอิสรภาพพร้อมเปลี่ยนชื่อเมืองหลวงเป็นชื่อใหม่ที่ใกล้เคียงชื่อเดิมคือ "จาการ์ตา (Jakarta)"
7 ทศวรรษย้ายเมืองหลวง สำเร็จในยุคผู้นำคนที่ 7
อ.อรอนงค์ ทิพย์พิมล อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า ความพยายามที่จะย้ายเมืองหลวงอินโดนีเซียจากจาการ์ตา เกาะชวา ไปปักหลักที่อื่นนั้น มีมาตั้งแต่สมัย ซูการ์โน ประธานาธิบดีคนแรกของอินโดนีเซียแล้ว และดูเหมือนกลายเป็นเป้าหมายใหญ่ของประธานาธิบดีทุกคน
อ.อรอนงค์ ทิพย์พิมล อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ มธ.
ประธานาธิบดีแทบทุกคน อยากย้ายเมืองหลวงไปที่เกาะบอร์เนียว
ยกเว้น ซูฮาโต ที่ให้อยู่ที่เกาะชวาเหมือนเดิม แต่เป็นพื้นที่อื่น
แต่ยังไงก็ตามทุกคนอยากย้ายเมืองหลวงหมด
ภาพประกอบข่าว ธงชาติอินโดนีเซีย
อ.อรอนงค์ มองในอีกแง่หนึ่งว่า นี่คือความพยายาม "ลบอดีต" ทั้งหมดในสมัยที่ตกเป็นอาณานิคมของฮอลันดา และ "โจโกวี" คือผู้นำคนที่ 7 แต่เป็นคนแรกที่ทำได้สำเร็จ คำถามต่อมาคือ ในขณะที่การเลือกตั้งใหญ่ของอินโดนีเซียจะเกิดขึ้นในปี 2567 นี่คือความพยายามสานต่ออำนาจของ โจโกวี อีกหรือไม่
อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอินโดนีเซียตอบว่า โจโกวี คงไม่ได้ต้องการจะอยู่ในอำนาจต่อ เพราะกฎหมายของอินโดนีเซีย ไม่อนุญาตให้ประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งเกิน 2 วาระ แต่มองว่ามันคือความสำเร็จในบทบาทผู้นำ ที่ทำได้เป็นคนแรก จาก 6 ผู้นำในอดีตที่ไม่มีใครทำสำเร็จเลย
ถ้าเขาทำสำเร็จ เขาก็จะได้เป็นตำนานของอินโดนีเซีย
"นูซันตารา" เมืองหลวงใหม่บน จ.กาลิมันตันตะวันออก เกาะบอร์เนียว
แต่แน่นอนว่า โจโกวี ไม่มีวันพูดว่า การย้ายเมืองหลวงเป็นความท้าทายของชีวิตการเป็นประธานาธิบดี แต่รัฐบาลให้เหตุผลว่า ด้วยปัจจุบันอัตราการทรุดตัวของจาการ์ตานั้นเร็วที่สุดในโลก
เมืองหลวงแห่งนี้กำลังจะจมน้ำทะเลในอีก 10 ปีข้างหน้า
การผลักดันกฎหมายย้ายเมืองหลวงจึงเริ่มต้นขึ้นในปี 2562 และ แผนการย้ายเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2565 สิ้นสุดในปี 2588 ซึ่งครบ 100 ปีพอดีจากการประกาศอิสรภาพครั้งแรก โดยมีจุดประสงค์ใหญ่ๆ 2 ข้อ คือ
- ประชากรล้นเมือง ถ้านับเฉพาะประชากรที่กระจุกตัวอยู่ในจาการ์ตาอย่างเป็นทางการ ในขณะนี้ประมาณ 10 ล้านคน แต่เชื่อว่ายังมีประชากรแฝงอยู่อีกเท่าตัวเช่นกัน การกระจุกตัวของประชากรในพื้นที่จำกัดที่เรียกว่า ชวาเซ็นทริก (Java-centric) ย่อมสร้างความเสื่อมโทรมให้จาการ์ตามากขึ้นเรื่อยๆ โจโกวีมองว่าการย้ายเมืองหลวงจะเป็นการกระจายความเจริญไปสู่พื้นที่อื่นๆ
ชุมชน Pasar Senen ในกรุงจาการ์ตา
- ทำเลดี จ.กาลิมันตันตะวันออก เกาะบอร์เนียว ถือว่าเป็นพื้นที่กึ่งกลางของประเทศ มีพื้นที่ในการดูแลของรัฐบาลที่กว้างใหญ่ มีความพร้อมที่จะสร้างความเจริญขึ้นมาใหม่ได้ รวมถึงภูมิประเทศจะเกิดภัยพิบัติจากธรรมชาติได้ยาก หากเกิดการพัฒนาพื้นที่ จะช่วยเปิดช่องทางทำมาหากินให้คนในพื้นที่ รวมถึงประชากรจากที่อื่นอีกด้วย
พื้นที่ป่าบนเกาะบอร์เนียว
ตำแหน่งอยู่ไม่นาน ตำนานตลอดไป
หากไม่มีอะไรผิดแผน ตำแหน่งเมืองหลวงของอินโดนีเซีย ที่อยู่บนเกาะชวาจะเหลือเวลาไม่นาน จากนั้นตำนานที่ โจโกวี ต้องการ จะถูกพูดถึงบนพื้นที่เมืองหลวงใหม่ บนเกาะบอร์เนียว ตลอดไป
ผิดแผนที่ว่าคือเสียงเรียกร้องทั้งจากคนในพื้นที่เกาะบอร์เนียวเอง ที่พยายามส่งเสียงว่าไม่ต้องการให้ย้ายเมืองหลวงมาที่นี่ แม้กลิ่นความเจริญที่ลอยมาไกลกว่า 2,000 กิโลเมตร แต่พวกเขากลับปฏิเสธ และขอใช้ชีวิตอยู่กับกลิ่นการจับปลาทะเล ทำประมง เกษตรกรรมในพื้นที่มากกว่า
วิถีเกษตรกร ประมงพื้นบ้านของชาวบ้านบนเกาะบอร์เนียว
จริงอยู่ที่บ้านคนในพื้นที่น้ำไม่ท่วม แต่ถ้าสร้างเมืองใหม่ น้ำก็จะมาท่วมที่บ้านพวกเขาแทน ระบบนิเวศ ผืนป่า จะถูกทำลายเป็นวงกว้าง พวกเขาไม่ต้องการความเจริญที่มาพร้อมกับการทำลาย และมองว่าความเจริญจะทำให้พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้นได้ยังไง
อุรังอุตังที่อาศัยบนเกาะบอร์เนียว
ไม่ใช่เพียงแค่เสียงของชาวบ้านในพื้นที่ แต่กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม NGO และกลุ่มต่างๆ ต่างก็เรียกร้องให้รัฐบาลโจโกวี ทบทวนเรื่องการย้ายเมืองให้มากกว่านี้ มีการยื่นฎีกาให้รัฐบาล
แต่โจโกวีตอบสนองด้วยการไม่ตอบสนอง
เช่นเดียวกับมาเลเซีย ที่ใช้พื้นที่ร่วมกันบนเกาะบอร์เนียว แม้จะไม่มีคำพูดโต้แย้งหรือไม่เห็นด้วยกับการย้ายเมืองหลวงครั้งนี้ของอินโดนีเซียแต่อย่างใด แต่ทางการกระทำของรัฐบาลมาเลเซีย เริ่มให้ความสำคัญกับการปักเขตแดนตามแนวธรรมชาติมากขึ้น และเตรียมรับมือกับการขยายของเมืองเช่นกัน
"รถติด-น้ำท่วม" ความเหมือนที่ไม่ต่างของ กรุงเทพฯ-จาการ์ตา
ไทยพีบีเอสออนไลน์ตั้งคำถามกับ อ.อรอนงค์ ว่า หากใช้เหตุผลเรื่องน้ำท่วม เมืองทรุด การกระจุกตัวของเมือง มาตั้งเงื่อนไขกับ กทม. บ้าง จะมีโอกาสที่ประเทศไทยจะได้เมืองหลวงใหม่เหมือนอินโดนีเซียหรือไม่
อ.อรอนงค์ มองว่ามี 2 สิ่งที่ทั้ง กทม. และ จาการ์ตา มีเหมือนกันจากสายตาที่หลากหลายของคนนอกคือ เรื่องของรถติด และน้ำท่วม หากคนไทยไปเที่ยวอินโดนีเซียก็มักจะพูดว่า จาการ์ตารถติดมาก ฉันใด คนอินโดนีเซียที่มาเที่ยวไทยก็จะพูดแบบเดียวกันฉันนั้น
ความแออัดของกรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย
แต่การจะใช้ความเหมือนในเรื่องแบบนี้มาประยุกต์กับ การย้ายเมืองหลวงประเทศไทย มองว่าไม่น่าเกิดขึ้นได้ ย้อนกลับไปที่อินโดนีเซีย ต่อให้ย้ายเมืองหลวงใหม่ แต่จาการ์ตาก็ยังน่าเป็นห่วงเหมือนเดิม แทนที่จะนำงบประมาณมหาศาลไปสร้างเมืองใหม่ ควรนำมาพัฒนาในพื้นที่เดิมดีกว่า
การย้ายหนีไปเรื่อยๆ ก็เหมือนการทิ้งปัญหาเอาไว้
ย้ายไปยังไงจาการ์ตาก็น้ำท่วมเหมือนเดิมอยู่ดี
อ่านข่าวเพิ่ม :
ติดตามชมสารคดีเชิงข่าว " Nusantara : Change-Hope-Loss นูซันตารา มหานครแห่งความหวัง "
30 เรื่องน่ารู้ "นูซันตารา" เมืองหลวงใหม่อินโดนีเซีย
"จาการ์ตา-กทม." ความเหมือนเรื่องน้ำท่วมกับทางออกที่แตกต่าง
4 ปัจจัย กับ 10 เมืองใหญ่ของโลกที่กำลังจมน้ำ
"พนานคร" คอนเซปต์สร้าง "นูซันตารา" เมืองหลวงใหม่อินโดนีเซีย