เมื่อวันที่ 20 ก.ย.2566 จากการเสวนา Climate Change Adaptation การรับมือสภาพภูมิอากาศแปรปรวนสุดขั้ว จัดโดยมูลนิธิไทยพีบีเอสร่วมกับไทยพีบีเอสนายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา อดีตผอ.สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (จิสด้า) กล่าวว่า ปัญหาโลกร้อนมีหลายบริบท และมีผลกระทบกับหลายภาคส่วน ยังไม่นับรวมปัญหาเชิงพื้นที่ดังนั้นการแก้ปัญหาในแต่ละพื้นที่จึงทำเหมือนกันไม่ได้
จัดจราจรฮับน้ำนครสวรรค์
ด้าน ผศ.ดร.ภานุวัฒน์ ปิ่นทอง หัวหน้าศูนย์วิจัยวิศวกรรมน้ำและโครงสร้างพื้นฐาน ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวว่า ความมั่นคงทางน้ำ การบริหารจัดการน้ำถือเป็นเศรษฐกิจฐานราก ทำอย่างไรที่จะวางแผนการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับน้ำต้นทุน และปรับแผนได้แม่นยำกับการคาดการณ์
จึงนำสู่การทำโมเดลต้นแบบรับมือสถานการณ์น้ำที่เคยศึกษาในพื้นที่ จ.นครสวรรค์ เนื่องจากเป็นฮับทางน้ำ ถ้าบริหารจัดการน้ำได้ดีจะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมภาคกลางได้ แนวคิดคือจะกักน้ำท่วมมาเป็นต้นทุนแก้ภัยแล้ง
ปี 2565 โมเดลจะมีน้ำฝนน้อยกว่าปี 2554 แค่ 5% นำมาสู่การรับมือ พร่องน้ำออกจากบึงบอระเพ็ด 100 ล้านลบ.ม.จากที่มี 220 ล้านลบ.ม.เพื่อรอรับน้ำหลากเดือนก.ย.โดยมีการหน่วงน้ำในบึงบอระเพ็ดให้ทยอยผ่านลุ่มเจ้าพระยา 960 ล้านลบ.ม. ถือเป็นความสำเร็จในการรับมือน้ำทวมรุนแรง
ผศ.ดร.ภานุวัฒน์ กล่าวอีกว่า ส่วนในปี 2566 จากการประเมินพบว่ามีปริมาณน้ำน้อย แต่คาดการณ์น้ำที่ไหลมาถึงนครสวรรค์ราว 1,500 ลบ.ม.ต่อวินาที และมีฝนทิ้งช่วงทางนครสวรรค์ จึงเตรียมการรับมือไว้ อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนส.ค.ที่ผ่านมา พบว่าน้ำในบึงบอระเพ็ดน้ำเหลือ 2 ล้านลบ.ม.จากน้ำที่มี 220 ล้านลบ.ม. ถึงขั้นอธิบดีกรมประมงเตรียมแผนอพยพพันธุ์ปลา
จากการจำลองโมเดลพบว่าช่วง 21 ส.ค.-31 ต.ค.นี้น้ำที่นครสวรรค์จะไหลผ่าน 1,000 ลบ.ม.ต่อวินาที นั่นเท่ากับว่าไม่ทำให้ระดับน้ำน่าน จะสูงกว่าน้ำในบึง ถ้ารอน้ำหลากจะเสียพันธุ์ปลา จึงมีการสูบปล่อยน้ำเข้ามา 30 ล้าน ลบ.ม.
นักวิชาการ กล่าวอีกว่า จากการประเมินสถานการณ์น้ำ พบว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จากนิวนอมอล เป็นนอมอล คือมีทั้งน้ำท่วม และน้ำแล้ง จากแบบจำลองพบว่าปี 2565 ปริมาณมีน้ำฝนเยอะ แต่บริหารจัดการดี และน้ำฝนจากพายุตกท้ายเขื่อน
แต่ปี 2566 สภาพภูมิอากาศสวิงจากลานีญา มาเป็นเอลนีโญทันที มีฝนแค่ 900 มิลลิเมตร และเหลืออีกเพียงแค่ 2 เดือนที่จะมีฝนตกเพิ่ม ส่วนปี 2567 ฝนจะเพิ่ม 1,000 มิลลิเมตร และปี 2568 คาดการณ์ฝนตก 833 มิลลิเมตร ดังนั้นต้องวางแผนล่วงหน้าถึงระยะยาว ถ้ายังปลูกข้าวใช้น้ำแบบเดิมจะเหลือน้ำในอ่างแค่ 30%
2566 ปีแห่งอุณหภูมิทุบสถิติ
นายวิษณุ อรรถวานิช คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) กล่าวว่า ในช่วงเดือนม.ค.-ก.ค.ปีนี้ ถือเป็นปีที่โลกเผชิญอุณหภูมิสูงตลอดระยะเวลา 8 เดือนทุบสถิติเรื่อยๆในรอบ 174 ปี เป็นข้อบ่งชี้ว่าโลกเราร้อนขึ้น และคาดการณ์ว่าปี 2567 อุณหภูมิโลกจะทำสถิติสูงสุดใหม่ +1.5 องศาเซลเซียส เหนือกว่าระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นครั้งแรกของโลกที่จะแตะสถิตินี้ สอดคล้องกับที่ IPCC ฉบับที่ 6 บ่งบอกว่าโลกจะแตะ 4 องศาเซลเซียสเมื่อสิ้นศตวรรษนี้
นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผอ.องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) กล่าวว่า ตอนนี้ทั่วโลกปล่อยก๊าซเรือนกระจก 252.5 ล้านตันในปี 2018-2065 ข้อตกลงปารีสตั้งเป้าปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ลดลง 2030 จากเดิมให้ได้ 30-40%
ส่วนประเทศไทย ยังคงเป้าหมาย Thailand's Carbon Neutratity แต่ยังไม่เพียง จึงต้องกักเก็บก๊าซเรือนกระจกเพิ่ม โดยเพิ่มมีการออกยุทธศาสตร์ 20 ปี เช่น ปลูกป่า 11.29 ล้านไร่จากเดิม 102 ล้านไร่ และป่าเศรษฐกิจ 15.99 ล้านไร่ การใช้พลังงานทดแทนร้อยละ 68 ภายในปี 2040