เมื่อวันที่ 24 ก.ย.2566 องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ (NASA) ถ่ายทอดสดการลงจอดของแคปซูลอวกาศ ซึ่งบรรจุตัวอย่างดินจากพื้นผิวดาวเคราะห์น้อยจำนวนมากที่สุดเท่าที่เคยมีการเก็บตัวอย่างมา ลงมายังทะเลทรายในรัฐยูทาห์ สหรัฐอเมริกา ภายในพื้นที่ควบคุมของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เมื่อเวลา 10.52 น.ตามเวลาท้องถิ่น หรือเกือบเวลา 22.00 น.ตามเวลาในไทย
รวมถึงถ่ายทอดสดการส่งทีมงานเคลื่อนย้ายแคปซูล และการนำตัวอย่างเข้าสู่ห้องปลอดเชื้อ ท่ามกลางการติดตามอย่างใกล้ชิดและความยินดีของทีมงานที่เฝ้าชมอยู่จากศูนย์ควบคุม
แคปซูลดังกล่าวปล่อยลงมาจากยาน OSIRIS-REx ระหว่างโคจรผ่านโลกในระยะ 108,000 กิโลเมตร โดยเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลกด้วยความเร็วไม่ต่ำกว่า 12 กิโลเมตรต่อวินาที หรือประมาณ 43,452 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก่อนที่ร่มชูชีพจะชะลอความเร็วลงและร่อนลงอย่างปลอดภัย ถือเป็นห้วงเวลาสำคัญที่สุดของภารกิจร่วมระหว่างนาซา กับมหาวิทยาลัยแอริโซนา ซึ่งกินเวลานานถึง 7 ปี
ยาน OSIRIS-REx เก็บตัวอย่างจากพื้นผิวดาวเคราะห์น้อย Bennu เมื่อปี 2020 หลังยานดังกล่าวออกเดินทางจากโลกเมื่อปี 2016 และใช้เวลา 2 ปีกว่าจะเดินทางถึง Bennu และเดินทางกลับมา 6,200 ล้านกิโลเมตร เพื่อนำส่งตัวอย่างกลับสู่โลก
ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ได้ชื่อว่าเป็นก้อนหินที่อันตรายที่สุดในระบบสุริยะ ถูกค้นพบเมื่อปี 1999 เป็นดาวเคราะห์น้อยที่เต็มไปด้วยคาร์บอนและถูกจัดให้เป็นวัตถุที่อยู่ใกล้โลก เนื่องจากมีวงโคจรที่เฉียดใกล้โลกทุกๆ 6 ปี แต่โอกาสในการชนปะทะกับโลกจัดอยู่ในระดับต่ำ
ตัวอย่างพื้นผิวดาวเคราะห์น้อย Bennu อาจช่วยไขปริศนาการก่อตัวของระบบสุริยะ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อกว่า 4,600 ล้านปีก่อน และยังอาจให้คำตอบถึงจุดกำเนิดชีวิตบนโลกได้ด้วย
ตัวอย่างชิ้นส่วนดาวเคราะห์น้อยดังกล่าวถือเป็นตัวอย่างที่ 3 ที่มีการนำกลับมาสู่ผิวโลกเพื่อการศึกษาวิเคราะห์ ซึ่งก่อนหน้านี้หน่วยงานอวกาศญี่ปุ่นทำสำเร็จไป 2 ภารกิจในปี 2010 และ 2020 หนึ่งในนั้นมาจาก Bennu เช่นกัน
อ่านข่าวอื่นๆ
ดาวเทียม "GOES-U" ผ่านการทดสอบก่อนปล่อย
วิจัยระบุ "โลก" อาจเสียมวล "แผ่นน้ำแข็ง" กว่าครึ่ง ภายในปี 2100
“กล้องโทรทรรศน์อวกาศสวิฟต์” บันทึกเหตุ “หลุมดำ” กำลังกลืน “ดาวฤกษ์”