วันนี้ (28 ก.ย.2566) นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) เปิดเผยว่า วันแรกของการเปิดให้บริการเป็นไปเรียบร้อยดี โดยมีสายการบินที่ใช้อาคารนี้ 11 เที่ยวบิน เป็นแอร์เชียเอ็กซ์ 7 ไทยเวียดเจ็ท 4 เที่ยวบิน ซึ่งการบริการถือว่าทำได้ตามเป้าหมาย ใช้เวลาจากอาคาร SAT-1 ถึงผู้โดยสารหลัก หรือ เมน เทอร์มินอล เพียง 18 นาที การให้บริการจะสะดวกสบายเพราะมีการเพิ่มพื้นที่ให้บริการ ทำให้ผู้โดยสารสะดวกมากขึ้น
นายกีรติ กล่าวว่า ผู้โดยสารที่จะใช้บริการได้ตั๋วโดยสารจะต้องระบุ ประตูทางออก S เท่านั้น หากเข้ามาแล้วจะไม่สามารถกลับไปที่อาคารหลักได้ ซึ่งหากเข้าผิดจะต้องผ่านกระบวนการขาเข้าใหม่ที่อาคารหลักตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งในเดือน พ.ย. จะมีการพิจารณาเพิ่มเที่ยวบินที่มาใช้บริการอีกครั้ง
สำหรับอาคาร SAT-1 ห่างจากอาคารหลักประมาณ 1 กิโลเมตร มีรถไฟฟ้า APM ออกทุก 5 นาที และใช้เวลาเดินทางเพียง 2 นาทีเท่านั้น
ขณะที่ในวันพรุ่งนี้ (29 ก.ย.) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะมาเดินทางมาเปิดอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นวันที่ครบรอบ 17 ปี การให้บริการของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยปีที่ 18 ทอท. มีแผนการให้บริการนำเทคโนโลยีมาใช้กับผู้โดยสารตามเครื่องคีย์ออสที่จะช่วยลดระยะเวลาการให้บริการ
ขณะที่ในเดือน ธ.ค.นี้ ทอท.จะนำระบบไบโอเมททริกซ์ หรือ ระบบยืนยันตัวตนเข้ามาใช้โดยไม่ต้องใช้เอกสารพาสปอร์ตและตั๋วเครื่องบินเพื่อยืนยันตัวตน โดยจะเป็นเคาท์เตอร์ และเดินผ่านประตูช่องตรวจได้เลย จากเดิมใช้เวลาคนละประมาณ 15 นาที ซึ่งจะช่วยลดเวลาแถวยาวและสามารถรองรับผู้โดยสารที่เดินทางมาเช็คอินล่วงหน้า 4 - 5 ชั่วโมง
โดยระบบจะรองรับการเช็คอินล่วงหน้า 5 ชั่วโมง โดยยังขอความร่วมมือจากตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ให้เพิ่มกำลังพลในการให้บริการผู้โดยสารในช่วงพีคโดยต้องการให้ผู้โดยสาร 1 คน ทำเสร็จทุกกระบวนการในเวลา 40 นาที ซึ่งมั่นใจว่าจะสามารถทำได้แล้วเสร็จภายในปี 2567
นอกจากนี้ยังเตรียมเปิดรันเวย์ที่ 3 ซึ่งจะสามารถรองรับเที่ยวบินได้จากเดิม 64 เที่ยวบิน เป็น 94 เที่ยวบิน ลดเวลาการต้องบินวนรอบสนามบิน และลดควาทแออัดในสนามบิน
อ่านข่าว : 28 ก.ย.นี้ "สนามบินสุวรรณภูมิ" พร้อม Soft Opening อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1
เร่งแผนขยายสนามบินภูเก็ต รับผู้โดยสาร 18 ล้านคนต่อปี
นายกีรติ ระบุว่าวันพรุ่งนี้ นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไป จ.ภูเก็ต ทอท.เตรียมเสนอโครงการพัฒนาขยายขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารของท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะที่ 2 จากเดิมรองรับได้ 12.5 ล้านคนต่อปี เป็น 18 ล้านคนต่อปี ซึ่งจะเป็นความสามารถความจบที่สามารถรองรับได้โดยคาดว่าการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่จะใช้งบประมาณประมาณ 8,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถและลดปัญหาการแออัดภายในสนามบิน
รวมถึงจะเสนอการโอนย้ายท่าอากาศยานกระบี่จากกรมท่าอากาศยาน ซึ่งจะสามารถทำให้การประสานงาน และการใช้ห้วงอากาศ ทั้ง 2 สนามบิน มีประสิทธิภาพมากขึ้น
นอกจากนี้ จะเสนอการพัฒนาท่าอาอากาศยานภูเก็ตแห่งที่ 2 ที่ จ.พังงา หรือ สนามบินอันดามัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารต่างประเทศเป็น 22 ล้านคนต่อปี
โดยจะก่อสร้างเทอร์นินอลใหม่ติดอาคารผู้โดยสารหลังเดิมซึ่งจะเพิ่มขนาดพื้นที่จาก 80,000 ตารางเมตร เป็น 160,000 ตารางเมตร ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบคาดว่าจะใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 3 ปี และเริ่มต้นการก่อสร้างได้ในปี 2568
ขณะที่นโยบายของนายกรัฐมนตรีในการลดพื้นที่คอขวดและเพิ่มสล็อตและเพิ่มตารางการบินสามารถเพิ่มเที่ยวบินได้ประมาณร้อยละ 20 ซึ่งเห็นตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของ จ.ภูเก็ต ที่สามารถเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวได้ประมาณร้อยละ 40
อ่านข่าวอื่น ๆ
"สุริยะ" เตรียมพร้อมรับ VISA Free ยืนยันทุกสนามบินมีความพร้อมรองรับผู้โดยสาร
วันแรก "วีซาฟรี" รับนักท่องเที่ยวจีน-คาซัคสถาน นายกฯนำทีมต้อนรับ
AOT เตรียมพร้อมรับนักท่องเที่ยวชาวจีน-คาซัค หนุนนโยบาย Visa Free