วันนี้ (2 ต.ค.2566) ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เปิดเผยความคืบหน้าการควบรวมหมายเลขฉุกเฉิน 1669 เปลี่ยนมาใช้สายด่วน 191 ร่วมกับตำรวจ ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างรอตำรวจว่าจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไรบ้าง ซึ่งได้มีการวางระบบการทำงานไว้แล้ว
พร้อมยืนยันว่า กระบวนการตั้งแต่รับแจ้งเหตุจนประสานรถพยาบาลออกไปรับจะจบที่ 2 นาที และรถพยาบาลต้องเข้าถึงผู้แจ้งใน 6 นาที รวมเป็น 8 นาที ไม่ล่าช้าเหมือนที่ประชาชนกังวลใจ
สายด่วน 191 จะทำหน้าที่คัดกรอง หากเป็นเรื่องฉุกเฉินทางการแพทย์จะส่งต่อมาที่ สพฉ.โดยระบบใหม่นี้จะแสดงพิกัดที่ต้นทางแจ้งเรื่องทันที ไม่ต้องสอบถามเส้นทางและพิกัด คล้ายกับระบบแอปพลิเคชันส่งอาหาร เพื่อลดขั้นตอน
กทม.ยังไม่ควบรวมสายด่วนศูนย์เอราวัณ
ด้านกรุงเทพมหานคร (กทม.) กำกับดูแลศูนย์เอราวัณ ที่ต้องเชื่อมการทำงานระบบรับส่งผู้ป่วยกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน โดย น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. ชี้แจงว่าต้องเตรียมพร้อมสำหรับการปรับเปลี่ยนระบบ เพราะเป็นเมืองที่มีประชากรหนาแน่น
แม้การเปลี่ยนผ่านเบอร์สายด่วน 1669 ของ สพฉ.ไปรวมกับ 191 ตำรวจ การเปลี่ยนระบบสายด่วนไม่ใช่เรื่องใหม่ ต่างประเทศก็ใช้ระบบนี้ เป้าหมายของผู้ที่ทำระบบมีเจตนาทำให้ประชาชนเข้าถึงระบบแบบเบอร์เดียวกัน เพื่อง่ายต่อการจดจำ แต่ส่วนของ กทม.จะขอดูระบบการทดลองของ 191 และ สพฉ.ก่อนว่าเกิดความคล่องตัวหรือมีอุปสรรคอย่างไรบ้าง จะยังไม่รีบเริ่มทดลองในช่วงเริ่มต้น เพราะ กทม.ต้องการวางระบบเชื่อมต่อเครือข่ายให้มีประสิทธิภาพก่อน
ที่ผ่านมา การรับเรื่องผ่านเบอร์ 1669 อยู่ที่ประมาณ 6,000,000 ครั้งต่อปี เป็นการร้องขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ฉุกเฉิน 2,000,000 ครั้ง ส่วนอีก 4,000,000 ครั้งไปคาบเกี่ยวกับเหตุที่เป็นหน้าที่ตำรวจหรือหน่วยงานอื่น ส่วนเบอร์ 191 อยู่ที่ประมาณ 5,000,000 ครั้งต่อปี เมื่อควบรวมกันก็จะมีประมาณ 11 ล้านครั้ง คาดว่าจะใช้งบประมาณ 7,000 ล้านบาทในการเปลี่ยนแปลงระบบ
อ่านข่าวอื่นๆ
เครือข่ายสลัม 4 ภาค เรียกร้องที่อยู่อาศัย "คนจนเมือง"
ขนส่งฯ เข้มรถบรรทุกสินค้าติดตั้ง "Twist-Lock" ตู้คอนเทนเนอร์
“ครูปุ๊” เรือจ้าง (ลำบาก) หนุนเด็กได้เรียน กลับถูกตีตรา “พาต่างด้าวเข้าเมือง”