ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

นักอาชญาวิทยา เตือนระวัง Kick off รุนแรงซ้ำรอย

อาชญากรรม
4 ต.ค. 66
13:33
937
Logo Thai PBS
นักอาชญาวิทยา เตือนระวัง Kick off  รุนแรงซ้ำรอย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ถูกหยิบยกเป็นข้อถกเถียงในสังคมทุกครั้งที่ผู้ก่อเหตุรุนแรงจัดอยู่ในวัยเด็กและเยาวชน แม้จะมีบทลงโทษทางอาญา แต่กฎหมายก็มีข้อยกเว้น เนื่องจากกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการรับผิดของเด็กและเยาวชน มีถึง 4 ส่วน ทั้ง พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวฯ, พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก, ประมวลกฎหมายอาญา และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

แต่กระนั้นในแต่ละปี พบว่า เด็กและเยาวชนมีพฤติกรรมก่อเหตุรุนแรงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รายงานของกรมพินิจและคุ้มครองเด็ก ระบุว่าในปี 2565 จากจำนวนคดีเด็กและเยาวชนซึ่งถูกดำเนินคดีโดยสถานพินิจฯ ทั่วประเทศ ทั้งหมด 12,192 คดี ในจำนวนนี้มากถึง 6,306 คดี ที่ผู้กระทำความผิด ศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษา

ดร.จอมเดช ตรีเมฆ นักวิชาการด้านอาชญาวิทยา วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต มองปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในกลุ่มเด็กและเยาวชนว่า ที่ผ่านมามักจะเกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่สังคมมองไม่เห็น เพราะอาจไม่ได้มีการนำเสนอผ่านโซเชียลมีเดียเหมือนปัจจุบัน ต่างจากเคสเด็กชายวัย 14 ที่ก่อเหตุยิงที่พารากอน ซึ่งถือเป็นเคสพิเศษ และเป็นเหตุการณ์ใหญ่ เพราะประเทศไทยไม่เคยมีเหตุในลักษณะนี้

เหตุกราดยิงในเมืองไทย หากนับการก่อเหตุปล้นชิงทอง จ.ลพบุรี เป็นเหตุการณ์ประสงค์ต่อทรัพย์ ยกเว้นเหตุกราดยิงที่ จ.นครราชสีมา และ จ.หนองบัวลำภู ซึ่งไม่ได้ประสงค์ต่อทรัพย์ เช่นเดียวกับกรณีล่าสุด และเป็นเคสแรกเด็กก่อเหตุ

ดร.จอมเดช กล่าวถึง ปัจจัยที่ทำให้เด็กวัยนี้ก่อเหตุรุนแรงและกลายเป็นอาชญากร มีหลายสาเหตุ บางคนอาจโทษการเล่นเกม ข้อเท็จจริง คือ เกมอาจมีปัญหาทำให้อารมณ์ของเด็กไม่ปกติ หรือมีพฤติกรรมเลียนแบบเกม แต่ไม่ได้แปลว่าทุกคนที่เล่นเกมประเภทยิงกัน หรือผู้เล่นเกมทั้งวันทั้งคืนจะออกมาทำแบบนี้ 

แต่อาจมีปัจจัยอื่นประกอบเช่น ครอบครัวมีปัญหา เด็กไม่ได้รับความเอาใจใส่ หรือมีภาวะทางอารมณ์อื่น ๆ เกิดภาวะเจ็บป่วยทางจิตหลายรูปแบบ ทั้งจากเคมีในสมอง การบริโภคอาหาร การใช้ยาเสพติด ดังนั้นอะไรก็ตามที่ประกอบร่างขึ้นมาเป็นคนคนหนึ่ง ก็ต้องไปดู แล้วก็อย่าไปทำให้คนอื่นต้องพบสภาพปัญหาแบบนี้

ดร.จอมเดช กล่าวว่า การถูกกดดันจากครอบครัวตั้งแต่วัยอนุบาล เป็นปัจจัยหนึ่งในการสร้างความเครียด ซึ่งสาเหตุที่ทำให้พฤติกรรมมนุษย์ก่ออาชญากรรมมีหลาย ปัจจัย ส่วนแนวทางแก้ไขปัญหาอยากให้มองที่การครอบครองอาวุธปืน ซึ่งใครก็สามารถเข้าถึงและหาได้ง่ายเกินไป การขออนุญาตครอบครองอาวุธปืนยังไม่รัดกุม

การครอบครองอาวุธปืน ควรย้ายกลับไปให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ควบคุมดูแลปืนทุกกระบอกที่เข้ามาจะต้องมีการเก็บปลอกกระสุน หัวกระสุน ทำสถิติบันทึกไว้ก่อน และต้องไม่อนุญาตให้ใครครอบครองง่าย ๆ ตำรวจเองก็ต้องจริงจังกับการปราบปราม ทั้งการขายและครอบครองอาวุธปืนให้มากกว่านี้

ดร.จอมเดช กล่าวอีกว่า สำหรับผู้กระทำผิดที่เป็นเยาวชน แม้จะมีบทลงโทษตามกฎหมายอาญา ที่ระบุว่า หากผู้กระทำความผิดมีอายุระหว่าง 12-15 ปี ทำผิดไม่ต้องรับโทษ แต่ศาลมีอำนาจสั่งมาตรการพิเศษ เช่น ว่ากล่าวตักเตือน ส่งไปสถานฝึกอบรมหรือคุมประพฤติ

และกรณีที่ผู้ทำความผิดมีอายุ 15-18 ปี ศาลอาจตัดสินลงโทษหรือไม่ก็ได้ ถ้าลงโทษให้ลดโทษกึ่งหนึ่ง หรือ 1 ใน 3 แต่ถ้าไม่ลงโทษให้กำหนดมาตรการฟื้นฟู และส่งเด็กเข้าไปอยู่ในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน

สำหรับการรับโทษเท่านี้ สังคมอาจจะมองตามอารมณ์ว่า ไม่สะใจ แต่ถ้ามองกลับกันว่า หากเป็นตัวเรา และเคยเป็นเด็ก วันนั้นเราทำผิด อาจจะทำผิดไม่ร้ายแรงขนาดนี้ ขโมยของเล็ก ๆ น้อย ๆ ในช่วงเวลานั้น เราไม่ได้คิดแบบผู้ใหญ่ นี่คือวัตถุประสงค์ของกฎหมายคุ้มครองเด็ก จึงเป็นข้อที่ให้ไว้ว่า เพื่อที่ว่ามีการไตร่ตรอง วุฒิภาวะที่ต่ำกว่าคนในวัยผู้ใหญ่ ในการที่เด็กและวัยรุ่น จะกระทำอะไรสักอย่าง

ดร.จอมเดช ให้ข้อคิดว่า สังคมควรจะต้องถอดความสะใจออก แล้วคิดว่าการเอาเด็กคนหนึ่ง ให้ติดคุกตลอดชีวิต เหมือนผู้ใหญ่ ถามว่าได้ประโยชน์อะไร เราจะเสียบุคคลากรไปคนหนึ่ง ซึ่งคนคนนี้ในอนาคตอาจจะกลับมาดีก็ได้ เราจะรู้ได้อย่างไร ซึ่งกฎหมายคุ้มครองเด็กจะมองอย่างนี้ หรืออาจจะมองว่า เราไม่ควรจะให้โอกาสเขาแล้ว แต่ในหลักสากลทุกประเทศไม่มีใครคิดแบบนี้

มีแต่กองเชียร์ในแป้นคีย์บอร์ดที่คิดว่า ให้มันตายไปเลย ประหารชีวิตไปเลย เดี๋ยวก็หลุดเพราะเป็นเด็ก แต่เราลืมคิดว่า หากเราเป็นตัวเด็ก หรือเด็กคนนั้นเป็นลูกหลานของเรา และเขาทำแบบนี้ เราจะไม่ให้อภัย จะให้เขาตายตามทุกคนไปเลย ใช่หรือไม่

นักวิชาการด้านอาชญาวิทยา ตั้งคำถามว่า เราไม่เห็นใจครอบครัวผู้สูญเสีย หรือคนตายใช่หรือไม่ ต้องบอกว่า เห็นใจมาก ๆ แต่ถ้าต้องการให้ผู้กระทำความผิดตายตกไปตามกันก็ได้ และสังคมต้องการเช่นนี้หรือไม่ อยู่ที่สังคมต้องการให้กฎหมายเป็นแบบไหน ถ้าต้องการให้ตายตกไปตามกัน ก็ให้สภาผ่านร่างยกเลิกกฎหมายคุ้มครองเด็กฯ ไป

อยากกระตุกอารมณ์สังคมให้คิดว่า การบำบัดคนคนหนึ่งให้หาย คือ วัตถุประสงค์ของการลงโทษที่แท้จริง ไม่ใช่ว่าการแก้แค้นทดแทน การลงโทษไม่ใช่ตาต่อตา ฟันต่อฟัน แต่จะทำอย่างไร ให้คนที่เคยกระทำความผิด กลับมาเป็นบุคลากรที่มีประโยชน์ ไม่ต้องมาก แค่ไม่เป็นภาระต่อสังคม นี่คือวัตถุประสงค์ที่ควรจะเป็น แต่บ้านเราอาจจะยังไม่ได้ไปขนาดนั้น

นักวิชาการคนเดิม กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า เมื่อมีการ Kick off หรือเริ่มต้นแล้ว จึงเป็นไปได้ว่าเหตุการณ์ลักษณะนี้ อาจจะกลับมาอีก จึงต้องเฝ้าระวัง ซึ่งตามธรรมชาติของอาชญากรรม อาจจะมีคนทำตาม ทั้งจากคนที่ปกติและไม่ปกติเช่นเดียวกัน

ดังนั้นทางออกที่ดี คือ สื่อ ไม่ควรตอกย้ำเหตุการณ์ดังกล่าวซ้ำ ๆ หลายวัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาพจำต่อ เนื่อง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

กสม.เสียใจเหตุยิงในห้าง วอนหยุดเผยแพร่ภาพ-ข้อมูลเด็กผู้ก่อเหตุ

เผยผลชันสูตรนักท่องเที่ยวเสียชีวิต เหตุเด็ก 14 ยิงในพารากอน

ประมวล 3 เหตุการณ์ "เยาวชน" ก่อเหตุรุนแรง

แจ้ง 5 ข้อหา! คดีเด็กชาย 14 ปียิงในพารากอน ส่งตัวศาลเยาวชน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง