แต่ถ้าไปถามคนในแวดวง อีสปอร์ต มองว่า เกมมีการระบุความเหมาะสมของเนื้อหาไว้แล้ว แต่รัฐควรพิจารณามาตรการทางกฎหมายเพื่อจำกัดช่วงอายุของผู้เล่นให้เหมาะสมและรัดกุม
วันนี้ (4 ต.ค.2566) สันติ โหลทอง นายกสมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทย กล่าวว่าเกมประเภท "แบทเทิลรอแยล" คือ การแข่งขันเพื่อเอาชีวิตรอดด้วยการต่อสู้ จะเล่นแบบเดี่ยว หรือแบบทีมก็ได้
เป็นเกมที่มียอดดาวน์โหลดสูงระดับต้นๆ ของโลก ส่วนใหญ่เป็นเกมฟรีดาวน์โหลด ไม่จำกัดช่วงอายุ แม้รายละเอียดก่อนดาวน์โหลด จะระบุความเหมาะสมของเนื้อหา และความรุนแรงเอาไว้ แต่เป็นเพียงคำเตือนตามมาตรการ ที่กระทรวงวัฒนธรรมกำหนด แต่ไม่พบว่าหากฝ่าฝืน จะมีมาตรการลงโทษใดๆ เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้าถึงได้ง่าย
อ่าน : ย้อนรอย! ปูมหลังเยาวชนก่อเหตุกราดยิงในสหรัฐฯ
ภาพประกอบข่าว
สำหรับวิธีป้องกันเบื้องต้น แนะนำว่า ผู้ปกครอง ควรจำกัดสิทธิดาวน์โหลด ในแอปสโตร์ หรือ เพลย์ สโตร์ ในโทรศัพท์ของเด็ก ขณะเดียวกันก็ต้องตรวจสอบสม่ำเสมอ เพราะเด็กบางคนรู้วิธีปลดล็อก และปลอมไอดีเพื่อโกงอายุเข้าถึงสิทธิการใช้แอปพลิเคชันต่างๆ ภาครัฐควรพิจารณาเรื่องนี้อย่างเข้มงวด ออกเป็นกฎหมายที่มีบทลงโทษ
สำหรับ "เกมแบทเทิลรอแยล" ไม่มีความสมจริงเท่ากับ เกมประเภท SPF ในฐานะผู้จัดรายการแข่งขันเกม อีสปอร์ต บอกว่า มีการจำกัดอายุผู้แข่งขัน โดยผู้แข่งขันต้องอายุ 15 ปีขึ้นไป เป็นเงื่อนไขบนเวที ที่ต้องมาเจอกันที่สนามกลาง
แต่การแข่งทางออนไลน์ จำกัดช่วงอายุผู้แข่งขันยาก
อ่าน : "บิ๊กต่อ" สั่งการ สอท.ตั้งทีมกวาดล้างเว็บไซต์ขายปืนเถื่อน
ประสพโชค จันทรมงคล กรรมการผู้จัดการ บ.โคลเวอร์ โซลูชั่น จำกัด บอกว่า การถูกมองว่า "เกม" เป็นส่วนหนึ่งของเหตุความรุนแรง มองว่าจะเกิดปัญหากับคนเล่นเกมที่ไปมีอารมณ์ร่วมกับเกม จนแยกชีวิตความเป็นจริงไม่ได้ เพราะใช้เวลากับเกมมากเกินไป สถาบันครอบครัว คือโค้ชคนแรก ต้องเข้าถึงเรื่องนี้ให้ได้
ภาพประกอบข่าว - ครอบครัวคือโค้ชคนแรกของลูก
ส่วนนักกีฬา E-Sport นายกสมาคมฯ บอกว่า มีนักจิตวิทยา ทำงานร่วมในทีมอยู่แล้ว เพราะยอมรับว่า การซ้อมและแข่งขันมีความเครียดเหมือนกีฬาทั่วไป และแบ่งเวลาซ้อมที่ไม่รบกวนชีวิตประจำวัน