ปลายภาคเรียนที่ 1 ของปีการศึกษา 2566 ท่ามกลางอากาศร้อนอบอ้าวหลังฝนตก ชาวบ้านบอกว่า นี่คือช่วงเวลาเห็ดป่าออก และเป็นช่วงที่เหมาะสมที่สุด ที่ป่าชุมชนดงน้ำคำ เนื้อที่กว่า 900 ไร่ ใน ต.โนนสวรรค์ อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด จะถูกใช้เป็นห้องเรียนธรรมชาติ ของหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา โรงเรียนสังกัด สำงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่สำนักงาน ป.ป.ช.พยายามผลักดันให้เกิดขึ้นในกระบวนการการศึกษาของไทย เพื่อให้เด็กๆ ในโรงเรียนที่อยู่ใกล้ป่าชุมชนได้เรียนรู้เรื่องการทุจริตเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ
นักเรียน โรงเรียนบ้านน้ำคำ เริ่มเรียนด้วยความตื่นเต้น พวกเขามีครูที่สอนวิธีเก็บเห็ด เพื่อเรียนรู้คุณค่าของป่า และพาพวกเขาเก็บขยะ เพื่อรู้จักการดูแลป่า เด็กๆเป็นผู้รับและเป็นผู้ให้ที่อ่อนน้อมต่อธรรมชาติ เตรียมความพร้อมก่อนเริ่มเรียนกับครูคนใหม่ ที่หวังว่าห้องเรียนนี้จะปลูกป่าในใจของเด็กๆ
สตรองพิทักษ์ป่ากับหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา
จุมพล โคตรคำ เครือข่ายสตรองพิทักษ์ป่า จ.ร้อยเอ็ด บอกว่า เขาภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่ครู เพื่อถ่ายทอดการทำงานของเครือข่ายป่าชุมชน ตั้งแต่ปี 2553 ที่ชาวบ้านได้ร่วมกันลาดตระเวนปกป้องป่าจากขบวนการตัดไม้มีค่า ปัจจุบันมีไม้พะยูงกว่า 70 ต้นถูกตัดออกจากป่าแห่งนี้ ที่ยังคงหลงเหลืออยู่แม้ไม่มาก แต่พวกเขาก็อยากรักษาไว้ให้เด็กๆรุ่นใหม่ ได้เห็นถึงคุณค่าของป่าผืนนี้
จุมพลบอกว่า การทำงานอาสาของเครือข่ายป่าชุมชน เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น เมื่อมีเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ลงมาเป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมาย เพราะชาวบ้านต้องต่อสู่กับนายทุนและขบวนการลักลอบตัดไม้มีค่า ที่มีเจ้าหน้าที่รัฐช่วยเหลือ
การทำงานของ ป.ป.ช. นอกจากเป็นพี่เลี้ยงแล้ว ยังใช้หลักสูตรต้านทุจริตศึกษา มาเชื่อมการทำงานระหว่างเครือข่ายป่าชุมชนกับเยาวชน ในช่วงปี 2565-2566 มีการสร้างเครือข่าย STRONG พิทักษ์ป่าและทรัพยากรธรรมชาติ เป็นโมเดลการทำงานที่เข้มแข็งร่วมกับเครือข่ายป่าชุมชนเกือบ 200 แห่งในจังหวัดร้อยเอ็ด
เขาบอกว่า การที่ ป.ป.ช. เข้ามาทำงานกับเครือข่ายป่าชุมชน ตั้งชมรมสตรองพิทักษ์ป่า ทำให้ชาวบ้านมีความมั่นใจมากขึ้น กล้าทำงานที่เสี่ยง โดยรู้ข้อมูลของขบวนการลักลอบตัดไม้ เข้าใจขั้นตอนกฎหมาย การควบคุมตัวผู้กระทำผิด การแจ้งตำรวจ รวมทั้งติดตามคดี
แต่การทำงานของคนรุ่นเราจะไม่มีประโยชน์อะไรเลย หากคนรุ่นหลังไม่เห็นคุณค่าและสานต่อ ตอนนั้น ผอ.ธีรัตน์ บางเพ็ชร จึงได้แนะนำให้เราทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน และโรงเรียน เพื่อปลูกป่าในใจคน ให้ทุกคนรักป่า และช่วยกันดูแลป่า
ส่วนเด็กๆที่มาเรียนในครั้งนี้ ก็บอกว่า รู้สึกสนุกและภูมิใจที่ชุมชนของพวกเขามีป่าผืนใหญ่ เป็นแหล่งอาหาร น้องอั่งเปา หรือ ด.ช.ศุภวิชญ์ จ้อยอารี กล่าวว่า
โตขึ้นผมอยากมาเป็นอาสาพิทักษ์ป่าครับ อยากช่วยคุณลุงดูแลป่า
เมื่อมีเด็กๆเข้าป่า กลุ่ม อ.ส.ม. ก็เข้ามาเป็นแนวร่วมสำคัญ หลายคนเป็นคุณแม่ คุณป้า คุณย่า และคุณยายของเด็กๆ อยู่แล้ว จึงคุ้นชิน และได้ส่งต่อภูมิปัญหาความรู้ในการหาของป่าให้กับเด็กๆ เพ็ญศรี เนื้อจันทรา ประธาน อสม.ม.3 บ้านน้ำคำ บอกว่า เพื่อให้การทำกิจกรรมดูแลป่ามีความต่อเนื่อง ชุมชนต้องร่วมมือกัน ดึงเด็กๆมาทำกิจกรรมทั้งในระดับครอบครัว และชุมชน ที่สำคัญการจัดการป่าชุมชน ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการใช้ประโยชน์และร่วมดูแลป่าอย่างยั่งยืน เพื่อส่งต่อแหล่งอาหารให้กับลูกหลานต่อไป
ความหวังป่าชุมชน ขาย “คาร์บอนเครดิต
ต้นเดือนกันยายน 2566 เครือข่ายป่าชุมชน จ. ร้อยเอ็ด ร่วมสัมมนาเชิงปฏิบัติการแนวทางลดการทุจริตด้านทรัพยากรป่าไม้ จัดโดย สำนักส่งเสริมและบูรณาการการมีส่วนร่วมต้านทุจริต ป.ป.ช. โดยที่พวกเขาสนใจหัวข้อ การเข้าร่วมโครงการภาคป่าไม้ที่ได้รับการรับรองคาร์บอนเครดิต นำไปสู่การซื้อขายคาร์บอนเครดิต ที่ทำให้เครือข่ายป่าชุมชนมีรายได้ มาบริหารจัดการดูแลผืนป่า ซึ่งมีเจ้าหน้าที่องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ให้ความรู้
ก่อนหน้านี้ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ ทำโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ตั้งแต่ปี 2564 ปัจจุบันยังทำต่อเนื่อง โดยร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ชุมชน พร้อมกับองค์กรเอกชน ส่งผลให้โครงการฯ ครอบคลุมพื้นที่ป่าชุมชน 129 แห่งใน 10 จังหวัด ครอบคลุมพื้นที่ 194,850 ไร่ ป้อนคาร์บอนได้ 500,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และสร้างประโยชน์แก่ชุมชนในป่ากว่า 25,082 ครัวเรือน และคาดว่าจะทำให้เกิดรายได้แก่ชุมชนเพิ่มขึ้นประมาณ 500-630 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายสำคัญ เพื่อรับมือกับภาวะโลกร้อนหรือโลกรวน และร่วมกันส่งต่อโลกที่ยั่งยืนให้รุ่นลูกรุ่นหลาน
24 ธันวาคม 2565 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดกิจกรรม “Kick off ป่าชุมชนแห่งแรก สู่ตลาดคาร์บอนเครดิต” เปิดตัวป่าชุมชนแห่งแรกที่มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้ ที่ “ป่าชุมชนบ้านโค้งตาบาง บ้านโค้งตาบาง หมู่ 10 ต.ท่าไม้รวก อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี
จากจุดเริ่มต้นของป่าชุมชนบ้านโค้งตาบาง นำไปสู่คำถามของเครือข่ายป่าชุมชนเกือบ 200 แห่งใน จ.ร้อยเอ็ด ว่าพวกเขามีโอกาสเช่นนี้หรือไม่
ข้อมูลจาก องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เผยให้เห็นว่า ตามยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ ประเทศไทยต้องเพิ่มแหล่งกักเก็บและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 120 MtCO2eq ภายในปี ค.ศ. 2037 ภาครัฐจึงส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม โดยดำเนินการผลักดันและขับเคลื่อนการปลูกป่าธรรมชาติและปลูกป่าเศรษฐกิจในพื้นที่ของรัฐ และแบ่งปันคาร์บอนเครดิต โดยขยายไปยังภาคประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งป่าชุมชนซึ่งมีศักยภาพและมีความพร้อมดำเนินการ
ปัจจุบันประเทศไทยมีการจัดตั้งป่าชุมชนแล้ว 12,117 แห่งทั่วประเทศ รักษาพื้นที่ป่าได้กว่า 6 ล้านไร่ หากดำเนินการทุกพื้นที่รวมกันคาดว่าจะสามารถกักเก็บก๊าซเรือนกระจกได้ราว 6.27 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
การผลักดันให้ป่าชุมชนสามารถซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้ นับเป็นอีกหนึ่งก้าวที่สำคัญของประเทศ ซึ่งวันที่ 16 มีนาคม 2566 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบออกกฎหมายอนุบัญญัติ ตามพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 จำนวน 4 ฉบับ เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากไม้และใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชุมชน การศึกษาค้นคว้า วิจัย ในป่าชุมชน การตรวจสอบและประเมินผลป่าชุมชน ตลอดจนการกำหนดสัดส่วนการแบ่งปันคาร์บอนเครดิต
ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจมีส่วนร่วมในการสนับสนุนป่าชุมชน รวมทั้งเพิ่มศักยภาพการดำเนินงานของป่าชุมชนในการกักเก็บคาร์บอนและกระตุ้นให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามาสนับสนุนชุมชนที่ดูแลรักษาป่าชุมชนให้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก
ธีรัตน์ บางเพ็ชร ผอ.สำนักส่งเสริมและบูรณาการการมีส่วนร่วมต้านทุจริต ป.ป.ช. เปิดเผยว่า จากจุดเริ่มต้นที่เขานำโมเดล STRONG พิทักษ์ป่าไปทำงานกับเครือข่ายป่าชุมชนเกือบ 200 แห่งใน จ.ร้อยเอ็ด ทำให้เห็นความสำคัญในการขยายการทำงานไปยังทั่วประเทศ เพื่อสนับสนุนการทำงานของเครือข่ายป่าชุมชนที่ปกป้องผืนป่าด้วยความเสี่ยง ที่ต้องปะทะกับขบวนการลักลอบตัดไม้มีค่า
แม้จะทำงานด้วยจิตอาสา แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าชาวบ้านที่ไม่ได้มีเงินเดือนมีรายได้สูง กลับต้องระดมทุนทรัพย์ที่มีอย่างจำกัดมาดูแลป่า ทั้งการสร้างแนวรั้วขอบเขตป่าป้องกันการบุกรุก การสร้างป้อมยาม และค่าน้ำมันรถเพื่อออกลาดตระเวน ทำให้สามารถควบคุมตัวผู้ที่เข้ามาลักลอบตัดไม้พะยูง
แล้วเรามีเงินเดือน มีหน้าที่ในฐานะ ป.ป.ช. เราไม่อาจปล่อยให้ชาวบ้านทำงานปกป้องทรัพยากรตามลำพังได้ นอกจากเข้าไปทำงานร่วมเป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ช่วยติดตามคดี ป.ป.ช.เองเตรียมวางแนวทางเพื่อประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมให้ป่าชุมชนสามารถเข้าร่วมโครงการซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้
เพราะรายได้จากการเข้าร่วมโครงการ หรือจากการขายคาร์บอนเครดิตในอนาคต จะเป็นทุนทรัพย์ที่สนับสนุนให้ชาวบ้านทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เครือข่ายป่าชุมชนหลายแห่งวางแผนถึงการพัฒนาผืนป่าของพวกเขา เป็นสถานที่เรียนรู้ หรือแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ เพื่อให้ลูกหลานในชุมชน หรือคนรุ่นใหม่ได้เข้ามาร่วมทำงาน เพราะการดูแลป่าจะไม่ใช่แค่การเสียสละ แต่พวกเขาสามารถบริหารจัดการเงินทุนให้เกิดประโยชน์ เป็นเหมือนมรดกจากการดูแลป่า ที่ส่งต่อถึงลูกหลานในชุมชน เพราะนี่คือหลักประกันที่ทำให้การดูแลรักษาป่าเป็นไปอย่างยั่งยืนในอนาคต