จากเหตุการณ์ยิงภายในห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน ด้วยฝีมือเยาวชน 14 ปี แม้เรื่องราวจะผ่านมาเกือบสัปดาห์ แต่ก็ยังคงเป็นที่ถกเถียง สังคมต่าง พลิกตะแคงทุกมุมของเรื่องนี้ว่า ไม่ว่าจะเป็น “ปืน”อาวุธก่อเหตุ หรือ พวงผลจาก “เกม” รวมถึง “การปลูกฝังเลี้ยงดู” ทุกประเด็นถูกนำมาให้ฉุกคิด โดยไม่อาจแย้งได้
น้ำหวาน วิชชุดา ไพจิตรกาญจนกุล อดีตนักกีฬายิงปืนทีมชาติไทย และอดีตผู้บริหารกีฬาอีสปอร์ต
หากถามคนคุ้นกับปืน อย่าง “น้ำหวาน” วิชชุดา ไพจิตรกาญจนกุล อดีตนักกีฬายิงปืนทีมชาติไทย และอดีตผู้บริหารกีฬาอีสปอร์ต เล่าว่า อดีตเป็นเด็กติดเกม เช้า-สาย-บ่าย-เย็น หมกตัวอยู่ร้านเกมตลอด ไม่ได้ชื่นชอบการเรียนหนังสือมากนัก และเกมที่เล่นส่วนใหญ่เป็นเกมต่อสู้ คุณพ่อ จึงมีความคิดอยากเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมลูก แทนที่จะเล่นเกม ให้หันมาเล่นกีฬาแทน จึงสนับสนุนกีฬายิงปืน เริ่มจับปืนครั้งแรกสมัยมัธยมศึกษาปีที่ 2 ทั้งคุณพ่อและครูฝึกสอน ชี้ให้ตระหนักถึงสิ่งที่สัมผัสจับต้องอยู่ว่า อาจก่ออันตรายกับตนเองและผู้อื่น ฉะนั้นต้องคำนึงถึงความปลอดภัยให้มาก การได้จับปืนจริงกับปืนในเกมแตกต่างกัน
น้ำหวาน วิชชุดา ไพจิตรกาญจนกุล อดีตนักกีฬายิงปืนทีมชาติไทย และอดีตผู้บริหารกีฬาอีสปอร์ต
การรบการยิงกันในเกม ก็ไม่เคยมีความรู้สึกอยากออกมายิงคนข้างนอก ส่วนการจับปืนในชีวิตจริงทุกอย่างมีมาตรฐานและมีกติกา กีฬายิงปืน เป็นเรื่องของการฝึกสมาธิ
น้ำหวาน ยังเล่าว่า กีฬาชนิดนี้ มีต้นทุนการเรียน การเล่น ที่ค่อนข้างสูง ปืน 1 กระบอก ราคาเกือบ 140,000 บาท ไหนจะลูกกระสุนใช้ฝึกซ้อมตกนัดละ 18.50 บาท ใน 1 วันต้องฝึกยิงไม่ต่ำกว่า 200 นัด โชคดีที่คุณพ่อสนับสนุน ปลูกฝังลูก ๆ ทุกคนเรื่องกีฬา พี่ชายเป็นนักแบดมินตัน ส่วนน้องชายเป็นนักบาสเกตบอส และสอนเสมอว่า ไม่ต้องเครียดกับการเรียน ขอให้เป็นคนดีของสังคม
ขณะเดียวกันให้ความอบอุ่นเสมอกับลูก ๆ เสมอ ทุกวันนี้หากมีความเครียดเกิดขึ้น ก็ใช้การเล่นเกมเพื่อผ่อนคลาย จึงไม่อยากให้มองเกมเป็นจำเลย และสนับสนุนให้แก้ปัญหาเรื่องการถือครองอาวุธปืน
การเข้าถึงปืนปัจจุบันง่ายมาก เพียงแค่แบงค์เทา 3 ใบก็ได้รับใบอนุญาตครอบครองปืนแล้ว เห็นว่ากฎหมายทุกวันนี้อ่อนเกินไป ต้องมีความเข้มงวดกว่านี้
ด้านนายธรรมชาติ ทานตะวันสดใส ผู้นำกลุ่มและผู้ปกครองอาสา โครงการคุณเปลี่ยนลูกเปลี่ยน สสส. มองเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นนี้ ว่า ถือเป็นโอกาสที่พ่อแม่ลูกจะได้มาพูดคุยสำรวจจิตใจลูก และถอดบทเรียนเรื่องราวในสังคมไปด้วยกัน ทำแบบนี้เสมอ มาตั้งแต่มีกราดยิงที่โคราช หรือศูนย์เล็กที่หนองบัวลำภู สอนให้ลูกสาวที่ปัจจุบันจะเข้าสู่วัย 8 ปี รู้จักเอาตัวรอดจากเหตุการณ์ความรุนแรงเช่นนี้ว่าต้องทำอย่างไร และก็จะพูดคุยถึงคนที่ลงมือกระทำด้วย อย่างเช่นผู้ก่อเหตุกราดยิงที่โคราช อาจเพราะการกดขี่บีบคั้นทางจิตใจ หรือแบบนี้ก็สอนลูก ว่า ต้องไม่ทำร้ายตนเอง ไม่ทำร้ายผู้อื่น และไม่ทำร้ายข้าวของ ส่วนพฤติกรรมเด็กวัยนี้ หนีไม่พ้นเรื่อง การเล่นเกม แต่ทุกครั้งหลังการเล่นก็จะแอบสำรวจสภาพจิตใจลูกเสมอ ถ้าหงุดหงิดเป็นผลมาจากเกม หรือมีอารมณ์รุนแรงก็ไม่ให้เล่นช่วงเวลาหนึ่ง และพ่อแม่เองก็ต้องเป็นแบบอย่าง
ธรรมชาติ ทานตะวันสดใส
ต้องเรียนรู้ร่วมกัน เพราะความพอดีของแต่ละครอบครัวไม่เหมือนกัน ไม่เข้มงวดจนเกินไป บางคนบอกเลี้ยงลูกต้องตี บางคนก็อาจไม่ตีก็ได้ เหมือนที่ครอบครัวก็ไม่ได้ตี แต่จะเน้นการคุยกัน
พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ชี้ว่า การซึมซับพฤติกรรมความรุนแรงในวัยเด็ก ไม่ได้มีแค่ปัจจัยเดียว มีหลายส่วนเข้ามาเกี่ยวข้อง และต้องสะสมเป็นเวลานาน ตั้งแต่ได้รับจากโรงเรียน, ได้รับจากสื่อ ทั้งข่าวสาร โซเชียล เกม และครอบครัว เด็กใกล้สิ่งไหน และอยู่ใช้เวลาอยู่ด้วยเป็นเวลานานก็ได้รับผลกระทบกับสิ่งนั้น ดังนั้นทุกฝ่ายจะต้องทำหน้าที่ของตนให้ดี โรงเรียนต้องดูแลเด็กให้ดี, สื่อ ต้องมีเนื้อหาที่สร้างสรรค์ รื่นรมย์, ครอบครัวต้องเข้าใจและมีเมตตากับเด็ก
เพราะทุกการแสดงออกของเด็ก บ่งบอกกระบวนการคิด และประสบการณ์ที่พวกเขาเผชิญ ดังนั้นการจะเติมแต่งสีใดให้กับเด็ก ที่เปรียบเสมือนผ้าขาว ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน เพื่อไม่ให้ความเคยชินเป็นบ่มเพาะเป็นนิสัยและกลายเป็นพฤติกรรมในอนาคต
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
เหตุยิงในห้าง "รัฐ-พารากอน" เยียวยาผู้เสียชีวิตคนละ 6.2 ล้านบาท
ผู้ปกครองเด็กวัย 14 ส่งข้อความขอโทษเหตุการณ์ยิงในพารากอน