ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รับมือคลื่นมะเร็ง “มฤตยูเงียบ” โรคร้ายคร่าชีวิตคนไทย

สังคม
1 พ.ย. 66
16:50
3,729
Logo Thai PBS
รับมือคลื่นมะเร็ง “มฤตยูเงียบ” โรคร้ายคร่าชีวิตคนไทย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

“ครอบครัวเสียชีวิตจากโรคมะเร็งกันหมด พ่อเป็นมะเร็งลำไส้ แม่เป็นมะเร็งตับ ทั้งที่ไม่ดื่มเหล้า พี่สาวเป็นมะเร็งกระดูก น้องชายเป็นมะเร็งกระดูก ลามเป็นมะเร็งปอด กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง และเสียชีวิตในเวลาต่อมา ”ธาราทิพย์ เกียรติเรืองชัย เล่าประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับครอบครัว

ธาราทิพย์ บอกว่า ไม่มีสัญญาณเตือนมาก่อนว่า สมาชิกในครอบครัวจะล้มป่วยด้วยโรคร้าย เนื่องจากจะมีการตรวจสุขภาพประจำปี เจาะเลือด , CT สแกน โดยเฉพาะน้องชาย ซึ่งเป็นนักกีฬาไตรกีฬาออกกำลังกายต่อเนื่องแต่ก็หนีไม่พ้น

ตอนนี้ต้องใช้ชีวิตแบบระวังตัว ไม่ประมาท รู้ตัวเองว่ามีความเสี่ยงมะเร็ง ทำได้แค่สังเกตความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ห่วงเรื่องของช่องท้อง ,ทรวงอก ,มดลูก และการยอมรับความจริง อย่างมีสติจะช่วยทำให้ทุกอย่างผ่านไปได้ เป็นมะเร็งก็เหมือนกับการถูกหวย เพราะไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นวันไหน จะเป็นก็เป็น เลี่ยงไม่ได้  

เปิดสถิติปี 2565 ข้อมูลทะเบียนมะเร็งไทย

ข้อมูลสถิติทะเบียนมะเร็งประเทศไทย ปี 2565 โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ระบุว่า ในแต่ละปีไทยจะมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่กว่า 140,000 คน หรือ ประมาณ 400 คนต่อวัน

โดยโรคมะเร็งที่พบมาก 5 อันดับแรกในคนไทย ได้แก่ มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่/ทวารหนัก และมะเร็งปากมดลูก

และมะเร็งที่พบบ่อย 5 อันดับแรกใน ชายไทย คือ มะเร็งตับและท่อน้ำดี ,มะเร็งปอด ,มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง ,มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

ส่วนมะเร็งที่พบบ่อย 5 อันดับแรกใน หญิงไทย คือ มะเร็งเต้านม,มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง,มะเร็งตับและท่อน้ำดี, มะเร็งปอด และมะเร็งปากมดลูก

ปฎิเสธไม่ได้ว่า การป่วยมะเร็ง เป็นโรคที่ต้องมีค่าใช้จ่ายสูงมาก โดยเฉพาะค่ารักษาพยาบาล ซึ่ง ครอบครัวของธาราทิพย์ ก็เช่นกัน ใช้สิทธิการรักษาจากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและประกันสังคม แต่กระบวนการรักษาต้องใช้เวลา จึงไม่จำเป็นต้องทุ่มเงินทั้งหมดที่มีไปกับการรักษา เพราะไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะหาย หรือ จะเสียชีวิตในคราวนั้น มะเร็งเป็นโรคที่ต้องใช้เวลา

แม้จะมีสิทธิรักษาเดิม แต่หากร่วมจ่ายจะช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของยารักษา ที่มีผลข้างเคียงน้อย หรือ ห้องพักที่เพิ่มความสะดวกสบาย แต่การรับมือกับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวันยังไม่เพียงพอ

เต้านม-ปากมดลูก“มะเร็ง”คร่าชีวิตหญิงไทย

รศ.พญ.เยาวนุช คงด่าน นายกสมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย

รศ.พญ.เยาวนุช คงด่าน นายกสมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย

รศ.พญ.เยาวนุช คงด่าน นายกสมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย

ปฎิเสธไม่ได้ว่า “มะเร็ง” เมื่อป่วยแล้วไม่ได้ตายทุกคน หรือเป็นแล้วจะสามารถรักษาหายได้เด็ด ขาด ไม่กลับมาเป็นอีก แต่ก็มีผู้ป่วยมะเร็งจำนวนไม่น้อยเมื่อเข้ารับการรักษาแล้ว มีอาการดีขึ้น และสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ
โดยเฉพาะมะเร็งในเพศหญิง ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ ระบุว่า ปัจจุบัน มีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ 17,000 คนต่อปี เสียชีวิต 4,800 คนต่อปี มะเร็งปากมดลูก พบผู้ป่วยรายใหม่ 5,400 คนต่อปี เสียชีวิต 2,200 คนต่อปี

รศ.พญ.เยาวนุช คงด่าน นายกสมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย บอกว่า ปัจจัยของการเกิดมะเร็งเต้านมเกิดจากพันธุกรรม 5-10 %, พฤติกรรมการบริโภคอาหารที่มีไขมันสูง ฮอร์โมน การมีประจำเดือนที่มากเกินไป และภาวะอ้วน

โดยอัตราการเกิดมะเร็งในคนไทย พบเร็วกว่าต่างชาติ คนไทยพบในกลุ่มอายุ 40 ปี ส่วนต่าง ชาติ 50 ปี สาเหตุเพราะเนื้อเต้านมของคนเอเชียหนาแน่นกว่าชาวต่างชาติ ซึ่งความหนาแน่นของเนื้อเต้านมมีความสัมพันธ์กับฮอร์โมน ไม่ได้อยู่ที่ขนาดของเต้านมว่าเล็กหรือใหญ่

รศ.พญ.เยาวนุช ยังบอกอีกว่า หญิงโสดมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้ามากกว่า หญิงที่มีครอบครัวมีบุตร เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจน มีโอกาสหยุดการทำงาน เมื่อตั้งครรภ์ ในขณะที่หญิงโสดมีฮอร์โมนแต่ไม่ได้ถูกนำไปใช้

นอกจากนี้ หญิงที่มีภาวะอ้วนหลังหมดประจำเดือน ก็มีความเสี่ยงเป็นมะเร็ง จึงควรตรวจคัดกรองเต้านมด้วยตนเองทุกเดือน หากคลำพบก้อนขนาดเล็ก 1-2 ซม. ต้องรีบพบแพทย์ หากเจอสาเหตุเร็วจะมีโอกาสหายถึง 90% หรือตรวจโดยวิธีทำแมมโมแกรม อัลตร้าซาวด์ ถ้าพบความผิดปกติ ตั้งแต่ยังคลำก้อนไม่เจอ การรักษามีโอกาสหายมากกว่า 95% แต่ในกรณีที่ไม่สนใจทิ้งไว้ปล่อยให้ก้อนและต่อมน้ำเหลืองโต โอกาสหายจะมีน้อย

ไม่ใช่แค่มะเร็งเต้านม แต่หญิงไทยจำนวนไม่น้อยมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งปากมดลูก และมีอัตราการเสียชีวิตจำนวนมาก รศ.นพ.วิชัย เติมรุ่งเรืองเลิศ นายกสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย ให้ข้อมูลว่า มะเร็งไม่ได้คร่าชีวิตของผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อปัญหาครอบครัวด้วย หากภรรยาป่วย ลูกไม่สามารถเรียนหนังสือได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนพ่อ หรือ สามีสุดท้ายมักไปมีภรรยาใหม่ ทั้งที่การตรวจจะทำให้ทราบผลเร็ว และรักษาได้หายขาด เพราะการตรวจหาเชื้อไวรัส HPV ให้ผลแม่นยำ 90% ,ส่วนการตรวจแปปสเมียร์ ให้ผลแม่นยำแค่ 60%

  ความเขินอายของผู้หญิง ทำให้พลาดโอกาสตรวจคัดกรอง มะเร็งปากมดลูก ก่อนเป็นไม่มีอาการชัดเจน ผู้ป่วยจะรู้ก็เป็นระยะ 3-4 แล้ว

รศ.นพ.วิชัย กล่าวว่า หัวใจสำคัญของการป้องกันมะเร็งชนิด คือ การ ฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก HPV ให้กับเด็กหญิงวัย 11-20 ปี ก่อนมีเพศสัมพันธ์ โดยอายุเฉลี่ยของผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกอยู่ที่ 35-45 ปี และผู้ป่วยที่รับเชื้อไวรัสจากมะเร็งชนิดนี้มักจะไม่มีอาการแสดงออกทันที แต่เชื้อไวรัสอาจจะอยู่ในตัวก่อนหน้านั้นถึง 10-15 ปี  

จับตา HPV มะเร็งทวารหนักในกลุ่ม LGBT

รศ.นพ.วิชัย เติมรุ่งเรืองเลิศ นายกสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย

รศ.นพ.วิชัย เติมรุ่งเรืองเลิศ นายกสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย

รศ.นพ.วิชัย เติมรุ่งเรืองเลิศ นายกสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย

มะเร็ง เป็นโรคที่สามารถขึ้นได้ทุกอวัยวะของร่างกาย แพร่กระจายและลุกลามอย่างรวดเร็ว นอกจากเชื้อไวรัส วงการแพทย์พบว่า การได้รับเชื้อ HPV ก็มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งทวารหนัก

รศ.นพ.วิชัย กล่าวว่า พฤติกรรมการเปลี่ยนคู่ หรือ รสนิยมทางเพศ ที่แปรเปลี่ยน จากหญิงชาย เป็น ชายชาย การมีเพศสัมพันธ์ทางประตูหลัง หรือทวารหนัก ทำให้ได้รับเชื้อ HPV และกลาย เป็นมะเร็งทวารหนักได้ และมักพบในกลุ่ม LGBT มากขึ้น โดยผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV มีการติดเชื้อ HPV ร่วมด้วยถึง 10 เท่า และพบในชายมากกว่าหญิง ซึ่งเชื้อ HPV จะกระจายตามอวัยวะเพศ เช่น ลูกอัณฑะ และองคชาติ

สัญญาณของมะเร็งทวารหนัก ไม่ชัดเจน ไม่มีลักษณะเจาะจง เริ่มจากมีเลือดออกทางรูทวาร ทำให้เข้าใจผิดคิดว่าเป็นริดสีดวง แต่หากตรวจเจอก้อนและซักประวัติอยู่ในกลุ่ม LGBT โดยละเอียดก็รักษาด้วยวิธีการผ่าตัด ยิงเลเซอร์

ส่วนมะเร็งมักจะพบในกลุ่มผู้ป่วยชายและหญิงในลำดับต้นๆ ของไทย คือ มะเร็งปอด ซึ่งรศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผอ.รพ.จุฬาลงกรณ์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์ โรคปอดและทรวงอก บอกว่า เป็นอันดับต้นๆ ของการเสียชีวิตทั้งชายและหญิง สาเหตุจากการสูบบุหรี่ โดยผู้ชายสูบบุหรี่ 40% ผู้หญิง 2% แต่ครึ่งหนึ่งของผู้หญิงไม่ได้สูบบุหรี่

แม้คนส่วนใหญ่จะทราบว่าบุหรี่ เป็นสาเหตุของการก่อมะเร็ง แต่ไม่สามารถเลิกได้ กว่าจะรู้ตัวว่าป่วย มะเร็งก็ลุกลามแล้ว มะเร็งปอด หากตรวจพบเร็ว โอกาสหายสูง 80-90% โดยวิธีการผ่าตัด และใช้นวัตกรรมการรักษาด้วยยาแบบพุ่งเป้า รักษาแบบเจาะจง ไม่ต่างจากมะเร็งปอดที่เกิดจากปัญหาฝุ่นPM 2.5

 สิ่งที่ต้องเฝ้าระวัง และหมั่นสังเกต หากไอเรื้อรัง ติดต่อกันเป็นเวลานาน 3 สัปดาห์ ต้องรีบพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจคัดกรอง อย่าคิดว่าไอเรื้อรังเป็นเรื่องปกติ  

เปิดสิทธิรักษามะเร็ง ไม่ครอบคลุมทุกมิติ

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบผู้ป่วยมะเร็งในระบบประกันสุขภาพเพิ่มจำนวนมากขึ้น จากจำนวนผู้ป่วยอยู่ที่กว่า100,000 ราย แต่ในปี 2565 ตัวเลขผู้ป่วยมะเร็งอยู่ที่ 250,000 ราย ขณะที่สิทธิรักษามะเร็งในคนไทยมี 3 ระบบที่สามารถใช้สิทธิได้ คือ ระบบหลักประกันสุขภาพ หรือบัตรทอง ,ระบบประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ

พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระบุว่า ปัจจุบันผู้ป่วยโรคมะเร็งในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง 30 บาท เพิ่มขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาอย่างรวดเร็ว นโยบายผู้ป่วยมะเร็งสามารถเข้ารับบริการที่ไหนก็ได้ทั่วประเทศ” (Cancer Anywhere) จึงเกิดขึ้น เพื่อลดคิวการรอคอยรักษา การผ่าตัด การให้เคมีบำบัด และบริการรังสี

และให้ผู้ป่วยเข้ารับบริการยังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพที่มีคิวผู้ป่วยรอไม่มาก และยังลงทุนเพิ่มศักยภาพโรงพยาบาลเพื่อดูแลผู้ป่วยมะเร็ง โดยเฉพาะบริการรังสีรักษา มีโรงพยาบาลรับส่งต่อเฉพาะด้านรังสีรักษา 39 แห่ง ซึ่งบางพื้นที่เขตสุขภาพมีเพียงแห่งเดียว และขณะนี้อยู่ระหว่างการขยายเพิ่มเติม

สำหรับงบประมาณบัตรทองที่ใช้รักษาผู้ป่วยมะเร็ง ปัจจุบันอยู่ที่ 12,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 7 จากงบประมาณบัตรทองทั้งหมด 1,700,000 ล้านบาท และมีนโยบายให้นำรายการยามุ่งเป้าเข้ามาในระบบเพื่อดูแลผู้ป่วยมะเร็ง

สำหรับผู้ป่วยระบบบัตรทองจะมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งให้คำแนะนำ ได้รับยาตามโปรโตคอล ขณะที่ยามะเร็งรายการใหม่ๆ ก็จะถูกนำมาบรรจุเป็นสิทธิประโยชน์มากขึ้น กรณียามะเร็งที่มีราคาแพงก็จะเข้าสู่กลไกต่อรองราคายา เพื่อทำให้ราคายามะเร็งลดลงครึ่งหนึ่งได้ 

นอกจากสิทธิบัตรทอง ผู้ป่วยมะเร็งยังที่เป็นพนักงานประจำและลูกจ้าง ที่มีอายุมากกว่า 15 ปี และไม่เกิน 60 ปี สามารถใช้สิทธิประกันสังคม ตามม.33 และมาตรา 39 รวมทั้งผู้ประกันตน ที่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ซึ่งการรักษาครอบคลุมมะเร็ง 20 ชนิด จ่ายค่ารักษา พยาบาลตามความจริง ไม่จำกัดวงเงิน และไม่เรียกเก็บเงินจากผู้ประกันตน ยกเว้นมีค่าใช้จ่ายในการบริการด้านอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือสิทธิประกันสังคม เช่น กลุ่มยานอกบัญชียาหลัก

ในขณะที่ผู้ใช้สิทธิสวัสดิการข้าราชการ ผู้ป่วยมะเร็ง สามารถตรวจสอบการรักษาพยาบาล ได้ที่ เว็บไซต์กรมบัญชีกลางในหัวข้อรักษาพยาบาล และสามารถติดต่อสถานพยาบาลที่ประสงค์จะเข้ารักษาและดูเงื่อนไขเพื่อสรุปรายการส่วนเกินที่ต้องชำระ หรือส่วนที่เบิกกรมบัญชีกลางได้หรือไม่ตามสิทธิด้วยเช่นกัน

เลี่ยงบริโภคอาหารกระตุ้นเกิดมะเร็ง

ข้อมูลสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ระบุว่า พบสารก่อมะเร็งปนเปื้อนทั้งในอาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะประเภทปิ้งย่าง อาหารสำเร็จรูปที่ใช้ สารกันบูด อาหารหมักดอง ที่มีโซเดียมสูง สารทดแทนความหวาน อาหารทอดที่ใช้น้ำมันซ้ำ ๆ เนื้อแดงที่ผ่านการฉีดสารกันบูด หรือแม้แต่ปลา ที่มีการใส่สารให้สี สารเร่งโตให้กับปลา ซึ่งสารเหล่านี้ คือสารที่ก่อให้เกิดมะเร็ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง