วันนี้ (8พ.ย.2566) ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยกับ “ไทยพีบีเอสออนไลน์” ถึง เงินเยนญี่ปุ่นอ่อนค่ามากสุดในรอบ 26 ปี เมื่อเทียบกับเงินบาท ปัจจัยหลักมาจากการส่งสัญญาณของธนาคารญี่ปุ่น(BOJ) ที่การประชุมครั้งล่าสุดมีมติคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษต่อเนื่องไม่ได้เข้ามาแทรกแซงตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้
โดยค่าเงินของญี่ปุ่นอ่อนค่าลงมากถึง 0.7% มาอยู่ที่ 150.10 เยนต่อดอลลาร์ ในขณะที่พันธบัตรอายุ 10 ปีขาดทุน และหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังจากที่ BOJ ประกาศคงอัตราผลตอบแทนระยะยาวไว้ที่ 1%
นักลงทุนมีความกังวล เพราะถ้า BOJ ไม่ทำอะไรเพิ่มเติมอาจจะมีความเสี่ยงที่เงินเยนยังคงความอ่อนตัวอยู่ ในขณะที่หลายคนอาจจะเริ่มมองว่าการที่เงินเยนอ่อนน่าจะเป็นผลดีต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ทำให้ทาง BOJ ที่เดิมคิดว่าอาจจะแทรกแซงค่าเงินก็ไม่ได้ทำ ดังนั้นน่าจะเห็นการปรับตัวของเงินเยนในทิศทางที่ยังอ่อนค่าอยู่
ดร.อมรเทพ กล่าวต่อว่า สำหรับ 2 ปัจจัยที่ทำให้เงินเยนอ่อน คือ ปัจจัยภายในมาจากที่ BOJ ยังไม่ขยับนโยบายการเงิน และปัจจัยภายนอก คือ ดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าเทียบเท่ากับสกุลเงินอื่น ๆ จากที่เฟดจะยุติการขึ้นดอกเบี้ยไปอีกระยะหนึ่ง และความน่าสนใจของเงินดอลลาร์สหรัฐฯจะลดลงซึ่งจะเป็นผลดีต่อสกุลเงินในเอเชียรวมทั้งไทยด้วยที่ค่าเงินน่าจะแข็งเทียบเท่าดอลลาร์สหรัฐฯได้
แต่ในส่วนของเงินเยนอาจจะไม่ได้แข็งค่าเร็วเหมือนสกุลเงินอื่นถ้าเทียบกับสกุลเงินบาท ก็ยังมีโอกาสแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินเยนในระยะสั้น
อย่างไรก็ตาม ดร.อมรเทพ ไม่แนะนำให้เก็งกำไรระยะยาว เพราะว่าเงินเยนค่อนข้างผันผวนระยะสั้นและเชื่อว่าBOJจะไม่มาแทรกแซง แต่ก็ต้องระมัดระวัง ถ้าBOJ แทรกแซงก็อาจจะมีผลให้เงินเยนสวิงกลับมาแข็งค่าได้ ดังนั้นอย่าวางใจ แต่ด้วยราคาปัจจุบันที่เงินเยนอ่อนค่าลงมาที่ 0.24 บาทต่อ 1 เยนซึ่งไม่ได้เห็นมานาน
ใครที่ต้องการนำเข้าสินค้า หรือไปเที่ยวญี่ปุ่นก็ทยอยสะสมได้ แต่หากคิดเก็งกำไร อาจจะต้องระมัดระวัง แม้ราคาน่าสนใจ มองต่อไปโอกาสที่เงินเยนจะอ่อนค่าเทียบเท่าเงินบาทยังมีอย
อย่างไรก็ตามคาดว่าเงินเยนจะยังคงอ่อนค่าไปจนถึงปีต้นปี 67 และมีโอกาสที่รัฐบาลญี่ปุ่นจะเข้าแทรกแซงพยุงค่าเงิน คาดไม่น่าหลุดระดับ 0.23 บาทต่อเยน
อ่านข่าวอื่นๆ:
สงครามอิสราเอล-ฮามาส ทำราคาทองคำสูงสุดในประวัติศาสตร์ไทย