ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"วิโรจน์" ระบุ "สุทิน" สั่งไม่ให้กองทัพเรือชี้แจง "เรือดำน้ำ" ต่อ กมธ.การทหาร

การเมือง
11 พ.ย. 66
12:58
431
Logo Thai PBS
"วิโรจน์" ระบุ "สุทิน" สั่งไม่ให้กองทัพเรือชี้แจง "เรือดำน้ำ" ต่อ กมธ.การทหาร
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
“วิโรจน์” เผย “สุทิน” สั่งกะทันหันไม่ให้กองทัพเรือชี้แจง "เรือดำน้ำ" ต่อ กมธ.ทหาร คาดอัตราค่าปรับราว 3.5 ล้านบาทต่อวัน

วันนี้(11 พ.ย.2566)นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีที่กองทัพเรือต้องชี้แจงโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ S26T ต่อ กมธ.การทหาร ว่า ความจริงกองทัพเรือจะเข้ามาชี้แจงพร้อมกับสำนักงบประมาณกลาโหม ในวันที่ 9 พ.ย.ที่ผ่านมา แต่เวลาประมาณ 12.00 น. ทางกองทัพเรือได้โทรศัพท์มาแจ้งด้วยวาจาว่า รมว.กลาโหม มีคำสั่งไม่ให้กองทัพเรือมาชี้แจง โดยให้เฉพาะสำนักงบประมาณกลาโหม เป็นผู้ชี้แจงเท่านั้น

โดยคณะผู้มาชี้แจง ประกอบด้วย พล.อ.อดินันท์ ไชยฤกษ์ ผอ.สำนักงบประมาณกลาโหม พล.อ.ต.ธวัชชัย สงวนเรือง ผู้ช่วย ผอ.สำนักงบประมาณกลาโหม และ พ.อ.อาร์ม พันกะหรัด ผอ.กองการพัสดุ สำนักงบประมาณกลาโหม พร้อมด้วยคณะ

ในเรื่องการเปิดเผยสัญญา G2G การจัดซื้อเรือดำน้ำ สำนักงบประมาณกลาโหมแจ้งต่อ กมธ.การทหาร ว่ายังไม่สามารถเปิดเผยสัญญาได้ เพราะในสัญญามีเงื่อนไขที่คู่สัญญาต้องปกปิดข้อมูลในสัญญา (NDA: Non-Disclosure Agreement) โดยต้องรอให้บริษัท CSOC อนุญาตก่อน ซึ่งทางกองทัพเรือได้ทำหนังสือขอไปยังบริษัท CSOC เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2566 แล้ว

ในกรณีนี้ กมธ.การทหาร มีความเห็นแย้งว่า เงื่อนไข NDA นั้นระบุไว้เพียงแค่ห้ามเปิดเผยรายละเอียดในส่วนของเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นความลับในการผลิตเท่านั้น ไม่ได้ห้ามเปิดเผยในส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องงบประมาณ การปกป้องเงินภาษี และผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน
การไม่เปิดเผยข้อมูลจึงเป็นการตีความเงื่อนไข NDA อย่างกว้าง เพื่อปกปิดข้อมูลต่อประชาชน

กมธ.การทหาร จึงมีมติให้ทำหนังสือแจ้งไปยังประธานรัฐสภา เพื่อให้ประธานรัฐสภาทำหนังสือต่อไปยังประธาน กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างงบประมาณ 2567 เพื่อให้ กมธ.พิจารณาร่างงบประมาณฯ ขอคำมั่นในการเปิดเผยข้อมูลด้านงบประมาณจากเหล่าทัพและกระทรวงกลาโหม ก่อนที่จะพิจารณาอนุมัติงบประมาณในการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์

หากไม่ได้รับคำมั่น ก็ไม่ควรพิจารณาอนุมัติงบประมาณ เพราะการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ดังกล่าว อาจมีความเสี่ยงที่จะเป็นการจัดซื้อจัดจ้างที่ขาดความโปร่งใส และทำให้ผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเสียหายได้ในอนาคต อย่างไรก็ตาม กมธ.การทหาร จะติดตามทวงถามสัญญา G2G อีกครั้งในเดือนธันวาคม

สำนักงบประมาณกลาโหมชี้แจงด้วยว่า ในสัญญา G2G มีการระบุค่าปรับไว้ประมาณ 0.05-0.06% ต่อวันของมูลค่างานที่ส่งมอบไม่ได้ ซึ่ง กมธ.การทหาร ประเมินว่า น่าจะอยู่ราวๆ วันละ 0.05 % x 7,000 ล้านบาท = 3.5 ล้านบาท แต่การจัดซื้อจัดจ้างครั้งนี้อยู่ในรูปแบบข้อตกลง ไม่ได้อยู่ในรูปแบบสัญญา

จึงมีความยืดหยุ่นในการเจรจาหาทางออกร่วมกัน และอาจไม่จำเป็นต้องนำไปสู่การปรับ ซึ่ง กมธ.การทหาร เห็นด้วยที่จะใช้การเจรจาในการหาทางออก เพียงแต่ว่าจะต้องเป็นทางออกที่ทั้งสองฝ่ายไม่มีใครตกอยู่ในสภาวะเสียเปรียบที่อธิบายกับประชาชนไม่ได้

นายวิโรจน์กล่าวต่อว่า สำนักงบประมาณกลาโหม ยังได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า สัญญา G2G จะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธ.ค.2566 โดยระหว่างนี้ทางบริษัท CSOC ได้ทำหนังสือแจ้งขอขยายสัญญาออกไป 123 วัน จากเหตุโควิด-19 แต่ยังไม่ได้อนุมัติ โดยการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับสัญญา ทางสำนักงบประมาณกลาโหมแจ้งว่า จะพิจารณาดำเนินการ หลังจากที่สัญญาสิ้นสุดลง

ในประเด็นนี้ กมธ.การทหาร มีความกังวลอย่างมาก เพราะหนังสือทวงถาม หนังสือเร่งรัดติดตามโครงการ หรือหนังสือสงวนสิทธิ์ในการเรียกค่าปรับตามสัญญานั้น สามารถทำได้ในระหว่างสัญญา ไม่จำเป็นต้องรอให้สัญญาสิ้นสุดลงก่อน หากระหว่างนี้ ทั้งๆ ที่ปัญหาได้เกิดขึ้นแล้ว

นายวิโรจน์กล่าวว่า สำหรับงบประมาณที่ใช้จ่ายไปแล้วกับโครงการเรือดำน้ำ มีต่อไปนี้ (1) เรือดำน้ำ วงเงินงบประมาณ 13,900 ล้านบาท เบิกจ่ายไปแล้ว 63 % (2) ท่าจอดเรือดำน้ำ ระยะที่หนึ่ง 857 ล้านบาท เบิกจ่ายไปแล้ว 54 % (3) ท่าจอดเรือดำน้ำ ระยะที่สอง 810 ล้านบาท เบิกจ่ายไปแล้ว 50 %

(4) โรงซ่อมบำรุงเรือดำน้ำ 1,016 ล้านบาท เบิกจ่ายไปแล้ว 43 % (5) คลังเก็บตอร์ปิโดและทุ่นระเบิดสนับสนุน 129 ล้านบาท เบิกจ่ายไปแล้ว 60% (6) อาคารทดสอบและคลังอาวุธปล่อยนำวิถี 138 ล้านบาท เบิกจ่ายไปแล้ว 100 % (7) ระบบสื่อสารควบคุมบังคับบัญชาเรือดำน้ำ 300 ล้านบาท (8) ระบบในการสื่อสารภาคพื้นดิน วงเงินงบประมาณ 70 ล้านบาท เบิกจ่ายไปแล้ว 10 ล้านบาท ส่วนอุปกรณ์ของระบบสื่อสาร วงเงินงบประมาณ 230 ล้านบาท ถูกชะลอโครงการ ยังไม่มีการเบิกจ่าย

สำหรับเรือหลวงช้าง 6,100 ล้านบาท และอาคารพักข้าราชการ 294 ล้านบาท แม้จะเบิกจ่ายไปเต็มจำนวนแล้ว แต่ กมธ.การทหาร มีความเห็นว่า ภารกิจของเรือหลวงช้าง นั้นมีภารกิจแยกต่างหาก ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติภารกิจของเรือดำน้ำแต่แรก แต่เป็นเพราะการสื่อสารที่ไม่ถูกต้องของกองทัพเรือ

ที่อ้างว่าเรือหลวงช้าง เป็นเรือพี่เลี้ยงของเรือดำน้ำ จึงทำให้ถูกผนวกมาเป็นโครงการเรือดำน้ำ ส่วนอาคารพักข้าราชการ มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงสวัสดิการของข้าราชการ จึงไม่ควรนับเอา 2 รายการนี้ มารวมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ

สรุปแล้วจากวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 17,000 ล้านบาท มีการเบิกจ่ายไปแล้วทั้งสิ้น 9,500 ล้านบาท ซึ่งยังอยู่ในวิสัยที่สามารถบริหารจัดการให้มูลค่าความเสียหายอยู่ในวงจำกัด โดยไม่กระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไดh

อย่างไรก็ตาม เพื่อประโยชน์ในการติดตามตรวจสอบงบประมาณ กมธ.การทหาร จึงขอให้สำนักงบประมาณกลาโหมส่งข้อมูลเพิ่มเติม โดยของบประมาณที่ได้รับจัดสรรไปแล้ว พร้อมกับรายการโอนเปลี่ยนแปลง เพื่อจะได้ประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นได้อย่างครบถ้วน

นายวิโรจน์กล่าวว่า สำหรับกรณีที่ รมว.กลาโหม ตอบกลับมาว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา และกระทรวงการต่างประเทศ ได้ให้ความเห็นว่า กรณีการเปลี่ยนแปลงสัญญาในการจัดซื้อเรือดำน้ำ ไม่จำเป็นต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา เนื่องจากการจัดซื้อเรือดำน้ำถูกตีความว่าเป็นข้อตกลง ไม่ใช่สัญญา จึงไม่เข้าข่ายเป็นสัญญาระหว่างประเทศ ตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญ 2560

ข่าวที่เกี่ยวข้อง