ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

แก้นักศึกษาวิวาท - ย้ายอุเทนถวาย ปัญหาคนละเรื่องเดียวกัน

สังคม
13 พ.ย. 66
14:28
1,227
Logo Thai PBS
แก้นักศึกษาวิวาท - ย้ายอุเทนถวาย ปัญหาคนละเรื่องเดียวกัน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ปัญหานักเรียน นักศึกษาตีกัน แก้ไม่เคยได้ ไม่ว่าใครจะก้าวขึ้นมาคุมกระทรวงเสมา หรือกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. แม้เหตุจะไม่ได้เกิดในโรงเรียนก็จริง แต่ทุกครั้งที่มีการไล่ตี - ไล่ยิงกัน มักจะมีลูกหลง ทำให้ผู้บริสุทธิ์ต้องจบชีวิต ด้วยฝีมือของนักเรียน-นักเลงเหล่านี้ 

ล่าสุด #อุเทนถวาย กลายเป็นกระแสที่ขึ้นเทรนด์ ของ X จากกรณีเกิดเหตุวัยรุ่นยิงกันบริเวณหน้าโรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ ย่านคลองเตย กทม. และมีลูกหลงกระสุนไปทำให้ น.ส.ศิรดา สินปราเสริฐ หรือ ครูเจี๊ยบ อายุ 45 ปี ครูสอนคอมพิวเตอร์ โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ ถูกลูกหลงจนเสียชีวิต ส่วนนักศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย อายุ 19 ปี ได้รับบาดเจ็บสาหัส เมื่อวันที่ 11 พ.ย.ที่ผ่านมา

พ.ต.อ.วิทวัฒน์ ชินคำ รักษาราชการแทนผู้บังคับการตำรวจนครบาล 5 เปิดเผยว่าการติดตามตัวผู้ก่อเหตุทั้ง 2 คน เบื้องต้นทราบแล้วว่าเรียนที่สถาบันใด ซึ่งพนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างประสานงานกับสถาบัน ขณะเดียวกันก็อยู่ระหว่างแกะรอยเส้นทางการหลบหนี

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย

ขณะที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ซึ่งอยู่ระหว่างการเตรียมออกมาตรการห้ามไม่ให้มีการพกปืน และจะเร่งแก้กฎหมายให้เข้มงวดมากกว่านี้ ส่วนที่หลายเสียงขอให้พิจารณาใหม่ ว่าบางกรณีสามารถพกอาวุธปืนได้ นายอนุทิน บอกว่าต้องขออภัยทำให้ไม่ได้

หลายคน มองว่า ปืนหาซื้อได้ง่ายจากทางออนไลน์ มีประกาศไม่ให้นำเข้าทุกอย่างแล้ว ตอนนี้ผิดกฎหมาย ต้องไม่หลีกเลี่ยง ถ้ายังทำกันอยู่จะดำเนินคดีสถานหนัก

แม้จะมีมาตรการล้อมคอกปัญหาการทะเลาะวิวาทที่เกิดจากนักศึกษาบางกลุ่ม และส่งผลกระทบสร้างความเสียหายด้านชีวิตและร่างกายหลายต่อหลายครั้ง ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ให้ย้ายอุเทนถวายออกจากพื้นที่ดังกล่าว 

ในขณะที่ยังมีปัญหาคาราคาซังอย่างยาวนานกรณีการหมดสัญญาเช่าพื้นที่บริเวณจุฬาฯ ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย หรือ อุเทนถวาย โดยเมื่อวันนี้ 1 พ.ย. ที่ผ่านมา ศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบัน ของนักศึกษาอุเทนถวาย รวมตัวกันคัดค้าน กรณีมีคำสั่งจากศาลปกครองให้ย้ายสถานศึกษาจากพื้นที่เดิม เมื่อวันที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมาโดยเปิดให้ศิษย์เก่าลงทะเบียน ทั้งจากตัวแทนสมาคมศิษย์เก่า สมาคมผู้ปกครอง คัดค้านย้ายสถานศึกษา และผลักดันให้เกิดการทบทวนหาแนวทางพัฒนาพื้นที่ดั้งเดิม

พร้อมตั้งทีมเพื่อประชุมรวมกับ น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.อุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รวมทั้งจะรวบรวมรายชื่อศิษย์เก่ากว่า 50,000 รายชื่อ เพื่อยกร่าง พ.ร.บ.ของตัวเองเช่นเดียวกับที่จุฬาฯ ดำเนินการมาแล้ว

โดย รศ.ฤกษ์ชัย ฟูประทีปศิริ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี ราชมงคลตะวันออก เดินทางมาร่วมประชุมชี้แจงทำความเข้าใจ การย้ายออกจากพื้นที่เดิม โดยมีผู้บริหารของมหาวิทยาลัย นายกสโมสรนักศึกษา พร้อมด้วยนักศึกษากว่า 150 คน ยืนเรียงแถวบริเวณทางเข้า ให้การต้อนรับ พร้อมมอบดอกไม้แสดงความขอบคุณที่มาร่วมรับฟังคำชี้แจง

ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง หรือย้ายสถานศึกษาหรือไม่จะต้องรอตั้งคณะกรรมการ จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำหรับแนวทางแก้ไข ยึดหลักผลประโยชน์ของประเทศชาติ ยืนยันว่า ทางจุฬาฯ และอุเทนถวาย ไม่ได้มีความขัดแย้งกัน เพราะทั้ง 2 แห่งอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงเดียวกัน

สำหรับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย เป็นวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก เดิมชื่อว่า "โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย" ตั้งอยู่ที่ เลขที่ 225 ถนนพญาไท แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330

ประวัติอุเทนถวาย

ก่อตั้งขึ้นโดยเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เมื่อวันที่ 1 ก.พ.2477 โดยใช้ชื่อว่า โรงเรียนเพาะช่าง แผนกช่างก่อสร้าง โรงเรียนเพาะช่างก่อสร้างอุเทนถวาย หรือ "โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย" ต่อมาในปี พ.ศ.2518 จึงได้โอนมาเป็นวิทยาเขตในสังกัดวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา และได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งในปี พ.ศ.2533 เป็น สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตอุเทนถวาย ปัจจุบัน เป็นวิทยาเขตหนึ่งของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก เปิดสอนในสาขาวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์

ย้อนปมย้าย "อุเทนถวาย" 

สำหรับพื้นที่ของอุเทนถวายทำการเช่าที่ดินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บนพื้นที่ 20 ไร่ 3 งาน 29 ตารางวา ตั้งแต่ปี 2478 มีการขอเจรจาคืนในปี 2518 เนื่องจากจุฬาฯมีแผนพัฒนาศูนย์นวัตกรรมงานสร้างสรรค์เพื่อชุมชนยั่งยืน

ในปี 2545 กรมธนารักษ์ได้มีการจัดหาพื้นที่ใหม่ให้อุเทนถวายจำนวน 35 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่กรมการบินพลเรือนและเป็นที่ราชพัสดุ บริเวณ ต.บางปลา อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ครม.จัดสรรงบเพื่อก่อสร้างและขนย้าย 200 ล้านบาท

อุเทนถวายทำข้อตกลงกับจุฬาเมื่อวันที่ 11 มี.ค.2547 จะขนย้ายและส่งมอบให้แก่จุฬาภายในวันที่ 30 ก.ย.2548 หากจำเป็นผ่อนผันได้ไม่เกิน 1 ปี ปี 2548 มีการทำบันทึกข้อตกลงว่าอุเทนถวายจะย้ายไปก่อสร้างที่ใหม่ จ.สมุทรปราการ พร้อมทั้งนี้จะย้ายบุคลากรและนักศึกษาให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 1 พ.ย.2548 แต่การย้ายยังติดขัดปัญหาและเป็นไปอย่างล่าช้า

กระทั่ง ปี 2550 สำนักงานอัยการสูงสุดได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (กยพ.) ซึ่งระหว่างนั้นสโมสรนักศึกษาอุเทนถวาย ได้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา 2 ครั้ง

และปี 2552 กยพ.มีมติชี้ขาดให้อุเทนถวายขนย้ายทรัพย์สินและคืนพื้นที่ให้จุฬาฯ และชำระค่าเสียหายปีละล้านบาทเศษ จนกว่าจะส่งมอบพื้นที่เสร็จ ส่วนผลการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา สำนักราชเลขาธิการได้มีหนังสือยืนยันผลชี้ขาดตามมติของ กยพ. และทางจุฬาฯ ก็ไม่ได้ทวงเงินค่าเสียหายจากอุเทนถวายแต่อย่างใด

ต่อมา ธ.ค.2565 ศาลปกครองสูงสุด ศาลมีคำสั่งให้อุเทนถวายย้ายออกจากพื้นที่ โดยจะต้องดำเนินการภายใน 60 วันหลังจากมีคำสั่ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ตร.เผยรู้สถาบันมือยิงครูเสียชีวิต-เร่งติดตามตัว

วางดอกไม้อาลัย "ครูเจี๊ยบ" ลูกศิษย์เผย ครูใจดี ใส่ใจนักเรียน

อาลัย "ครูเจี๊ยบ" จัดพิธีมิสซาปลงศพ 15 พ.ย.

“แม่ครูเจี๊ยบ” สุดเศร้า ร่ำไห้ลูกแม่ผิดอะไร? 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง