หลังจากวันที่ 12 พ.ย. นายกฯ แสดงท่าทีไม่พอใจความคืบหน้าเรื่องนี้ ก่อนเดินทางไปประชุมผู้นำเอเปคที่สหรัฐฯ วันนั้น ภาษากายและคำพูดของนายกฯ แสดงออกอย่างชัดเจน ระหว่างหารือกับผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และอธิบดีดีเอสไอ โดยกล่าวด้วยสีหน้าดุดันว่า ได้สั่งการไปแล้ว แต่ไม่ทำ
เมื่อที่ประชุมครม.วันที่ 28 พ.ย. สั่งเด้ง พ.ต.ต.สุริยา จึงอาจไม่ใช่เรื่องแปลก แต่เป็นเรื่องใหญ่ เพราะมีข้อถกเถียงตามมาหลายมุม โดยเฉพาะโดนเด้งหลังจากนำเจ้าหน้าที่ดีเอสไอเข้าตรวจค้น บริษัท สยามแมคโคร จำกัด (มหาชน) ที่สำนักงานใหญ่ ซึ่งปัจจุบันคือ บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ เมื่อวันที่ 27 พ.ย. ตรงกับวันลอยกระทง
วันนั้น พ.ต.ต.สุริยา ชี้แจงว่า สาเหตุที่เข้าตรวจสอบ เพราะมีข้อมูลจากการสืบสวนพบว่า มีการรับซื้อชิ้นส่วนหมูแช่แข็งจากบริษัทเครือข่ายหมูเถื่อนรายหนึ่ง ที่ถูกจับกุมดำเนินคดีไปก่อนหน้าแล้ว
ขณะที่ผู้บริหารระดับสูงของแม็คโคร ยืนยันว่า บริษัทรับซื้อเนื้อหมูจากแหล่งผลิตในประเทศ 100 % เช่นเดียวกับเครื่องในหมู เช่น ตับหมู จะรับซื้อจากเกษตรกรภายในประเทศ 99 % แต่มีบางช่วงที่ไม่เพียงพอ จึงต้องรับซื้อจากบริษัทที่นำเข้า ที่มีใบอนุญาตการนำเข้ามาแสดงชัดเจน
เป็นข้อมูลที่ขัดแย้งไม่ตรงกัน แต่การปฏิบัติหน้าที่ตามที่นายกรัฐมนตรีสั่งการ ให้เอาตัวการใหญ่มาลงโทษให้ได้ เมื่อสุดท้ายโดนสั่งเด้ง จึงมีคำถามตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
โดยเฉพาะหากไม่พอใจผลงาน ไม่สนองตอบคำสั่งการ นายกฯ มีอำนาจลงนามสั่งย้าย โดยให้ไปช่วยราชการได้ ตามอำนาจการบริหารราชการแผ่นดิน
เหมือนเมื่อครั้ง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงนามในคำสั่งย้าย อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ให้ไปช่วยราชการที่ทำเนียบรัฐบาล หลังถูกกล่าวหาเรียกรับเงินจากผู้ใต้บังคับบัญชา ตัดหน้ารัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรแห่งชาติฯ ที่บังคับบัญชาโดยตรง
ต้องไม่ลืมว่าคณะกรรมการ หรือบอร์ดของดีเอสไอ ที่เรียกว่าคณะกรรมการคดีพิเศษ หรือ “คกพ.” ตามมาตรา 5 ของ พ.ร.บ.สอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 ระบุชัดว่า นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ ส่วน รมว.ยุติธรรม เป็นรองประธาน
จึงเป็นที่มาของข้อมูลวงในที่ว่า ดีเอสไอคืออาวุธลับสำคัญอีกอย่างของนายกรัฐมนตรี และส่วนใหญ่ ในยุคที่ผ่านๆ มา นายกฯ จะนั่งเป็นประธานบอร์ดดีเอสไอด้วยตัวเอง ไม่ได้มอบหมายรองนายกฯ คนอื่น
เท่ากับดาบอาญาสิทธิ์นี้เป็นของนายกฯ ซึ่งหากจะลงโทษโดยการเด้งอธิบดีดีเอสไอ ก็น่าจะทำตั้งแต่กลับจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะทำให้นายกฯ ได้คะแนนในเชิงบวก เพราะเป็นการลงโทษที่ไม่สนองตอบคำสั่งการ ไม่ปกป้องผู้ประกอบการเลี้ยงหมูในประเทศ และไม่ปกป้องดูแลประชาชนผู้บริโภคเนื้อหมูในประเทศ ที่ส่วนหนึ่งอาจได้กินหมูเถื่อน ที่สุ่มเสี่ยงต่อโรคที่มากับเนื้อหมู
แต่กลับเด้งหลังจากอธิบดีดีเอสไอ นำเจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นห้างค้าปลีกยักษ์ใหญ่แม็คโคร ซึ่งปัจจุบัน MAKRO มีบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) บริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ ถือหุ้น อันดับ 1 สัดส่วน 34.97 % และยังมีบริษัทลูกในเครือซีพีอีกอย่างน้อย 2 บริษัท ถือหุ้นรวมกันอีกไม่น้อยกว่า 25 เปอร์เซ็นต์
ก่อนหน้านั้น วันที่ 18 พ.ย. นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือซีพี ไปปาฐกถาพิเศษ 90 ปี หอการค้าไทย พูดหนุน “ดิจิทัลวอลเล็ต” อย่างออกหน้าชัดเจน โดยย้ำว่า จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ จะทำให้ประเทศภายใต้การนำรัฐบาลใหม่เจริญรุ่งเรือง
จึงเป็นปมคำถามย้อนกลับว่า เป็นเพราะผลงานล่าสุดของอธิบดีดีเอสไอ ที่ไปตรวจสยามแม็คโคร หรือไม่ หรือเป็นการตัดตอนมีแผนจะเข้าตรวจค้นห้างค้าปลีกค้าส่งรายอื่น ที่เป็นเครือข่ายเดียวกัน หรือแม้กระทั่ง มีมือที่มองไม่เห็นเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้หรือไม่ หากมีต้องเป็นมือของคนที่ใหญ่ หรือมีอำนาจมากกว่านายกรัฐมนตรี
ไม่เพียงเท่านั้น ที่ต้องจับตาต่อไป คือจะมีการรื้อชุดสืบสวนสอบสวนปราบหมูเถื่อนนำเข้า ของดีเอสไอหรือไม่ ตามกระแสวงในที่ตั้งข้อสังเกตว่า จะถูกปรับเปลี่ยนใหม่ยกชุด ทำให้อาจมองเห็นปลายทาง ตั้งแต่ขณะนี้ได้เลยว่า เรื่องปราบหมูเถื่อนจะจบอย่างไร หรือเพียงแค่ไปถึงเฉพาะเจ้าหน้าที่ระดับล่าง และกลุ่มขบวนการนำเข้าหมูเถื่อนปลายแถว โดยไม่มีตัวใหญ่หรือธุรกิจใหญ่อยู่ในสมการ
“หมูเถื่อน” จึงน่าจะมีเขี้ยวที่คมกริบ กัดกลับทีเดียวจมเขี้ยว คำถามอยู่ที่ว่า คมเขี้ยวคมอยู่แล้ว หรือมีใครไปเพิ่มความคมให้กับ “หมูเถื่อน” กลุ่มนี้
วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศา