ต้นแบบนโยบายยาเสพติด แม้จะอยู่ใน "ชุมชนกองขยะ" แต่เราต้อง "ไม่มองคนเป็นขยะ"
ที่ชุมชนแออัดเล็กๆ แถบพุทธมณฑลสาย 3 ใกล้กับ "กองขยะขนาดใหญ่" มีพลเมืองไทยกว่า 650 ชีวิต อาศัยอยู่ โดยมีกองขยะที่เป็นแหล่งรองรับของไม่ใช้แล้ว รวมมาจากทุกแห่งหนในกรุงเทพมหานคร เป็นแหล่งรายได้หลักในการประทังชีวิต
ในพื้นที่เล็กๆ ประมาณ 2 ซอย พลเมืองไทย 176 ครัวเรือน กระจุกตัวอยู่ในบ้านหลังเล็กๆ จำนวนมาก บ้างยังดูเป็นบ้าน บ้างเป็นห้องแถว บางหลังก็เป็นเหมือนเพิงพักเท่านั้น พวกเขาล้วนมีกิจการเป็นของตัวเอง เช่น ขายเสื้อผ้ามือสอง เก็บของเก่ามาซ่อม แยกขยะ ส่งพลาสติกไปรีไซเคิล เพราะไม่สามารถไปสมัครงานที่ไหนได้ เนื่องจากตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมา ที่นี่เป็นหนึ่งเป้าหมายของขบวนการยาเสพติด
หากย้อนกลับไปก่อนปี 2550 เกือบทุกครอบครัวในชุมชนนี้ต้องมีคนใช้ยาเสพติด มีคนที่ตกเป็นทาสของยาเสพติดมากกว่าครึ่งหนึ่งของคนในชุมชน
แต่วันนี้ ... ชุมชนกองขยะหนองแขม กำลังถูกจับตามองจากแวดวงวิชาการ ในฐานะพื้นที่ต้นแบบในการแก้ปัญหายาเสพติด ... และน่าสนใจมากขึ้น เมื่อพบข้อเท็จจริงว่า วิธีการที่พวกเขาใช้ต่อสู้กับยาเสพติด ไม่ใช่การไล่จับคนติดยาไปขังคุก และไม่ใช่แค่การส่งคนติดยาไปเข้ารับการบำบัดไม่กี่วัน
แต่กลับเป็นกระบวนการที่ทำให้ผู้ใช้ยา ยอมเปิดเผยตัวตน เพื่อไปรับสารทดแทน ไปรับการรักษา และไม่ต้องถูกตัดขาดจากชีวิตประจำวันในชุมชน
"เรายังมีลูกหลานเราที่ใช้ยาเสพติดอยู่ประมาณ 30 คน จากเดิมที่มีหลายร้อยคน"
"ผมรักษาคนติดยาไม่ได้หรอก แต่สามารถรวบรวมคนเหล่านี้ไปให้ระบบสาธารณสุขได้ ด้วยการซื้อใจ ติดคุกก็ไปเยี่ยม ออกมาก็รวมกลุ่มทำให้เขายอมไปรักษา ดูแล ช่วยเหลือ หางานให้ทำ ทำให้มีรายได้ ทำให้เขามีเป้าหมายที่จะมีชีวิตใหม่ได้จริงๆ"
ไม่กีดกันคนที่ใช้ยาเสพติดออกไปจากชุมชน แต่คอยช่วยเหลือ พูดคุย นัดหมายไปรับการรักษา ... เป็นแนวทางที่ บรรจง แซ่อึ้ง ประธานชุมชนกองขยะหนองแขม หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "เฮียบู้" ใช้เป็นแนวทางในการจัดการปัญหายาเสพติดในชุมชนของเขามาตลอด 16 ปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้จำนวนผู้ติดยาลดลงอย่างมาก หรือที่ยังยังจำเป็นต้องใช้ยาอยู่ ก็เข้าสู่กระบวนการที่เรียกว่า "ลดอันตรายจากการใช้ยา" (Harm Reduction)
เกือบทุกคนในชุมชนกองขยะหนองแขมที่ยังใช้ยาเสพติดอยู่ ไม่ว่ายาประเภทกดประสาทอย่างเฮโรอีน หรือประเภทกระตุ้นประสาทอย่างยาบ้า "จะไม่ปกปิดตัวเอง" เพราะเมื่อผู้นำชุมชนเปิดพื้นที่ให้คนเหล่านี้สามารถแสดงตัวออกมาได้โดยไม่ถูกรังเกียจหรือไม่ถูกกีดกันออกไป
พวกเขาจึงยอมให้ความร่วมมือที่จะไปรับการรักษาตามสถานที่พยาบาลต่างๆ ที่ประธานชุมชนนัดหมายไว้ให้ ซึ่งแน่นอนว่า "การเสพติด" ไม่สามารถรักษาได้ในเวลาชั่วข้ามคืน ดังนั้นกระบวนการ Harm Reduction หรือ การลดอันตรายจากการใช้ยา จึงเป็นทางเลือกสำคัญที่ทำให้คนเหล่านี้ยังอยู่ร่วมกับคนอื่นได้โดยไม่มีอันตราย
"ถ้าคนติดยา ไม่เสี้ยนยา พวกเขาก็ไม่เป็นอันตราย หลักการ Harm Reduction คือ ต้องให้เขาได้รับสารทดแทนสารเสพติดที่เหมาะสม เพื่อทำให้ไม่ต้องการใช้ยา และคนเหล่านี้จะไปทำงานได้ มีรายได้ และในที่สุดก็จะเป็นคนใหม่ได้ แต่สำคัญที่สุดคือเราต้องใช้ความเข้าใจ อ้าแขนรับเขา ถ้าเขาไม่ปกปิดตัวเอง เราก็จะพาเขากลับมาได้ง่ายกว่า" เฮียบู้ กล่าว
เฮียบู้ เล่าสถานการณ์ในปัจจุบันที่ชุมชนกองขยะหนองแขม กำลังช่วยเหลือกลุ่มผู้ติดยาประมาณ 30 คน ด้วยกระบวนการ Harm Reduction ตั้งแต่การประสานให้ไปรับสารทดแทนที่เรียกว่า "เมทาโดน" ที่ศูนย์สาธารณสุขในพื้นที่ ไปจนถึงการประสานกับสถาบันธัญญารักษ์ ซึ่งล่าสุดมีแนวทางใช้น้ำมันกัญชาเป็นสารทดแทน
"ก่อนหน้านี้ประสานให้ไปรับสารเมทาโดน ที่ศูนย์สาธารณสุข ช่วยให้เขาอยู่ได้จริง ทำงานได้โดยไม่ต้องเสพยา แต่ต้องไปรับทุกวัน เพราะเขาไม่ให้มาทีละเยอะๆ เขากลัวเอาไปขายต่อ จนช่วงหลังเด็กๆ ที่ไปรับเมทาโดน บอกว่า เขาลดปริมาณลงจากที่เคยใช้วันละ 30 มิลลิกรัม เหลือวันละ 10 มิลลิกรัม ซึ่งไม่พอ ก็เกิดอาการอยากใช้ยาขึ้นมาอีก จึงประสานส่งเด็กกลุ่มนี้ไปที่สถาบันธัญญารักษ์ และพบว่า เขาให้น้ำมันกัญชาเป็นสารทดแทน ใช้แล้วไม่เกิดอาการอยากใช้ยา สามารถไปทำงานได้ หาเงินได้ หลายคนก็ดีขึ้นมากๆ ... ซึ่งแนวทางแบบนี้ เป็นแนวทางที่เราทำมาตลอดหลายปี"
เฮียบู้ เล่าว่า มีเด็กคนหนึ่ง เคยใช้เฮโรอีนหนักมาก จึงเข้าไปพูดคุยทำความเข้าใจ ให้ไปเข้ากระบวนการ Harm Reduction รับสารทดแทนสารเสพติด ทุกวันนี้เขาทำงานได้ ขับรถสิบล้อส่งของได้เงิน 4-5 หมื่นบาทต่อเดือน มีครอบครัว มีลูกด้วย ...
... หรืออีกคนหนึ่ง ที่อยู่กลางซอย ใช้เฮโรอีนเหมือนกัน ขอเงินยายทุกวัน วันละ 100 บาท ไปซื้อยา ยายก็ต้องให้ เพราะกลัวเด็กจะไปปล้นคนอื่น ก็คุยจนเขาไปยอมเข้า Harm Reduction ไปรับสารทดแทนสถาบันธัญญารักษ์ ปัจจุบันนี้เขาเป็นคนงานทำงานคัดแยกของเก่าอยู่หน้าซอย จากที่เคยขอยายวันละ 100 บาท กลายเป็นมีเงินไปให้ยายวันละ 100 บาทแทน ผมเชื่อว่า ด้วยแรงบันดาลใจเช่นนี้ ในที่สุดเด็กๆ พวกนี้ก็จะลาขาดจากยาเสพติดได้" เฮียบู้ เล่ายาว
แต่การจะใช้กระบวนการ Harm Reduction ในชุมชนได้ ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะชุมชนจะต้องยอมรับว่า พวกเขาจะต้องอยู่อาศัยร่วมกับคนที่ยังใช้สารเสพติดอยู่ และยังต้องมีเครือข่ายรอบข้างที่เข้าใจกระบวนการนี้ในทางวิชาการเป็นอย่างดี โดยเฉพาะหน่วยงานที่เรารู้จักกันในชื่อ "ตำรวจ"
ตำรวจที่ทำงานร่วมกับชุมชนอย่างเข้าใจ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ "ผู้ใช้ยา" ยอมเปิดเผยตัวตนออกมาเพื่อเข้าสู่กระบวนการ Harm Reduction เพราะพวกเขาจะมั่นใจได้ว่า เมื่อเปิดเผยตัวแล้ว จะไม่ได้รับผลกระทบทางกฎหมาย เช่น ถูกส่งไปบำบัดนานๆ ถูกดำเนินคดี หรือแม้แต่ไม่ต้องกังวลว่าจะถูกกลั่นแกล้งผ่านกฎหมาย
"ผมเคยประจำการอยู่อีกเขตหนึ่งที่เป็นชุมชนแออัดเหมือนกันครับ ที่นั่นเราใช้วิธีจับกุม ปราบปราม ล่อซื้อ ส่วนใหญ่คนในชุมชนเองก็แจ้งกันเอง จนมันไม่มีความไว้ใจกันเหลืออยู่เลย ตำรวจเราก็จับยาเสพติดได้เยอะมาก น่าจะได้ KPI ที่สวยงามเลยในแง่ของการปราบปราม แต่ก็พบว่าปัญหามันไม่ได้ลดลง คนที่ใช้ยาไม่เปิดเผยตัว เขาต้องหลบซ่อนอยู่ใต้ดิน เพราะผู้นำชุมชนไม่สามารถเข้าถึงผู้ใช้ยาได้ แถมคนที่ถูกจับไปยังกลับมาทำผิดซ้ำ เปลี่ยนจากการค้าเพื่อเสพเป็นผู้ค้าจริงจัง...
ต่างจากที่ชุมชนกองขยะ เพราะที่นี่จะเห็นหมดว่า ใครทำอะไร ใช้ยาอะไร เข้ารับการรักษาหรือไม่ ไปสถานพยาบาลตามที่นัดไว้หรือได้รับสารทดแทนหรือไม่ ทราบว่า มีรายได้เท่าไหร่ จะช่วยเหลือเขาต่ออย่างไร ที่สำคัญคือ นอกจากตัวเลขการจับกุมจะลดลงแล้ว ตัวเลขผู้ใช้ยาก็ลดลงไปด้วย" ตำรวจนายหนึ่งที่ทำงานร่วมกับชุมชนแห่งนี้ อธิบาย
เฮียบู๊-บรรจง แซ่อึ้ง ประธานชุมชนกองขยะหนองแขม
เมื่อปี 2550 บรรจง หรือ เฮียบู๊ นักธุรกิจที่มาซื้อที่ดินบริเวณนี้ เริ่มสนใจปัญหายาเสพติดที่อยู่ในชุมชนกองขยะ เพราะรู้จักกับชายคนหนึ่งที่มีมรดก 40 ล้านบาท แต่ต้องเสียชีวิตลงเพราะติดเชื้อ HIV จากการใช้เฮโรอีน เขาจึงไปร่วมเข้ารับการอบรมกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
และเริ่มเข้าไปคลุกคลีกับผู้ใช้ยา ทำความเข้าใจสภาพปัญหา สภาพแวดล้อม หันมาทำศูนย์บำบัดยาเสพติดโดยความสมัครใจ ทำเครือข่ายผู้นำชุมชน และมาทำงานร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชน พัฒนาการเพื่อสร้างพื้นที่ต้นแบบการใช้ Harm Reduction มาแก้ปัญหาแทนการปราบปราม
"ไปอบรม Harm Reduction มาจาก ป.ป.ส.ได้ 2-3 ครั้งก็เข้าใจ แต่จะนำมาใช้จริงๆ มันยาก เพราะต้องอาศัยความเข้าใจจากทุกทาง ทั้งความไว้ใจจากตัวผู้ใช้ยาเอง ชุมชน ฝ่ายปกครอง ตำรวจ สาธารณสุข เราจึงมาคุยกันให้ชัดเพื่อหาข้อสรุปว่า การจะแก้ปัญหายาเสพติดได้ต้องเปลี่ยนจากคำว่า จัดการ เป็นคำว่า บริการ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมได้เรียนรู้มาจากเคส เรียนรู้มาว่า จะเข้าไปนั่งอยู่ในใจเขาได้อย่างไร"
เฮียบู๊ บอกว่า มาถึงปี 2566 จึงได้ข้อสรุปแนวทางการสู้กับยาเสพติดว่าจะใช้เพียงคำว่า "บำบัดผู้ติดยา" ไม่ได้ แต่ต้องบำบัดควบคู่พร้อมๆกัน 3 ส่วน คือ บำบัดผู้เสพ บำบัดพ่อแม่ผู้ปกครอง และ บำบัดผู้นำชุมชนด้วย จึงจะทำสำเร็จ
สำหรับกลุ่มผู้เสพ ที่ไม่ใช่ผู้ค้ารายใหญ่ และไม่ใช่ผู้มีอิทธิพล ต้องไม่เริ่มต้นด้วยการมองเขาเป็นอาชญากร ซึ่งเป็นวิธีที่จะได้พวกเขากลับคืนมา