ดาวเทียมสำรวจโลก “NISAR” หรือ “NASA-ISRO Synthetic Aperture Radar” ผ่านการทดสอบที่ดำเนินมาเป็นเวลากว่า 21 วัน เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายนที่ผ่านมา นับเป็นก้าวสำคัญสู่การเปิดตัวภารกิจความร่วมมือระหว่างองค์การนาซา (NASA) และองค์การอวกาศอินเดีย (ISRO) ในการสำรวจโลก โดย NISAR นั้นมีกำหนดการปล่อยในช่วงต้นปี 2024
จุดประสงค์ของ NISAR คือการสำรวจพื้นผิวโลกเป็นหลัก โดยดาวเทียม NISAR จะสแกนพื้นที่ทุกหนแห่งบนโลก 2 ครั้งในทุก ๆ 12 วัน เพื่อตรวจหาการเปลี่ยนแปลงในการสแกนแต่ละครั้ง ซึ่งจะบอกเราได้ว่าแผ่นเปลือกโลกเคลื่อนตัวไปอย่างไรในความละเอียดระดับเซนติเมตร ซึ่งมีประโยชน์ในการติดตามการเปลี่ยนแปลงในสภาพภูมิประเทศ เช่น ป่า นอกจากนี้ NISAR นั้นสามารถนำมาช่วยในการสังเกตการณ์การเกิดแผ่นดินไหว ดินถล่ม และการปะทุของภูเขาไฟได้อีกด้วย
ก่อนหน้านี้ NISAR เพิ่งถูกทดสอบในห้องสุญญากาศเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม ซึ่งจะต้องเจอกับสภาวะสุญญากาศพร้อมกับอุณหภูมิหนาวสุดขั้ว -10 องศาเซลเซียส ไปจนถึงอุณหภูมิร้อนจัด 50 องศาเซลเซียสเป็นเวลานานถึง 80 ชั่วโมง เพื่อทดสอบว่าตัวดาวเทียมยังสามารถทำงานได้ปกติเมื่อต้องเจอกับสภาพแวดล้อมอันโหดร้ายในอวกาศหรือไม่
นอกจากนี้ NISAR ยังจะต้องพบกับการทดสอบอื่น ๆ อย่างการทดสอบการสั่น การทดสอบแรงกระชากอย่างรุนแรง และการทดสอบแรงกระแทกที่จะเกิดขึ้นจริงระหว่างการปล่อยอีกด้วย
ในการทดสอบกว่า 20 วันที่ผ่านมา NISAR ยังถูกนำไปทดสอบความสามารถในการสื่อสารด้วย เนื่องจากดาวเทียม NISAR นั้นมีเรดาร์ L-Bnd และ S-Band ติดตั้งอยู่สำหรับการสำรวจทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งการทดสอบนั้นผ่านไปด้วยดี ขั้นตอนต่อไปของ NISAR คือการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ขนาดกว่า 12 เมตร แผ่นสะท้อนสัญญาณเรดาร์ขนาดรัศมีกว่า 9 เมตร ก่อนที่ NISAR จะถูกนำส่งไปยังฐานปล่อยในศูนย์อวกาศสตีษ ธวัน (Satish Dhawan Space Center) เพื่อเตรียมการปล่อย
ที่มาภาพ: NASA
ที่มาข้อมูล: NASA
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech