วันนี้ (7 ธ.ค.2566) นายคงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวถึงกรณีอุบัติเหตุรถประจำทางปรับอากาศ 2 ชั้น สายกรุงเทพฯ-นาทวี จ.สงขลา ชนต้นไม้ ที่ อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 14 คน
นายคงศักดิ์กล่าวว่า จากข้อมูลในที่เกิดเหตุเบื้องต้น สาเหตุเกิดจากพฤติกรรมเสี่ยงและสภาพร่างกายของผู้ขับรถ ที่อาจจะมีอาการหลับใน หรือมีอาการวูบ จนทำให้รถโดยสารเสียหลักและมีผู้เสียชีวิต 14 ราย และบาดเจ็บจำนวนมาก
อีกปัจจัยหนึ่งที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุ คือเรื่องสภาพรถที่ต้องดูว่า พร้อมจะนำมาใช้งานหรือไม่ และภายในรถมีเข็มขัดนิรภัยให้ผู้โดยสารหรือไม่ มีการตรวจสภาพครั้งล่าสุดเมื่อใด ซึ่งอุบัติเหตุในลักษณะนี้มักเกิดจากสาเหตุซ้ำซากที่ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบ
สำหรับอุบัติเหตุล่าสุดที่เกิดขึ้น พบปัญหาการจำหน่ายตั๋วที่ไม่ตรงกับรถที่วิ่งจริง โดยพบว่าตั๋วโดยสารที่จำหน่ายเป็นของบริษัทหนึ่ง และรถที่เกิดเหตุชื่อบริษัทข้างรถเป็นอีกบริษัทหนึ่งอีกด้วย
นายคงศักดิ์กล่าวว่า ที่ผ่านมา อุบัติเหตุที่เกิดกับรถโดยสาร 2 ชั้น ในแต่ละปีมีจำนวนค่อนข้างมาก แต่ส่วนประกอบอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญ คือ เวลาเกิดเหตุในแต่ละครั้งเนื่องจากตัวโครงสร้างรถ 2 ชั้น บรรทุกผู้โดยสารได้มาก เมื่อเกิดอุบัติเหตุจึงรุนแรงมากกว่าปกติ
นอกจากนี้ยังมองว่า มีนักวิชาการหลายฝ่ายให้ความเห็นชี้ชัดว่า โครงสร้างรถโดยสารสองชั้น มีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุมากกว่ารถชั้นเดียวถึง 6 เท่า จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เราเห็นว่า ตัวตัวรถโดยสารสองชั้นเป็นโครงสร้างที่ไม่ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค ยังไม่รวมถึงสภาพบุคคล สภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการเกิดเหตุในแต่ละครั้งด้วย
ในอดีตรถโดยสาร 2 ชั้น มีส่วนสูงมากกว่า 4 เมตร หรือประมาณ 4.30 เมตร แต่เมื่อประมาณปี 2559-2560 กรมการขนส่งทางบกได้ออกประกาศยกเลิกการจดทะเบียนรถโดยสาร 2 ชั้นที่มีขนาดสูงเกิน 4 เมตร ทำให้ไม่มีการจดทะเบียนรถโดยสาร 2 ชั้นใหม่ แต่รถโดยสาร 2 ชั้นเดิมซึ่งมีอยู่จำนวนประมาณกว่า 7,000 คัน ก็ยังวิ่งอยู่ในระบบทั่วทั้งประเทศไทยอยู่ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้สภาองค์กรของผู้บริโภค พยายามผลักดันให้ยกเลิกรถโดยสารสองชั้น และต้องการให้กรมการขนส่งทางบกทบทวนการอนุญาตใช้รถประเภทนี้
ก่อนหน้านี้ สภาองค์กรของผู้บริโภค ยังมีความเห็นว่า รถโดยสาร 2 ชั้น เป็นรถที่มีความเสี่ยงสูง ไม่ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค จึงเสนอให้กรมการขนส่งทางบกซื้อรถคืน แล้วก็ให้มีการจำหน่ายรถโดยสารสองชั้นนี้ออกจากในระบบ และปรับเป็นรถชั้นเดียว
นอกจากนี้ ในระหว่างที่ยังไม่สามารถยกเลิกรถโดยสาร 2 ชั้นได้ ต้องมีการจำกัดควบคุมเส้นทางการเดินรถของรถโดยสาร 2 ชั้นด้วย เพราะรถโดยสาร 2 ชั้น แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งก็คือรถโดยสารประจำทาง ซึ่งมีเส้นทางวิ่งประจำอยู่แล้ว
อีกส่วนหนึ่งก็คือ รถโดยสารไม่ประจำทาง รับจ้างวิ่งทุกทิศทั่วไทย มีความเสี่ยงสูงในเส้นทางที่มีความลาดชัน หรือในเส้นทางที่มีโค้งเป็นจุดอันตรายต่าง ๆ เช่นเมื่อประมาณกลางปีที่ผ่านมาแล้ว เกิดอุบัติเหตุที่เขาตับเต่า อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี
หากจำกัดเส้นทางก็อาจจะต้องเป็นเส้นทางที่ไม่ใช่เป็นเส้นทางที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ขึ้นเขา ลงเขา หรือว่าเป็นจุดที่มีความลาดชัน และรถสำคัญคือต้องทดสอบความลาดเอียงด้วย เพราะแม้แต่นักวิชาการเองก็เคยให้ข้อมูลว่า ถึงแม้จะไม่ได้เป็นเส้นทางที่มีความลาดเอียงมาก หรือมีความลาดชันมาก ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ สำหรับรถโดยสารที่มีขนาดสูง
นายคงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาองค์กรของผู้บริโภค
แม้อุบัติเหตุที่เกิดขึ้น คนขับเองก็อาจจะไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์ และสภาพถนนชาวบ้านบอกว่า เป็นถนนที่สัญจรได้ตามปกติ แต่นายคงศักดิ์ กล่าวว่า จากที่ผมได้ติดตามข่าวทางโซเชียล พบว่า มีนักวิชาการหลายท่าน ออกมาพูดว่า การขับรถที่ไม่ได้เร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ก็ไม่ได้หมายความว่า รถจะไม่เกิดอุบัติเหตุแล้ว ก็จะไม่เกิดความรุนแรง
กรณีนี้รถก็วิ่งประมาณ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่เกิดเหตุด้วยปัจจัยสิ่งแวดล้อมด้านข้าง รวมถึงเส้นถนนที่มีความยาว ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ตัวพนักงานขับรถ อาจจะเกิดอาการเหนื่อยล้า จึงคิดว่า ถ้าในระยะทางไกลนะครับคนขับรถเพียง 2 คนอาจจะไม่พอ อาจจะต้องซอยให้มีคนขับรถเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญสำหรับในเคสนี้ซึ่งหลายคนอาจจะยังไม่ได้พูดถึงก็ คือเรื่องของการชดเชย เพราะเท่าที่ผมเห็นตัว ตัวเงินชดเชยจะต้องเฉลี่ยกัน ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่าต้องเป็นความรับผิดชอบของผู้ให้บริการเดินรถที่ต้องรับผิดชอบในส่วนตรงนี้แทน
อ่านข่าวอื่นๆ
หมอมนูญ เผย "โควิดขาขึ้น" เตือนกลับมาใส่หน้ากากอนามัยอีกครั้ง
มิจฉาชีพอ้างเป็นการไฟฟ้าฯหลอกโหลดแอปฯปลอม ทำสูญเงินกว่า 1 แสนบาท
สาเหตุใหม่ "ภาวะเลือดออกในสมอง" อาจมาจากเซลล์เม็ดเลือดแดง และเส้นเลือดฝอย