เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.2566 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า ขณะนี้กรมอุทยานฯ เตรียมรับมือสถานการณ์ไฟป่าหมอกควัน และฝุ่นละออง PM2.5 และลดจุดความร้อน (Hotspot) จากการเผาป่า สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ เช่น การเผาเพื่อเตรียมพื้นที่การเกษตรจนลุกลามเข้าไปในพื้นที่ป่า การเผาป่า เพื่อเก็บหาของป่าและล่าสัตว์ รวมถึงการเผาป่าเพื่อใช้เป็นพื้นที่เลี้ยงปศุสัตว์
นายอรรถพล กล่าวว่า ในส่วนของการเผาป่าอนุรักษ์ เพื่อใช้เป็นพื้นที่เลี้ยงปศุสัตว์ สั่งการให้สำรวจการเลี้ยงปศุสัตว์ ทั้งโค กระบือ แพะ และแกะ รวมถึงพื้นที่ติดต่อกับแนวพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ขอความร่วมมือผู้นำชุมชน และประชาชนร่วมมือห้ามนำสัตว์เข้าไปเลี้ยงในพื้นที่ป่าอนุรักษ์
โดยให้เลี้ยงเฉพาะในพื้นที่ควบคุมตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น หากพบฝ่าฝืนให้เป็นอันตรายต่อพื้นที่ป่าอนุรักษ์ จะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด
อ่านข่าว คพ.เตือน กทม.-ปริมณฑล แนวโน้มฝุ่น PM2.5 สูง 5-7 ธ.ค.
ก่อนหน้านี้เมื่อ 8 พ.ค.2560 กรมอุทยานฯ เคยคดีกับผู้ที่นำปศุสัตว์ไปเลี้ยงในเขตป่าอนุรักษ์มาแล้วในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยนำวัว 55 ตัวมาเลี้ยงในเขตอุทยานฯ ไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นความผิดคดีอาญา ในฐานความผิดตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ฐาน “ทำด้วยประการใดๆ ให้เป็นอันตรายหรือทำให้เสื่อมสภาพแก่ดิน หิน กรวด หรือทราย ภายในเขตอุทยานฯ
โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่” มาตรา 16 (4) และมาตรา 24 และฐาน “เข้าไปดำเนินการใดๆ เพื่อหาผลประโยชน์ภายในเขตอุทยานฯ โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่” มาตรา 16 (4) และมาตรา 27
ศาลได้มีคำพิพากษา จำคุก 4 ปี ปรับ 200,000 บาท จำเลยให้รับสารภาพ รับโทษกึ่งหนึ่ง คือ จำคุก 2 ปี ปรับ 100,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี พร้อมทั้งชดใช้ค่าเสียหายให้รัฐ 6.4 ล้านบาท
นายอรรถพล กล่าวว่า ได้มอบหมายหน่วยงานในสังกัดกรมอุทยานฯ เข้มงวดบังคับใช้กฎหมายการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติและกฎหมายเกี่ยวกับการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า อย่างเคร่งครัด นอกจากนี้การเผาป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ยังมีโทษปรับสูงสุด 2 ล้านบาท และจำคุก 20 ปี
สำหรับผู้เลี้ยงปศุสัตว์รายเล็ก รายน้อยเพื่อการยังชีพ กรมอุทยานฯ จะผ่อนปรนให้ตามความจำเป็น และเหมาะสมตามข้อระเบียบกฎหมาย
อ่านข่าว