วันนี้ (12 ธ.ค.2566) กรณีแพทย์ทหาร ใช้ปืนแก๊ปยิงขู่คนงานก่อสร้าง ก่อนเข้าไปเก็บตัวในบ้านพักที่ จ.สมุทรปราการ ทำให้ตำรวจต้องตรึงกำลังนานหลายชั่วโมง ก่อนจะยอมมอบตัว โดยเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน เข้าตรวจเก็บพยานหลักฐานเพิ่มเติม หลังผู้ก่อเหตุอ้างว่าใช้ยิงขู่คนงานก่อสร้าง และตำรวจยึดปืน มาตรวจสอบเปรียบเทียบ รวมทั้งตรวจหาวิถีกระสุนเพื่อประกอบสำนวนคดี
พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรบางแก้ว ระบุว่า ยังไม่มีการแจ้งข้อหาใดกับผู้ก่อเหตุ เนื่องจากขณะนี้ถูกส่งตัวไปรักษาอาการป่วยทางจิตเวชที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ต้องรอให้อาการทุเลาก่อน
ส่วนความผิดที่เข้าข่ายน่าจะมีเพียง การทำให้ผู้อื่นตกใจกลัวโดยการขู่เข็ญ สำหรับอาวุธที่ผู้ก่อเหตุครอบครองอยู่ พบว่าเป็นสิ่งเทียมอาวุธปืนบีบีกัน 2 กระบอก และปืนแก๊ป 1 กระบอก ซึ่งมีลักษณะเป็นปืนสั้นสีบรอนซ์เงิน ไม่พบการดัดแปลง ซึ่งกระบอกนี้ตรงกับที่พยานให้ปากคำ จึงไม่เข้าข่ายมีความผิด ตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน
เพื่อนบ้านหมู่บ้านที่เกิดเหตุ ให้ข้อมูลว่า ผู้ก่อเหตุอยู่บ้านหลังนี้ มานานกว่า 15 ปี ชอบอยู่คนเดียวตามลำพัง ไม่สุงสิงกับใคร และ ไม่ชอบเสียงดัง แต่กลับพบว่า ผู้กอเหตุมักส่งเสียงดังบ่อยครั้ง เช่น เสียงดังจากการ เปิด-ปิด ประตูบ้าน หลายครั้งได้ยินเสียงพูดคนเดียว บางครั้งได้ยินเสียงสวดมนต์ แต่เป็นการส่งเสียงดังจากในบ้าน ไม่ได้ออกมาวุ่นวายกับคนอื่น
อ่านข่าว หมอทหาร ยิงขู่คนงานก่อสร้าง มอบตัวแล้ว หลังปิดล้อม 5 ชั่วโมง
ตำรวจพิสูจน์หลักฐานเข้าเก็บพยานในบ้านที่เกิดเหตุเพิ่มเติม
จิตแพทย์ แนะสังเกตพฤติกรรมผู้ป่วยจิตเวช
นพ.ศรุตพันธุ์ จักรพันธุ์ ณ อยุธยา ผอ.สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ระบุว่า ให้สังเกตพฤติกรรมของผู้ป่วยจิตเวช ที่เปลี่ยนไปจากเดิม เช่น การรักษาความสะอาดร่างกาย หรือแสดงพฤติกรรมสุดโต่ง เช่น การใช้เงินซื้อของจำนวนมาก หรือการประหยัดมากจนนำขยะมาใช้แทนสิ่งของที่จะต้องซื้อ
การปฏิสัมพันธ์กับคนเปลี่ยนไป ทั้งคำพูดและท่าทาง เช่น ส่งเสียงดัง หรือตะโกนด่า ด้วยคำหยาบคายรุนแรง ทำลายสิ่งของ จนถึงขั้นเริ่มทำร้ายสัตว์และทำร้ายคน รวมทั้งเริ่มพกพาอาวุธ
ความรุนแรงอาจมีตั้งแต่คำพูด ดุด่าอาละวาด จนถึงการทำลายข้าวของ ทำร้ายสัตว์ และสุดท้ายทำร้ายคนและมีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ถืออาวุธมีด จอบ เสียม ปืน ถ้าเจอแบบนี้ต้องแจ้งญาติพี่น้องและเจ้าหน้าที่
ผอ.สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ระบุว่า คนในชุมชนสามารถช่วยดูแลผู้ป่วยจิตเวชได้ หากพบเห็นผู้ป่วยจิตเวชในชุมชนมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป ให้แจ้งญาติหรือคนในครอบครัวของผู้ป่วยหรือเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ตำรวจ เพื่อนำตัวไปรักษาที่สถานพยาบาลหรือโรงพยาบาลจิตเวช เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการบำบัดรักษาที่เหมาะสม ช่วยลดการก่อเหตุความรุนแรงในสังคมตามแนวทางการส่งต่อผู้ป่วย ตาม พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ.2551
อ่านข่าว
ระทึก! ตร.ปิดล้อมสยบชายยิงปืนในหมู่บ้านดังสมุทรปราการ