กรณีเครื่องบินของสายการบิน Japan Airlines เที่ยวบิน 516 ชนเข้ากับเครื่องบินของหน่วยยามฝั่ง ขณะลงจอดที่สนามบินฮาเนดะ ในกรุงโตเกียวของญี่ปุ่น เมื่อ 2 ม.ค.ที่ผ่านมา
การอพยพผู้โดยสารเกือบ 400 ชีวิตออกมาได้อย่างปลอดภัย คงไม่ใช่แค่ "ปาฏิหาริย์" หรือ "โชคช่วย" แต่อาจเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน
คลิปที่ถูกโพสต์ ในสื่อสังคมออนไลน์ และอาจเป็นหลักฐานที่ทำให้หลายฝ่ายประเมินได้ว่า เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ลูกเรือและผู้โดยสารบนเครื่องปลอดภัย จากอุบัติเหตุเครื่องบิน Japan Airlines โดยจะเห็นว่าผู้โดยสารทุกคน นั่งฟังคำสั่งของพนักงานต้อนรับ ที่ขอให้อยู่กับที่ ก้มตัวลงต่ำ และอย่าตื่นตระหนก
ส่วนคลิปสั้นๆ 3 วินาที เป็นสิ่งที่ช่วยยืนยันถึงข้อความข้างต้นได้เป็นอย่างดี เพราะในช่วงของการอพยพจะสังเกตได้ว่า ไม่มีผู้โดยสารคนไหนที่นำสัมภาระติดตัวลงมาจากเครื่องเลย ซึ่งสอดคล้องกับแนวปฏิบัติในการอพยพที่เป็นมาตรฐานการบินทั่วโลก ซึ่งจะอยู่ในการสาธิตความปลอดภัยของทุกสายการบิน
อ่านข่าว ญี่ปุ่นเร่งสอบเหตุเครื่องบิน Japan Airlines ไฟไหม้ที่ฮาเนดะ
ถอดบทเรียนปัจจัยรอดผู้โดยสาร Japan Airline 379 ชีวิตที่อพยพลงมาอย่างปลอดภัย
ผู้โดยสารห้ามนำสัมภาระลงระหว่างอพยพ
ในการอพยพ นอกจากจะมีกฎ "ไม่นำสัมภาระติดตัว" ออกมาด้วยแล้วในแนวปฏิบัติของลูกเรือจะมีเงื่อนไขที่ต้องอพยพผู้โดยสารทั้งหมดภายใน 90 วินาทีหลังจากที่มีคำสั่งอพยพ ซึ่งเครื่องบินทุกรุ่น ทุกบริษัทจะต้องถูกออกแบบมาให้ปฏิบัติตามกฎข้อนี้ได้ ไม่ว่าจะลำใหญ่แค่ไหนก็ตาม ไม่เช่นนั้นจะไม่ผ่านมาตรฐาน
ขณะที่ยังมีคลิปการทดสอบมาตรฐานเพื่อรับใบรับรองของเครื่องบินแอร์บัส A380 เครื่องบินพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ว่าจะสามารถอพยพผู้โดยสารและลูกเรือจำนวนกว่า 870 คนบนเครื่องภายใน 90 วินาทีได้หรือไม่ ก่อนที่จะอนุญาตให้บริการในเชิงพาณิชย์
2 นาทีดับเพลิงกู้ภัยสนามบินต้องเข้าถึง
ขณะที่สำนักข่าวบีบีซี ได้เผยแพร่บทความ ถอดบทเรียนว่า "ลูกเรือสามารถอพยพผู้โดยสารอย่างไร้ที่ติ ในกรณีนี้ได้อย่างไร" และมีประเด็นที่น่าสนใจ เพราะกรณี Japan Airlines พบว่า ทางออกฉุกเฉินใช้ได้แค่ 3 ทางจาก 8 ทาง
แถมล้อหน้าของเครื่องก็เสียหาย ทำให้เครื่องเอียงผิดองศา ส่งผลให้สไลด์ท้ายเครื่องจะชันมาก นอกจากนี้ ระบบที่ใช้ประกาศบนเครื่องก็ใช้ไม่ได้ ต้องใช้โทรโข่งและการตะโกน แต่ก็ยังสามารถอพยพทุกคนออกมาได้อย่างปลอดภัย
นอกจากนี้ ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่า เครื่องบินลำนี้ เป็นเครื่องบินรุ่นใหม่ ที่ใช้โครงสร้างคาร์บอนไฟเบอร์ ทำให้มีน้ำหนักเบา แต่แข็งแรงและทนไฟได้ดีกว่าโครงสร้างแบบเดิม จึงทำให้ไฟลุกลามช้าลง
หน่วยดับเพลิงกู้ภัยอากาศยานของสนามบิน เข้าถึงปลายรันเวย์ได้ภายใน 2 นาที และต้องไม่เกิน 3 นาที ถ้าเกิดเหตุฉุกเฉิน
จริงๆ ในอุตสาหกรรมการเครื่องบิน เริ่มมีการนำคาร์บอนไฟเบอร์มาใช้ในรูปแบบของวัสดุคอมโพสิตตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 หรือกว่า 50 ปีมาแล้ว โดยระยะแรกถูกใช้ในบางส่วนประกอบเท่านั้น แต่ภายหลังมีการใช้งานมากขึ้น ปัจจุบัน เครื่องบินบางรุ่นมีส่วนประกอบของคาร์บอนไฟเบอร์มากถึงร้อยละ 55 ส่วนแอร์บัส Airbus A350 รุ่นที่เกิดเหตุ ใช้วัสดุชนิดนี้ถึงร้อยละ 54
อากาศยานที่ออกแบบเพื่อความปลอดภัย
หลังจากนี้ความปลอดภัยของเครื่องบิน โดยเฉพาะความทนทานต่อไฟอาจถูกพูดถึงมากขึ้น แต่ยุคของคาร์บอนไฟเบอร์ก็กำลังจะถูกแทนที่ และนอกจากประเด็นเรื่องการปฏิบัติตามมาตรฐานการอพยพ ความมีระเบียบวินัยของผู้โดย สาร การออกแบบโครงสร้างอากาศยาน และวัสดุที่ใช้ประกอบอากาศยานแล้ว
อีกปัจจัยที่ขาดไม่ได้คือ "เวลาในการตอบสนอง" (Response Times) ของหน่วยดับเพลิงกู้ภัยอากาศยานของสนามบิน ที่ต้องกำหนดจุดประจำการที่สามารถเข้าถึงปลายรันเวย์ได้ภายใน 2 นาที และต้องไม่เกิน 3 นาที ถ้าเกิดเหตุฉุกเฉิน
และด้วยมาตรฐานที่กำหนดไว้และถูกนำไปใช้ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด จึงทำให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และไม่มีผู้โดยสารบนเครื่อง Japan Airlines เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้
อ่านข่าว ลูกเรือเครื่องบินหน่วยยามฝั่ง เสียชีวิต 5 นาย หลังถูก JAL เฉี่ยวชน
สภาพเครื่องบินหน่วยยามฝั่ง ที่ถูกชนในสนามฮาเนดะ ญี่ปุ่นเหลือแค่ซาก ผู้เสียชีวิต 5 คน
ผลสอบเหตุเครื่องบินชนกันในสนามบินฮาเนดะ
บันทึกการสนทนาระหว่างเจ้าหน้าที่ของศูนย์ควบคุมการบินในสนามบินฮาเนดะ ที่กรุงโตเกียวของญี่ปุ่นกับนักบินของสายการบิน Japan Airlines เที่ยวบินที่ 516 ก่อนหน้าที่จะเกิดอุบัติเหตุ 4 นาที ระบุไว้ชัดเจนว่า
นักบินได้รับอนุญาตให้ลงจอดได้ เท่ากับชัดเจนว่านักบินของเจแปน แอร์ไลนส์ ปฏิบัติตามที่ได้รับแจ้ง
แต่ในส่วนของนักบินเครื่องบินหน่วยยามฝั่ง ในเอกสารระบุว่า ศูนย์ควบคุมการบินขอให้นำเครื่องไปที่จุดรอ แต่ยังไม่อนุญาตให้นำเครื่องเข้าไปในรันเวย์ ซึ่งนักบินก็ทวนคำสั่งนั้นด้วย แต่ปรากฏว่า 2 นาทีหลังจากนั้น เครื่องบินของหน่วยยามฝั่งกลับเข้าไปจอดอยู่บนรันเวย์ ทำให้เครื่องบินของ Japan Airlines ที่กำลังลงจอดชนเข้ากับเครื่องบินของหน่วยยามฝั่ง ทำให้ลูกเรือ 5 นายบนเครื่องเสียชีวิต ส่วนนักบินบาดเจ็บสาหัส
ทั้งนี้มีการตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะมีอีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ นั่นคือไฟสัญญาณที่แสดงจุดจอดของเครื่องบินไม่ทำงาน ซึ่งอาจทำให้นักบินมองไม่เห็นและจอดล้ำเข้าไปในรันเวย์ แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านการบิน มองว่าไม่น่าจะใช่สาเหตุ เพราะในจุดดังกล่าวมีเส้นเรืองแสง ที่กำหนดจุดให้จอดอยู่แล้ว ซึ่งนักบินจะต้องมองเห็น