วันนี้ (18 ม.ค.2567) น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม กล่าวถึง โรงงานพลุระเบิดที่ จ.สุพรรณบุรี พบว่า สถานประกอบการดังกล่าวไม่ได้เป็นโรงงานอุตสาหกรรมตามเกณฑ์ของกระทรวงอุตสาหกรรม เพราะประกอบกิจการผลิตประทัดลูกบอลไล่นก ชนวนดำใช้กับพลุ มีคนงานประมาณ 30 ราย และไม่มีการใช้เครื่องจักร ให้คนงานใช้มือในการบรรจุดินปืน และประกอบส่วนต่างๆ จึงไม่เข้าข่ายการเป็นโรงงาน ที่ต้องมีคนงานเกิน 50 ราย
ทั้งนี้กระทรวงอุตสาหกรรม ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้สั่งการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเข้าไปตรวจสอบเร่งด่วน และรายงานกลับมา แม้ว่าจะไม่ใช่เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรมตรง แต่ได้ให้หน่วยงานเข้าไปให้ความรู้และจัดการความความปลอดภัยในโรงงานผลิตดอกไม้เพลิง ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาว่า จะนำสถานประกอบการลักษณะดังกล่าวเข้าเป็นโรงงานหรือไม่ เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนโดยรอบพื้นที่ และในตัวสถานประกอบการเองด้วย
กห.ระบุขออนุญาตทำ-ค้าดอกไม้ไฟถูกต้อง
ด้าน พล.ร.ต. ธนิตพงศ์ สิริเศวตศักดิ์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ระบุว่า โรงงานที่เกิดเหตุพลุระเบิด จ.สุพรรณบุรี มีการทำหรือค้าซึ่งดอกไม้เพลิง อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ซึ่งอยู่ในอำนาจของนายทะเบียนท้องที่ตามพ.ร.บ.อาวุธปืน มีการขอใบอนุญาตในการทำ หรือค้า ซึ่งดอกไม้เพลิง ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ จากกรมการปกครองอย่างถูกต้อง
นอกจากนี้ยังเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้มีซึ่งยุทธภัณฑ์โพแทสเซียมคลอไรด์ (Potassium Chloride) จากกระทรวงกลาโหม ตามพ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530 จำนวน 3,000 กิโลกรัม รายละเอียดตามใบอนุญาตเลขที่ 660504621 ลงวันที่ 24 ก.ค.2566 หมดอายุ 23 ก.ค.2567 เพื่อใช้ในการทำดอกไม้เพลิง และมีสถานที่เก็บ ณ คลังเก็บ หมู่ 3 ต.ศาลาขาว อ.เมืองสุพรรณบุรี จ.สุพรรณบุรี
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ยธ.พร้อมเยียวยา "ผู้เสียชีวิต-บาดเจ็บ" พลุระเบิดสุพรรณบุรี
"วราวุธ" เดินหน้าช่วยเหตุ "โรงงานพลุระเบิด" ให้เดือดร้อนน้อยที่สุด
ย้อนรอยโรงงานพลุระเบิด สุพรรณบุรี พบ พ.ย.65 เคยเกิดเหตุซ้ำจุดเดิม