ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"Loud Budgeting" ตะโกนบอกโลกไปว่า "ฉันเป็นคนประหยัด"

ไลฟ์สไตล์
4 ก.พ. 67
08:08
1,227
Logo Thai PBS
"Loud Budgeting" ตะโกนบอกโลกไปว่า "ฉันเป็นคนประหยัด"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เทรนด์มาแรงปี 2024 "Loud Budgeting" เปลี่ยนจาก "ของมันต้องมี" เป็น "ไม่ต้องมีมันก็ได้" เทรนด์ที่จะทำให้ ต่อไปนี้เราสามารถตะโกนดังๆ บอกคนรอบข้างได้ว่า "ฉันเป็นคนประหยัด" ได้แบบไม่ต้องเขอะเขินอีกต่อไป

อย่าปฏิเสธว่าบางครั้งเราหรือใครอีกหลายคนก็ยังยึดติดอยู่กับลัทธิ "วัตถุนิยม" ที่เมื่อเห็นคนดังหรือคนใกล้ตัวมีของใช้แบรนด์หรู "ก็อยากจะมีบ้าง" หลายคนกัดฟันเก็บเงิน ยอมกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เพื่อให้มีเงินไปซื้อสินค้าราคาแพง เพราะคำว่า "ของมันต้องมี"

แต่มันไม่ใช่สิ่งที่ผิดอะไร ถ้ามันคือความสุข และไม่ทำให้ใครเดือดร้อน
หลายคนมองว่าเป็นรางวัลให้ชีวิตการทำงานก็ได้ 

กระแส "ของมันต้องมี" มีมานานมากแล้ว แต่เริ่มผ่อนลงช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ด้วยทั้งโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจพังทั้งโลก และกระแสการนำของมาวนใช้ซ้ำ เพื่อรณรงค์ลดโลกร้อน ลดการเพิ่มขยะเสื้อผ้า กระเป๋า สงคราม ภาวะเงินเฟ้อ ล่าสุดด้วยเทรนด์แฟชั่นของปี 2023 "Quiet Luxury" ที่หมายถึง "ความหรูหราแบบเงียบๆ" น้อยแต่มาก เรียบแต่หรู ที่ทำให้ผู้บริโภคเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อสินค้าที่สีฉูดฉาด โชว์โลโก้แบรนด์ชัดเจน เหมือนเป็นเครื่องบ่งบอกชนชั้นทางสังคม มาเป็นสินค้าที่ดูเรียบหรู ไม่โชว์โลโก้แบรนด์ ดีไซน์เรียบง่าย สีสันไม่ฉูดฉาด ใส่ได้ตลอดกาล 

ซึ่งถือเป็นการบ้านชิ้นใหญ่ให้กับเหล่าแบรนด์ดังของโลก ที่ต้องคิดคอลเลกชันสินค้าที่ไม่มีโลโก้แบรนด์ขนาดใหญ่ แต่ยังสามารถสื่อถึงความเรียบหรู มีรสนิยม เอกลักษณ์ของแบรนด์ที่เด่นชัด

จากความเงียบสู่การตะโกน

แม้เทรนด์ "Quiet Luxury" จะเป็นที่นิยมมากในช่วงปีที่ผ่านมา แต่เมื่อมาถึงปี 2024 เทรนด์แฟชั่นกลับเป็น "Loud Budgeting" ที่เปลี่ยนจากความเงียบไปสู่การตะโกน แต่ตะโกนในที่นี้คือ การตะโกนบอกทุกคนถึงการวางแผนทางการเงินให้กับอนาคตมากขึ้น 

เปลี่ยนจากการอวดความร่ำรวยผ่านวัตถุ สู่การอวดความประหยัดผ่านการออมเงิน

เหตุผลที่โลกพลิกจากเทรนด์ความรวยสู่ความประหยัดเพราะมีผลการวิจัยในสหรัฐฯ ที่เผยแพร่ออกมาว่ากว่าร้อยละ 70 ของชาวอเมริกันมีความกังวลเรื่องของความมั่นคงทางการเงิน และครึ่งหนึ่งของกลุ่มนี้ "เครียดเรื่องเงินจนนอนไม่หลับ" Loud Budgeting คือคอนเซปต์การใช้เงินไปกับสิ่งที่มีคุณค่าหรือ "จำเป็น" เท่านั้น และไม่จำเป็นต้องซื้อสินค้าราคาสูงตามเทรนด์เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้ตัวเองดูดี 

Lukas Battle Tiktoker ชาวอเมริกัน เป็นคนแรกๆ ที่ออกมาตะโกนให้โลกรู้ว่า "เราไม่จำเป็นต้องซื้อของราคาแพงตามเทรนด์อยู่ตลอดเวลาก็ได้" และคลิปวิดีโอของเขาก็ได้รับกระแสเห็นด้วยจากชาวเน็ตจำนวนมาก 

นั่นไม่ได้หมายความว่าเราไม่มีเงิน แต่เราแค่ไม่อยากซื้อ
It's not "I don't have enough", it's "I don't want to spend"

แยกให้ได้ Needs หรือ Wants 

เมื่อยังสับสนอยู่ว่า "แล้วอะไรคือสิ่งจำเป็นล่ะ ?" ก็ต้องวกกลับมาทำความรู้จักหลักพื้นฐานการเงินเบื้องต้นกันเสียก่อน ต้องแยกให้ได้ระหว่าง Needs (สิ่งจำเป็น) และ Wants (สิ่งที่ต้องการ) 

Needs (สิ่งที่จำเป็น) คือสิ่งที่เราขาดไม่ได้ เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น อากาศ น้ำ อาหาร เสื้อผ้า ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย เป็นต้น 

Wants (สิ่งที่อยากได้) คือสิ่งที่เราอยากได้ อยากมี แต่ถ้าไม่มีเราก็ยังอยู่ได้ ไม่ส่งผลกับชีวิตประจำวันมาก เช่น ของเล่น ขนม เกม เป็นต้น

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า กว่าจะซื้ออะไรสักอย่างจะต้องมานั่งคิดจนปวดหัว อันไหนคือสิ่งจำเป็น อันไหนคือสิ่งที่อยากได้อยากมี เพียงแต่ขอให้ฉุกคิดสักเล็กน้อย สัก 48 ชั่วโมง ถ้ายังอยากได้อยู่ เล็งเห็นความจำเป็นของสิ่งๆ นั้น ก็ค่อยซื้อมาก็ได้ แต่ถ้าลองให้เวลากับตัวเองแล้ว และเห็นว่า "ไม่มีก็ได้" ก็ไม่จำเป็นต้องจ่าย 

ยกตัวอย่าง เช่น ถ้าได้โบนัสมาเมื่อปลายปี ระหว่างการนำไปใช้จ่าย ซื้อของเป็นรางวัลให้ตัวเองที่ทำงานเหนื่อมาทั้งปี กับการนำเงินไปซื้อกองทุน ต่อยอดเงิน อะไรคือสิ่งจำเป็นที่ต้องทำ แต่ต้องบอกว่า หากจะคิดว่าการไปเที่ยวคือสิ่งจำเป็น ก็ไม่ได้ผิดอะไร เพราะบริบทความมั่นคงทางสถานะการเงิน หรือความมั่งคั่งสุทธิของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน 

มีเงินเยอะไม่ได้แปลว่า "รวย"

ยังมีบางทัศนคติในสังคมที่มองว่า การปฏิเสธที่จะจ่ายเงินหรือซื้อของตามเพื่อนนั้นแปลว่าคุณเป็นคนจน หรือบางทัศนคติที่คิดว่า หากใช้สินค้าราคาสูง กินหรูอยู่แพง คือคนรวย ... นั่นคือมุมมองในอดีต

ในปัจจุบัน เราวัดความร่ำรวยของบุคคลจาก "ความมั่งคั่งสุทธิ หรือ Net Worth" คือรายได้จากสินทรัพย์ (Passive Income) ต้องมีมากกว่ารายจ่าย แต่วิธีนี้ต้องคำนวณเฉพาะบุคคลไป

คนที่มีเงินเดือน 15,000 บาท แต่หมั่นซื้อกองทุน ฝากเงิน กับอีกคนที่มีเงินเดือน 15,000 บาท แต่ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย ใช้เงินเดือนชนเดือน ซื้อเสื้อผ้า กระเป๋า ปาร์ตี้ ในกรณีนี้คนที่มีเงินเดือน 15,000 คนแรกจะกลายเป็นคนที่มีความมั่นคั่งสุทธิแข็งแรงกว่า เป็นต้น    

บอกโลกไปว่า "ฉันเป็นคนประหยัด"

เทรนด์ "Loud Budgeting" เป็นเทรนด์ที่ทำให้คนกล้าปฏิเสธคนอื่นมากขึ้น ด้วยเหตุผลว่าต้องการเก็บเงินมากกว่าการจ่ายเงินไปกับสิ่งที่ไม่ได้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเขา ข้อมูลจาก Capital ระบุว่าที่ปรึกษาด้านการบริหารความมั่งคั่ง Brian Ford จาก Northwestern Mutual บอกว่าคนมักไม่ค่อยอยากจะพูดเรื่องเงินมากเท่าไหร่ เพราะนั่นทำให้รู้สึกไม่สบายใจและละอายเบาๆ ส่วน Julie O’Brien รองประธานอาวุโสและหัวหน้าฝ่ายพฤติกรรมศาสตร์ที่ U.S. Bank กล่าวว่า loud budgeting ทำให้ผู้คนรู้สึกโดดเดี่ยวน้อยลงและมีพลังมากขึ้นได้ 

ด้าน The Economic Times รายงานว่าแทนที่จะเก็บปัญหาทางการเงินไว้เป็นความลับส่วนตัว แต่การพูดคุยอย่างเปิดเผยถึงงบประมาณการใช้จ่ายกลับช่วยกำหนดขอบเขตการใช้จ่าย ลดแรงกดดันในการซื้อของไม่จำเป็น และยังเป็นแนวทางนำไปสู่ทางเลือกการใช้จ่ายที่ชาญฉลาดยิ่งขึ้น ที่จะช่วยให้ผู้คนมุ่งความสนใจไปที่การประหยัดเงิน

การออมเงินในปัจจุบันเพื่ออนาคต ย่อมดีกว่าการเอาเงินในอนาคตมาใช้ในปัจจุบัน

Loud Budgeting มีประโยชน์อย่างไร ?

  • เพิ่มเงินออม : การพูดคุยเรื่องงบประมาณการใช้จ่ายกับเพื่อนหรือคนรอบข้าง จะช่วยให้คุณระลึกถึงงบของตัวเองอยู่ตลอดเวลา ช่วยกระตุ้นให้คุณตัดสินใจที่จะใช้จ่ายอย่างชาญฉลาดมากขึ้น
  • หลุดพ้น "ของมันต้องมี" : เมื่อคุณจัดลำดับความสำคัญทางการเงินอย่างเปิดเผย คุณจะมีโอกาสน้อยลงที่จะยอมจำนนต่อกิเลสกับสิ่งของที่ไม่จำเป็นกับตัวเอง 
  • กระชับความสัมพันธ์ : การสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับเงิน จะสามารถปรับปรุงความสัมพันธ์กับเพื่อนและครอบครัว ได้มากขึ้น 
  • สร้างความมั่นใจ : ถ้าสามารถเอาชนะกิเลสในความอยากได้ ควบคุมงบการเงินให้สำเร็จได้ สิ่งเหล่านี้จะสร้างความมั่นใจให้ตัวคุณอย่างแน่นอน 

แล้วต้องทำ Loud Budgeting อย่างไร ?

  • กำหนดงบการเงินของตัวเอง และ บอกกับเพื่อนที่เชื่อถือได้ 
  • กล้าปฏิเสธคำเชิญ หากสิ่งนั้นไม่จำเป็นกับชีวิตของคุณ โดยแจ้งกับเพื่อนไปว่า งบการใช้เงินของคุณในแต่ละเดือนมีเท่าไหร่ 
  • จำไว้ว่า การพูดคำว่า "ไม่มีเงิน" ไม่ใช่คำที่น่าอายอะไรเลย แต่กลับเป็นความจริงใจในการสื่อสารและให้เห็นถึงการจัดลำดับความสำคัญของสถานะทางการเงินของคุณเอง
  • ท่องเอาไว้ "อยู่อย่างจน จะไม่จน อยู่อย่างรวย จะไม่รวย"

อ่านข่าวอื่น :

ปักหมุดเที่ยว "ตรุษจีน 2567" ปีนี้ที่ไหน มีไฮไลท์อะไรบ้าง

"29 กุมภาพันธ์" 4 ปีมีหน "ความอลวน" นานนับพันปี

เฮงรับปีมะโรง เปิดประวัติ "ตรุษจีน" ปี 2567 ความสำคัญ - พิธีไหว้ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง