วันนี้ (5 ก.พ.2567) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมกับเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน นำรายชื่อ 7,301 รายชื่อ ยื่นข้อเรียกร้องถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ให้ปล่อยตัวนายอานนท์ นำภา โดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข และต้องยกเลิกข้อกล่าวหาและคำตัดสินในกระบวนการยุติธรรมที่นายอานนท์ถูกดำเนินคดีความทั้งหมด รวมถึงประชาชน เด็กและเยาวชนทุกคนที่ถูกดำเนินคดีความ
อ่านข่าว : แอมเนสตี้ นัดจัดกิจกรรมที่ทำเนียบ ร้องหยุดดำเนินคดี "อานนท์"
มีการเดินขบวนจากบริเวณกระทรวงศึกษาธิการ และเมื่อมาถึงแยกมิสกวัน ไม่สามารถเดินผ่านไปที่สำนักงาน กพร.ตามเป้าหมายเดิมได้ เนื่องจากตำรวจจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล กั้นแนวรั้วเหล็กไว้ ซึ่งทางกลุ่มได้จัดกิจกรรมที่แยกนี้ประมาณ 15 นาที จากนั้นมีตัวแทนของรัฐบาล นำโดยนายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง พร้อมคณะ ออกมาจากทำเนียบรัฐบาลเพื่อรับหนังสือข้อเรียกร้อง
นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ระบุว่า การนำรายชื่อประชาชน สมาชิก นักกิจกรรมจากทั่วโลก มายื่นเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปล่อยตัวและยกเลิกข้อกล่าวหาทั้งหมดกับนายอานนท์ รวมถึงนักกิจกรรมคนอื่นๆ ในครั้งนี้ คือปฏิบัติการด่วนที่สำนักเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ต้องการกระตุ้นให้ทางการไทยปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ที่กำหนดให้รัฐบาลไทยต้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนประชาชนทุกคน ทั้งสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก การสมาคมและการชุมนุมโดยสงบ รวมถึงการยกเลิกแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่จำกัดสิทธิมนุษยชน
ข้อมูลช่วง 4 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีการดำเนินคดีความกับนักกิจกรรมและผู้ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงจำนวนมาก สะท้อนให้เห็นว่าการออกมาใช้สิทธิมนุษยชนในประเทศกลายเป็นเรื่องน่าเศร้า ทุกคนถูกจับกุมคุมขัง ถูกคุกคามและถูกติดตาม ปัจจุบันพบตัวเลขผู้ถูกละเมิดสิทธิเรื่องนี้มากกว่า 1,938 คน ในจำนวนนี้มีเด็กถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 286 คน
ทั้งนี้ ตามพันธกรณีกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน กำหนดให้รัฐบาลไทยเคารพ คุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนที่ทุกคนควรได้มีเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ
นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง (ขวา) รับหนังสือข้อเรียกร้อง
ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ฯ ย้ำว่า สิทธิในการประตัวหรือปล่อยตัวชั่วคราว คือสิทธิมนุษยชนที่ทุกคนควรได้รับ เพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สอดคล้องกับหลักการทางกฎหมายที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า "ผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญาเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด"
นอกจากนี้ยังย้ำถึงคำประกาศที่รัฐบาลไทยได้กล่าวไว้กับนานาชาติและประชาคมโลกว่า ประเทศไทยจะลงสมัครสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (HRC) ระหว่างปี 2568-2570 ที่ย้ำและให้พันธสัญญาว่าจะร่วมส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในประเทศของตัวเอง ซึ่งหากรัฐไทยต้องการเป็นส่วนหนึ่งของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ ก็จะต้องเคารพและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศตามที่ได้ประกาศไว้
ข้อเรียกร้องแอมเนสตี้ฯ ถึงรัฐบาลไทย
1. ปล่อยตัวนายอานนท์ นำภา นักปกป้องสิทธิมนุษยชนโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข รวมทั้งให้ยกเลิกคำตัดสินว่ามีความผิดและการดำเนินคดีใดๆ ต่อเขาและบุคคลอื่นๆ รวมทั้งเด็ก ซึ่งถูกดำเนินคดีเพียงเพราะการใช้สิทธิมนุษยชนของตน
2. ระหว่างที่ยังไม่ยกเลิกคำตัดสินว่ามีความผิดและการดำเนินคดี ต้องอนุญาตให้นายอานนท์ นำภา และนักกิจกรรมคนอื่นมีสิทธิได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว และประกันว่าเงื่อนไขการประกันตัวจะไม่เป็นการจำกัดโดยพลการต่อการใช้สิทธิของตนโดยสงบ
3. แก้ไข เพิ่มเติม หรือยกเลิกกฎหมายที่ถูกใช้เพื่อจำกัดสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ เพื่อประกันว่าประเทศไทยจะปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของตน
อ่านข่าวอื่นๆ
ศาลสั่งจำคุก 4 เดือน รอลงอาญา 2 ปี "ธนาธร-ช่อ-ปิยบุตร-พิธา" คดีแฟลชม็อบปี 62
"อัจฉริยะ" ร้อง "บิ๊กเต่า" สอบ 2 ขรก.อ้างส่งข้อมูลทุจริตให้เอกปากน้ำ