วันนี้ (11 ก.พ.2567) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างการรับรู้และเผยแพร่พระอัจฉริยภาพทางด้านการอนุรักษ์และต่อยอดมรดกภูมิปัญญาการทอผ้าของไทย ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างการรับรู้และเผยแพร่พระอัจฉริยภาพทางด้านการอนุรักษ์และต่อยอดมรดกภูมิปัญญาการทอผ้าของไทย
กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธานที่แน่วแน่ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องจากทรงมีเป้าหมายที่อยากเห็นพสกนิกรชาวไทยมีความสุข
"นับเป็นเดชะบุญของพวกเราคนไทยทุกคนที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พระผู้ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ปฏิบัติพระกรณียกิจในการทรงงาน สืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชดำริด้านการนำภูมิปัญญาหัตถศิลป์หัตถกรรมในด้านผ้าไทย ซึ่งเป็นมรดกของบรรพบุรุษไทยที่ได้รับการรื้อฟื้น”
โดยการต่อยอดยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ด้วยทรงมุ่งหมายที่จะพลิกฟื้นคุณค่าผ้าไทย งานหัตถกรรมไทยให้มีความร่วมสมัย เป็นที่นิยมชมชอบของคนทุกช่วงวัย ทุกเวลา ทุกโอกาส
ด้วยการพระราชทานแนวพระดำริ ผ้าไทยใส่ให้สนุกและลายผ้าพระราชทานลวดลายต่าง ๆทำให้เกิดการจุดพลังการขับเคลื่อนงานหัตถกรรมในทุกมิติ ทั้งรูปแบบ ลวดลาย สี ทำให้ผ้าไทยมีความทันสมัย ทำให้คนนิยมใส่ผ้าไทยมากขึ้น จนสามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับประชาชนอย่างครบวงจร
ตั้งแต่คนทอผ้า ย้อมผ้า ตัดเย็บ คนจำหน่าย มีตัวอย่างกลุ่มที่ได้รับพระกรุณาธิคุณที่ได้มีโอกาสพัฒนาองค์ความรู้ แล้วนำองค์ความรู้ไปพัฒนาคุณภาพผ้าที่ผลิต เช่น กลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี ซึ่งทุกวันนี้รับออเดอร์จากทั้งในประเทศและต่างประเทศจนผลิตแทบไม่ทัน สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในกลุ่มจนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างมาก
นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวต่ออีกว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีความเพียรพยายามในการศึกษาค้นคว้า ทั้งในด้านสีทอผ้า ลวดลาย รูปแบบการตัดเย็บ เพราะทรงเล็งเห็นว่า แฟชั่น คือ ความชอบ เป็นรสนิยมคนที่ไม่คงที่ แต่ก็สามารถวิวัฒนาการได้ โดยเฉพาะลายพระราชทาน ที่เป็นที่นิยมชมชอบของคนทุกช่วงวัย
เป้าหมายสำคัญ คือ ภูมิปัญญาไทยได้ช่วยพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยทุกคน ด้วยเพราะงานหัตถกรรมเป็นงานอันศิวิไลซ์ เป็น Soft Power ที่สามารถทำให้ครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อว่า ทุกคนที่ใส่ผ้าไทยไม่ได้ใส่เพราะมันเป็นเครื่องนุ่งห่ม แต่เป็นเลือดเนื้อและชีวิตของคนไทยที่เราต้องช่วยทำนุบำรุงให้ประชาชนมีความแข็งแรง เงินทุกบาทที่ซื้อผ้าไทยไป จะตกไปถึงคนปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ปลูกฝ้าย คนเฒ่าคนแก่ที่อิ้วฝ้าย อิ้วไหม ทอผ้า ย้อมสี อย่างครบวงจร
ด้านนายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้เพื่อจะได้เฟ้นหากลุ่มเด็กและเยาวชนที่ไม่ใช่สมาชิก OTOP เพื่อร่วมเป็น Young OTOP หน้าใหม่ เสริมเติมจากทีมงานเดิมทั้ง Young OTOP ดั้งเดิม และ Young Generation ซึ่งจะเป็นแนวทางหนุนเสริมให้บุคลากรของกรมการพัฒนาชุมชนได้มีภาคีเครือข่ายคนรุ่นใหม่เพิ่มมากขึ้น
ขณะที่ ดร. ศรินดา จามรมาน ที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเป็นต้นแบบของเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ ผู้มีความสนใจในงานด้านแฟชั่น เพื่อให้เกิดสิ่งที่ดี ทักษะที่เป็นเลิศ พัฒนาตนเอง ให้เป็นดีไซเนอร์ ให้เป็นผู้ประกอบการ ผู้รักษา และต่อยอดศิลปวัฒนธรรม หัตถศิลป์ หัตถกรรม อันทรงคุณค่าอย่างยั่งยืนสืบไป
เช่นเดียวกับนายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก กล่าวเพิ่มเติมว่า เป็นการอนุรักษ์และต่อยอดมรดกภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรม ไม่ว่าจะเป็น การสร้างแบรนด์ให้กับผลิตภัณฑ์ผ้าและงานหัตถกรรมสู่ตลาดสากล ,การต่อยอดผลิตภัณฑ์ผ้าและงานหัตถกรรมตามเทรนด์แฟชั่นที่ร่วมสมัย
หรือการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาด รวมถึงการผลิตเส้นใยและการย้อมสีธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (BCG) เผ็นต้น เพื่อร่วมกันสืบสาน รักษา และต่อยอดภูมิปัญญาด้านผ้าไทยสู่ชุมชน และยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
อ่านข่าวอื่นๆ:
ยูเนสโกมอบประกาศนียบัตร "สงกรานต์ไทย" - "ตรุษจีน" คาด นทท.เข้าไทย 8 ล้านคน
โพล เผย คนกรุงส่วนใหญ่ มองควรใช้เลขสายรถเมล์เดิม
ดัน "กุ้งมังกร 7 สี" สินค้า GI ภูเก็ต ชูเอกลักษณ์-รสชาติโดดเด่น