กว่าจะเป็น “โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ” หรือ รพ.สต. ในทุกวันนี้ มีชื่อเดิม “ สถานีอนามัย” เพื่อใช้ดูแลรักษาสุขภาพของคนในพื้นที่ เจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ซึ่งไม่ใช่หมอ ให้คำแนะนำดูแลสุขภาพพื้นฐาน
แต่กว่าจะมาเป็นสถานีอนามัย หรือสุขศาลา หรือโอสถศาลา เริ่มขึ้นในสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิดโรคห่าระบาด ทำให้มีการต้องตั้งสุขศาลาเกิดขึ้น กระจายคนออกจากพระนครไป และทำยาแจกจ่ายตามศาลา จึงเป็นที่มาของ อ.ศาลายา จ.นครปฐม ขณะเดียวกันโรคระบาดที่เกิดขึ้น ทำให้มีคนเสียชีวิตจำนวนมาก วัดไม่พอกับการตั้งศพ จึงเกิดที่มาของ แขวงศาลาธรรมสพน์ ใน เขตทวีวัฒนา กทม.
สถานีอนามัยที่พัฒนามาจากสุขศาลา เป็นหน่วยบริการที่ลงไปบริการในระดับตำบล
ในช่วงปี พ.ศ.2439-2445 สมัยรัชกาลที่ 5 เกิดการตั้งโอสถศาลาในหัวเมืองต่าง ๆ ขึ้น ได้แก่ หัวเมืองพิษณุโลก เมืองอุตรดิตถ์ เมืองอุทัยธานี เมืองปราจีนบุรี เพื่อเป็นสถานที่ในการจำหน่ายยาราคาถูกให้แก่ราษฎรตามหัวเมือง แต่ก็ต้องมีอันยกเลิกไป เนื่องจากรัฐบาลขาดทุนมาโดยตลอด
กระทั่งปี พ.ศ.2456 จึงตั้งโอสถศาลาใหม่ขึ้น ในบางจังหวัดเพื่อเป็นสถานที่บำบัดโรคและจำหน่ายยา โดยต่อมาได้พัฒนาเป็น "สุขศาลา" และในเวลาต่อมาก็พัฒนาเป็นสถานีอนามัย เป็นศูนย์การแพทย์และอนามัยชนบท เป็นศูนย์การแพทย์และอนามัย เป็นโรงพยาบาลอำเภอ และโรงพยาบาลชุมชนในปัจจุบัน
ในปี พ.ศ.2475 โอสถศาลาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “สุขศาลา” โดยสุขศาลายังแบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ กล่าวคือ ท้องถิ่นใดมีประชากรหนาแน่นทางราชการจะส่งแพทย์ไปประจำเรียกสุขศาลานั้นว่า “สุขศาลาชั้นหนึ่ง” ส่วนสุขศาลาที่ไม่มีแพทย์ประจำเรียกว่า “สุขศาลาชั้นสอง” อยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงมหาดไทย
เมื่อปี พ.ศ.2485 มีการสถาปนากระทรวงสาธารณสุข ขึ้น “สุขศาลาชั้นหนึ่ง” ที่ตั้งอยู่ตามอำเภอใหญ่ๆ และในบางจังหวัด ไปปรับปรุงขึ้นเป็นโรงพยาบาลประจำอำเภอ โรงพยาบาลประจำจังหวัด
“โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ” หรือ รพ.สต.
สำหรับ “สุขศาลาชั้นสอง” ส่วนใหญ่อยู่กับกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “สถานีอนามัยชั้นสอง” ในปีพ.ศ.2495 และเป็น “สถานีอนามัย” ในปี พ.ศ.2515
กระทั่งถึงปี พ.ศ.2551 หลังจากได้มีการผลักดันให้พัฒนาและยกระดับสถานีอนามัยสู่การเป็น “โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล” ในสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และมีนายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข
สำหรับวัตถุประสงค์ของการยกระดับสถานีอนามัย ให้กลายมาเป็น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลนั้น เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากการรักษา ให้มาเป็นการส่งเสริมสุขภาพประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ
อีกทั้ง โรงพยาบาลส่วนใหญ่จะอยู่ในตัวเมือง ทำให้ประชาชนต้องเดินทางไกล เพื่อไปเข้ารับการรักษา โดยเฉพาะในกรณีที่เจ็บป่วยเพียงเล็กน้อย ก็ต้องพากันเดินทางไกล เพื่อไปรักษา ในขณะที่สถานีอนามัยที่ให้บริการในระดับฐานรากมีอยู่ครอบคลุมทุกตำบล บางตำบลมีมากกว่า 1 แห่ง ทั้งประเทศรวมกว่า 10, 000 แห่ง หากพัฒนาสถานีอนามัยเหล่านี้ให้มีคุณภาพ ก็จะช่วยลดภาระของประชาชนได้มาก
รูปภาพจาก : เฟซบุ๊กหอจดหมายเหตุสาธารณสุขแห่งชาติ